DBSV ชี้เงินสะพัดเลือกตั้ง-ท่องเที่ยวฟื้นดันหุ้นไทยดีดตัวระยะสั้น

24 เม.ย. 2566 | 04:24 น.

DBSV มองตลาดหุ้นไทยได้ปัจจัยบวกจากเงินสะพัดช่วง เลือกตั้ง 66 ถึง 1.2 แสนล้าน ท่องเที่ยวฟื้น ดันดัชนีปรับตัวขึ้นระยะสั้น เศรษฐกิจเอเชียฟื้นตัว แนะเพิ่มน้ำหนักตลาดหุ้นเอเชีย

นางสาวอาภาภรณ์ แสวงพรรค ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอสวิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด DBSV กล่าวในงานสัมมนา "เจาะตลาดหุ้นไทย & เทศ กับเซียนหุ้น & นักวิเคราะห์ชั้นนำ" ว่า ภาพรวม "ตลาดหุ้นไทย" ยังมีความผันผวน

โดยระยะสั้นมีปัจจัยหนุนจาก เงินสะพัดจากการหาเสียง "เลือกตั้ง" ราว 1-1.2 แสนล้านบาท ประกอบกับภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และยังได้ปัจจัยบวกจากแนวคิดตลาดหลักทรัพย์ที่จะเสนอกระทรวงการคลัง ปัดฝุ่นนำกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund หรือ LTF ) กลับมาใช้ เพื่อให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี กระตุ้นให้เกิดการลงทุน

อย่างไรก็ตาม ระยะกลาง และระยะยาว ตลาดหุ้นไทยยังเปราะบาง มีหลายปัจจัยลบรุมเร้าที่คอยกดดัน ปัจจัยภายนอก เช่น ปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐ และยุโรป ที่ทำให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนเข้าถึงสินเชื่อได้ยากขึ้น และปัญหาเงินเฟ้อ

ถ้าลดลงช้าก็อาจทำให้ดอกเบี้ยทรงตัวในระดับสูงนานกว่าคาด เศรษฐกิจสหรัฐ และยุโรปชะลอตัว และอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยในระยะต่อไป ทั้งนี้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐปี 2023 จากเดิม 0.5% เป็น 0.4% และ ปี 2024  เดิม 1.6% เหลือ 1.2%

ทั้งนี้ความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลกจะกระทบต่อภาคการส่งออก และภาคท่องเที่ยวของไทยตามไปด้วย นอกจากนั้นยังมีความเสี่ยงจากปัญหาประเทศฐานะการคลังที่อ่อนแอ มีหนี้สินอยู่ในระดับสูง ต้องเผชิญภาระดอกเบี้ยจ่ายมากในช่วงดอกเบี้ยแพง รวมทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ยืดเยื้อ และโรคระบาด

ขณะเดียวกัน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยแบบ K-Curve และเศรษฐกิจโลกชะลอตัว อาจส่งผลต่อความเสี่ยง NPL และตั้งสำรอง ECL สูงในระบบสถาบันการเงิน รวมถึงต้องติดตามการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งว่าจะใช้เวลามากกว่าคาดหรือไม่

หากใช้เวลานานก็จะทำให้เกิดสูญญากาศทางการเมือง การลงทุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนจะล่าช้าออกไป

นอกจากนี้ การขึ้น-ลงของหุ้น DELTA ก็มีผลต่อทิศทางการเคลื่อนไหวของดัชนี ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยผันผวน

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้ เน้นเก็งกำไรระยะสั้นไปก่อน ส่วนการซื้อลงทุนระยะกลาง-ยาว แนะนำให้รอสะสมหุ้นพื้นฐานดีจังหวะราคาหุ้นอ่อนตัว

ด้านนายธนวัฒน์ ปัจฉิมกุลผู้อำนวยการบริหารฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนต่างประเทศ บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด (DBSV) กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจยังไม่ชัดเจน แต่ราคาตราสารหนี้และหุ้นอยู่ในระดับต่ำแล้ว ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่จะโยกเงินเข้ามาลงทุน

พร้อมแนะนำให้ลดน้ำหนักหุ้นสหรัฐลงเหลือ 50% จาก 56%, เพิ่มยุโรปเป็น 14% (จาก 8%), ลดญี่ปุ่นเหลือ 10% (จาก 12%), เพิ่ม Asia ex-Japan เป็น 26% จาก 24%

