“การเมืองไม่ลงตัว” กดดัชนีตลาดหุ้นไทย "ดิ่งหนักที่สุด"ในเอเชีย

24 พ.ค. 2566 | 04:00 น.

แม้นักลงทุน มองว่า ตลาดหุ้นไทยเป็น “ดาวเด่น” ในภูมิภาคนี้ แต่หลังเลือกตั้ง ที่ "พรรคก้าวไกล" ได้รับเสียงข้างมาก พบว่า ดัชนี  SET ของไทยร่วงลง 9.22% ในปีนี้ "ชะลอตัวมากที่สุดในเอเชีย" ความไม่แน่นอนในการจับขั้วการเมือง ยิ่งยืดเยื้อยิ่งส่อกระทบตลาดทุนหนักกว่าเดิม

หลังผลการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ "พรรคก้าวไกล" ได้รับคะแนนเสียงข้างมาก ปรากฏว่าตลาดหุ้นไทยร่วงระนาวต่อเนื่องเป็นเวลาเกือบ 2 สัปดาห์แล้ว โดยพบว่า "ดัชนี  SET ของไทย ลดลง 9.22%" ในปีนี้ ถือเป็นการ "ชะลอตัวมากที่สุดในเอเชียแปซิฟิก" ทั้งนี้ เปรียบเทียบกับ มาเลเซียลดลงประมาณ 4.5% และอินโดนีเซียลดลง 2.2% ในช่วงเวลาเดียวกัน (ข้อมูลจาก  FactSet) 

สัปดาห์ที่แล้วตลอดทั้งสัปดาห์ ดัชนี  SET ของไทยร่วงลง 3% และน่าจะยังคงมีแนวโน้มลดลง ท่ามกลางความกังวลและความไม่แน่นอนทางการคลัง หลังการเลือกตั้งทั่วไป ยิ่งเวลานี้ "การฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาลที่ยังไม่ลงตัว" สิ่งเหล่านี้ยิ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน 

บล.โกลเบล็ก จับตานักลงทุนแห่ซื้อหุ้นไทยคืนในเช้าวันจันทร์ (22 พ.ค.) ที่พรรคก้าวไกล และพรรคร่วมรัฐบาลเตรียมประกาศ MOU ที่เป็นข้อตกลงร่วมกัน โดย "ไร้นโยบายสุ่มเสี่ยง" แม้ปิดตลาดพบว่า ดัชนีหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น 14.35 จุด ดีดกลับมาแดนบวก แต่หลังจากวันจันทร์ ภาพรวมตลาดก็ยังไม่สดใสมากนัก 

ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ KGI ให้ความเห็นว่า  มีแนวโน้มที่ "กระแสทุนไหลออก" ของต่างชาติ จะยังคงดำเนินต่อไปถึงต้นเดือน มิ.ย.นี้ เพราะมีปัจจัยภายนอก ทั้งจากความไม่แน่นอนด้านนโยบายดอกเบี้ย ของการประชุมเฟดที่กำลังจะมีขึ้น  และการเจรจาเรื่องเพดานหนี้ของสหรัฐที่อาจต้องใช้เวลานานขึ้น หลังเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ทั้งสองฝ่ายในสภาคองเกรสยังตกลงกันไม่ได้ 

 

จัดตั้งรัฐบาล ยิ่งช้า ยิ่งเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย

Fitch Ratings ตั้งข้อสังเกตว่า "อาจมีรัฐบาลผสม ที่เกิดจากการรวมตัวของหลายๆพรรคเกิดขึ้น"  และนั่นจะ "ทำให้การกำหนดนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพ มีความยากและซับซ้อนมากขึ้น" 

นอกจากนี้อาจเกิดปัญหาด้าน “นโยบายการคลัง” เพราะหากการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลยืดเยื้อ จะทำให้การใช้จ่ายภายใต้งบประมาณที่จะสิ้นสุดในเดือนกันยายน ปีหน้า ต้องหยุดชะงัก" 

ความล่าช้าของงบประมาณปีงบประมาณ 2567 จะเป็นปัจจัยลบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศ แต่ Fitch Ratings คาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะเร่งตัวขึ้นในปีนี้  และยังคงแข็งแกร่งในปี 2567  หลังภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัว และการบริโภคภาคเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก

อย่างไรก็ตาม สันนิษฐานว่ารัฐบาลผสมชุดต่อไป  จะยังคงดำเนินการตามนโยบายสำคัญบางประการของฝ่ายบริหารชุดเดิม ที่เคยไว้ทำมาก่อน 

อุปสรรคทางการเมืองยังคงเป็นตัวเปลี่ยนเกม

"เคลวิน เทย์" จาก UBS Global Wealth Management กล่าวว่า หลังการเลือกตั้งทั่วไป เขายังเชื่อว่า “แนวโน้มหุ้นไทยยังสดใส” เพราะไทยยังมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว 

โดยประเทศไทยเป็น “ผู้ได้ประโยชน์สูงสุด” จากการกลับมา "เปิดประเทศของจีน" และคาดว่าจะกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศได้เป็นอย่างดี  แม้ว่าจำนวนการเดินทางออกนอกประเทศของชาวจีนยัง “ค่อนข้างน้อย เพราะต้องรอให้ตัวเลขการจ้างงานของจีนเพิ่มขึ้นก่อน 

เขากล่าวเสริมว่า ไทยควรต้องลงทุนใน "โครงสร้างพื้นฐาน" ให้เร็วขึ้น เวลานี้ ไทยมีแผนจะสร้างโครงการขนาดใหญ่บนชายฝั่งทะเลตะวันออก ผ่านท่าเรือและสนามบินใหม่ๆ แต่ “โครงการนั้น “ยังไม่เกิดขึ้นจริง ณ จุดนี้” 

 ส่วนความท้าทายด้านแรงงาน ประเทศไทยยังต้องมองหาแรงงานเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ  หลังอัตราการเกิดต่ำ และจำนวนประชากรสูงขึ้น ไทยเป็น 1 ในประเทศ ที่สภาวะประชากรอยู่ในขั้น “เลวร้ายที่สุดในโลก” เพราะอัตราการเกิดลดลง และจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้นทุกปี แต่แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาและลาว เข้ามาในทดแทนในตลาดแรงงานได้  

ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าเราจะมีแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจออกมามากน้อยแค่ไหน ของเดิมที่เคยทำไว้จะออกดอกออกผลหรือไม่ แต่หัวใจสำคัญในการเรียกความเชื่อมั่นให้นักลงทุน คงหนีไม่พ้น "ความมีเสถียรภาพทางการเมือง" เพราะ “อุปสรรคทางการเมือง” ของไทยเวลานี้  กำลังเป็นก้างชิ้นใหญ่ และเป็นตัวเปลี่ยนเกมที่มีผลทำให้ตลาดทุนไทยยังชะลอตัวต่อไป