“ทรีนีตี้” เผยครึ่งแรกเดือนก.ย. หุ้นแนวต้าน 1600 จุดแนวรับ 1520 จุด

01 ก.ย. 2566 | 06:00 น.

“ทรีนีตี้” แนะลงทุนในตลาดห้นหากต้องการเข้าลงทุนจริง เลือกกลุ่ม Laggard ทั้งที่อิงกับนโยบายกระตุ้นการบริโภค PLANB, VGI, BEC, ONEE และ หุ้กลุ่มที่อิงกับปริมาณการค้าขายในระดับโลก

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์  บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยถึงทิศทางการลงทุนเดือนกันยายน 2566 ว่า ในช่วงแรกดัชนีหุ้นทั่วโลกจะยังแกว่งตัวอยู่ในเกณฑ์ที่ดีได้ รับความคาดหวังที่ Fed น่าจะมีมติคงดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 19-20 ก.ย.นี้ ก่อนที่อาจต้องใช้ความระมัดระวังหลังจากนั้นจาก Dot plots และโทนของ Fed ที่อาจออกมา Hawkish กว่าที่ตลาดคาดการณ์ ดังนั้น ประเมินครึ่งเดือนแรกมีแนวโน้มที่ดัชนีจะปรับตัวดีกว่าครึ่งเดือนหลัง ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของ SET จะมีแนวต้านอยู่ที่ระดับจิตวิทยา 1600 จุด โดยมีกรอบแนวรับอยู่ที่บริเวณ 1500-1520 จุด

ในเชิงกลยุทธ์ แนะนักลงทุนหาจังหวะทยอย Lock profit ในช่วงครึ่งเดือนแรกในกลุ่มหุ้นที่แนะนำ Selective มาก่อนหน้านี้ ซึ่งประเมินว่าจะยังเป็นช่วงที่สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกถูประคับประคองได้อยู่ ส่วนในช่วงครึ่งเดือนหลัง แนะเข้าสู่โหมด Wait & See เพื่อป้องกันความผิดหวังที่อาจเกิดขึ้นจากการประชุม FOMC  

อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ที่ต้องการเข้าลงทุนใหม่จริงๆ ณ เวลานี้ที่ Valuation ของตลาดอยู่ในโซนเปราะบางแล้ว แนะนำโฟกัสไปยัง Sector ที่ราคาและ Valuation กองอยู่ในโซนล่าง โดยหากแบ่งออกเป็นประเภทจะได้แก่ 1) กลุ่ม Domestic สำหรับนักลงทุนที่ต้องการเก็งกำไรไปตามปัจจัยนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งน่าจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคไม่มากก็น้อย ได้แก่ กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ (MEDIA) มองหุ้นที่น่าสนใจ ได้แก่ PLANB, VGI, BEC, ONEE และ 2.กลุ่มที่อิงกับปริมาณการค้าขายในระดับโลก ซึ่งคาดว่าจะเห็นปัญหาการ Destocking  ที่ลดลง และ ล่าสุดเริ่มเห็นการยืนทรงตัวได้ของตัวเลข PMI ภาคการผลิต นอกจากนั้น ยังเตรียมได้อานิสงส์หากรัฐบาลประกาศใช้นโยบายลดราคาพลังงานจริง มองไปยังกลุ่ม Logistics ที่ Earnings อยู่ในช่วง High season อาทิ III, LEO, SJWD, WICE

นายณัฐชาต เมฆมาสิน

สำหรับปัจจัยที่น่าสนใจอื่นนอกเหนือจากการประชุม Fed ในเดือนกันยายนนี้ได้แก่ 1.ปัจจัยเฝ้าระวังเกี่ยวกับ แรงขายของนักลงทุนสถาบันภายในประเทศ ซึ่งมักเกิดขึ้นเป็นปกติในเดือนกันยายนของทุกปี โดยอาจเป็นการเตรียมเงินสดเพื่อรองรับการไถ่ถอนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่างๆ 2. การประชุมธนาคารกลางยุโรปในวันที่ 14 ก.ย. โดยจะต้องติดตามคาดการณ์ GDP และเงินเฟ้อรอบใหม่ที่จะออกมาในครั้งนี้ด้วย 3.การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่นในวันที่ 21-22 ก.ย. โดยต้องติดตามดูว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงมาตรการ Yield Curve Control หรือไม่ 4.ความเป็นไปได้ในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของจีน 5. ความเป็นไปได้ในการขยายเวลาลดกำลังการผลิตน้ำมันของซาอุฯและรัสเซีย 6.การประชุมกนง.ของไทยในวันที่ 27 ก.ย. ซึ่งมีลุ้นว่ากนง.อาจจะยุติการขึ้นดอกเบี้ยของวงจรนี้ไว้เพียงแค่นี้ แต่หากกนง.ยังคงเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อไปสู่ระดับ 2.50% ประเมินจะเป็นปัจจัยลบต่อภาพเศรษฐกิจและตลาดทุนไทยที่สำคัญ และ 7. พัฒนาการของรัฐบาลไทยชุดใหม่ โดยเฉพาะแนวนโยบายเศรษฐกิจ และแผนการอนุมัติงบประมาณในช่วงถัดไป,