ส่วนธีม เด่น ยกหุ้นในกลุ่ม Cybersecurity ซึ่งถือเป็น ธีมลงทุนระยะยาว ที่มีแนวโน้มเติบโตสูง ในยุคที่เศรษฐกิจเข้าสู่การเป็นดิจิทัล ทำให้บริษัทต่างๆเพิ่มการใช้จ่ายด้าน Cybersecurity เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการโจมตีทางไซเบอร์

โดยการสำรวจล่าสุดพบว่า ประมาณ 70% ของบริษัท มีแผนเพิ่มค่าใช้จ่ายด้าน Cybersecurity เทียบกับ 55% ในปีก่อนหน้า

ทั้งนี้แนะนำบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ เนื่องจากบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ได้เปรียบจากฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง นำเทคโนโลยีด้าน Cybersecurity มาต่อยอด ขายให้กับฐานลูกค้าทั่วโลกโดยตลาดเอเชีย แปซิฟิค เป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพเติบโตสูง เพราะมีการใช้ข้อมูลและระบบออนไลน์สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก 

ส่วนปัจจัยความเสี่ยงที่ต้องระวังคือความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน, การเปลี่ยนแปลงนโยบายรัฐบาล, การเมืองระหว่างประเทศ, เทคโนโลยี, สภาวะเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม 

7  ธีมเล่นหุ้นสั้น และ ลงทุนยาว ที่น่าสนใจ ประกอบด้วย

  1. ธีมหุ้นได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยใกล้จะถึงจุดสูงสุด (Peak)
  2. ธีมราคาก๊าซ & ราคาถ่านหินร่วงแรง โดย หุ้นที่คาดว่าจะได้ประโยชน์ คือ กลุ่มโรงไฟฟ้า, วัสดุก่อสร้าง บรรจุภัณฑ์
  3. ธีมท่องเที่ยวฟื้นตัว
  4. ธีมเงินสะพัดจากการหาเสียงเลือกตั้ง
  5. ธีมหุ้นที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศแปรปรวน (Climate Change)
  6. ธีมสังคมสูงวัย (Aging Society
  7. ธีมความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security)

ด้านนายสมบัติ เอกวรรณพัฒนา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า การเลือกตั้งของไทยในปี 2023 จะกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ ประมาณ 1.0-1.2 แสนล้านบาท ใน 2Q23 หรือคิดเป็น 0.5%-0.7% เมื่อเทียบกับ GDP จากการประเมินของ ม.หอการค้าไทย (UTCC)  

หุ้นที่ได้รับปัจจัยบวกจากการเลือกตั้ง 66

AOT ได้ประโยชน์จากนโยบายรัฐบาลใหม่เกี่ยวกับภาคท่องเที่ยว แนวโน้มกำไรฟื้นตัวสูง จากการยกเลิกให้ส่วนลดคู่ค้า มาร์จินสูงขึ้น รายได้จากสัมปทานเพิ่มมากขึ้น

CPN คาดกำไรสุทธิปี 23F โต +20% จากการท่องเที่ยวฟื้นตัว การให้ส่วนลดค่าเช่ากับร้านค้าน้อยลง มีการเปิดมอลล์ต่อเนื่อง

AMATA จะได้ประโยชน์จากการส่งเสริมการลงทุนจากรัฐบาลชุดใหม่ คาดยอดขายนิคมปี 23F /24F เพิ่มขึ้น มียอด Backlog 6.7 พันล้านบาท คาดการณ์กำไรสุทธิปี 23F-24F เติบโต 56% และ 30%

SIRI คาดปี 23F ทำสถิติกำไรสูงสุด จากการเปิดขายโครงการใหม่ มูลค่ารวม 7.5 หมื่นล้านบาท และจะบันทึกกำไรขาย รร.นานาชาติ 480 ลบ.ในปีนี้  

SC ประมาณการปี 23F เพิ่ม 7%และ 24F เพิ่ม 5% กำไรโต y-o-y สูงขึ้น จากรายได้ขายคอนโด การให้เช่า และกำไรจากบริษัทร่วม ปีนี้และปีหน้าจ่ายปันผลสูง ยิลด์ 6.2%

ADVANC การบริโภคฟื้นตัว การขยายคลื่นความถี่ต่อเนื่อง ตั้งเป้าเข้าซื้อ JASIF และ TTTB สำเร็จใน 2Q23 ธุรกิจปี 2023F กระเตื้องจากการยกเลิกแพ็คเกจราคาถูก จ่ายปันผลดี 3.9-4% ต่อปี

CPALL ได้ปัจจัยผลบวกจากการเลือกตั้ง มีเม็ดเงินหมุนเวียนสูง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อไทย ชะลอตัว รูปแบบธุรกิจบริษัทมีหลากหลาย ทั้งร้านสะดวกซื้อ 7-11 ค้าส่งแมคโคร และ ค้าปลีกเทสโก้โลตัส แนวโน้มผลกำไรใน 1Q23F เติบโตขึ้นเทียบกับปีต่อปี

BDMS คาดกำไรสุทธิทั้งปี 2023F-2024F เติบโตเฉลี่ย 9% ต่อปี ได้ปัจจัยหนุนที่คนไข้ต่างชาติเพิ่มจาก CLMV และ จีน ฐานคนไข้ประกันสังคมมีโอกาสเพิ่มขึ้น

STEC รายได้และมาร์จิ้นดีขึ้นเทียบ YoY  มีงานในมือ สูง 1.1 แสนล้านบาท ทำให้การรับรู้รายได้มั่นคงไปใน 3 ปีข้างหน้า คาดกำไรสุทธิปี 2023F/24F จะเติบโต

SAWAD เมื่อมีการเลือกตั้ง ธุรกิจเช่าซื้อคึกคัก ปี 2023F ธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์เป็น key growth driver ตั้งเป้าสินเชื่อเติบโต 25-30% ในปี 2023F ส่วนรายได้ Fee เติบโต 30% คาดกำไรสุทธิปี 2023F เติบโต 25%

ด้านนายพงศ์ภัทร สิริพิพัฒน์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส กล่าวว่า SET50 การปรับตัวขึ้นยังไม่พ้น 970-980 จุด พักฐานลงมา มีแนวรับหลักที่ 940-930 จุด ต้องไม่หลุดต่ำกว่าจึงจะพักฐานสั้น หากหลุดต่ำกว่าจะเปลี่ยนทิศทางเป็นลงระวังการทดสอบ 900 จุด หรือต่ำกว่าได้

โดยให้ดูที่บริเวณแนวรับเป็นหลัก หากไม่ลงหลุดต่ำกว่าจะเป็นการสร้างฐานทดสอบแนวต้านอีกครั้ง ผ่านได้จะมีแนวต้าน 1000/1020 จุด ตอนนี้แกว่งตัวรอการเบรก

ขณะที่ทองคำ เป็นการแกว่งตัวขึ้นทดสอบจุดสุดเดิมที่ 2050-2070 ระยะสั้นหากจะเป็นการแกว่งตัวขึ้นต้องไม่หลุดต่ำกว่า 1975/1950 จะเป็นการพักฐานไม่นานเพื่อรอทดสอบอีกครั้ง ส่วนการลงหลุดต่ำกว่าระวังเป็นการแกว่งตัวลง

ส่วนค่าเงินบาท ทิศทางระยะสั้นเป็นการอ่อนค่าเพื่อทดสอบแนวต้าน 35/35.5 หากยังไม่หลุดต่ำกว่า 34 ยังไม่เปลี่ยนทิศทาง

นายสมนึก จันทร์รัสมี ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์มุมมองทางเทคนิค บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส กล่าวว่า ภาพระยะกลาง สถานะของ SET Index ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในทิศทางขาลง จนกว่าจะยืนเหนือระดับ 1750 จุด ดังนั้นการปรับขึ้นใดๆ ของ SET Index ที่อยู่ใต้ตัวเลขนี้ จึงมีสถานะเป็นแค่การ “รีบาวด์ทางเทคนิค”เท่านั้น

ระยะสั้น SET Index จะสูญเสียภาพของการรีบาวด์ฯไป จากการที่เคลื่อนตัวที่ต่ำกว่า 1600 จุด ซึ่งหากยังไม่สามารถกลับมายืนเหนือระดับดังกล่าว ก็จำเป็นอย่างยิ่งว่าตลาดฯจะลงมาสร้างฐานในตำแหน่ง 1500 จุดลงมา