"โอเปก"หั่นกำลังผลิต จุดชนวนเงินเฟ้อ-ศก.ถดถอย-ดอกเบี้ยขาขึ้น

04 เม.ย. 2566 | 00:45 น.

บล.ทรีนีตี้ มองผลกระทบกลุ่มโอเปกพลัส ลดกำลังการผลิตน้ำมันขนานใหญ่ จุดชนวนขาขึ้นรอบใหม่ของเงินเฟ้อทั่วโลก เพิ่มความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย ทำดอกเบี้ยอยู่ในโหมดสูงระยะยาว

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์(บล.)ทรีนีตี้ จำกัด ประเมินตลาดหุ้นไทยเดือนเมษายน 2566 ว่า มีความเสี่ยงมากขึ้น จากตอนแรกที่เคยมองไว้ว่าหนทางค่อนข้างสะดวก เพราะมีทั้งปัจจัยผลักดันเม็ดเงิน Fund flow และปัจจัยดึงดูดในส่วนของธีมการเลือกตั้งบ้านเรา แต่จากการประกาศลดกำลังการผลิตน้ำมันขนานใหญ่ของกลุ่ม OPEC+ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มองว่าหากเกิดขึ้นจริง ปัจจัยนี้อาจเป็นจุดพลิกเกมส์ที่สำคัญของการลงทุนทั่วโลกในช่วงถัดไป และจะทำให้สมมุติฐานการลงทุนเดิมหลายๆ อย่างจะต้องมีการปรับเปลี่ยนด้วยเช่นกัน 


ทั้งนี้บล.ทรีนีตี้ ประเมินกรอบแนวต้านแรกของ SET เดือนนี้ที่ 1,640 จุด ส่วนกรอบแนวต้านสำคัญที่ไม่น่าทะลุ ได้แก่ ระดับสูงสุดเดิมของปีที่ 1,690 จุด เนื่องจากเป็นระดับที่ตึงตัวในแง่ของ Valuation แล้ว ในทางกลับกัน ให้กรอบแนวรับแรกไว้ที่ 1,580-1,600 จุด แต่อาจต้องแบ่งไม้ในการเข้าซื้อ เผื่อดัชนีมีการ Price in ปัจจัยเสี่ยงใหม่ที่เกิดขึ้น โดยมองกรอบแนวรับสำคัญเดือนนี้ที่บริเวณ 1,550-1,560 จุด
 

สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตาม จับตาการตอบรับเชิงบวกในระยะสั้นของราคาน้ำมันดิบ หลังซาอุฯ และประเทศสมาชิกในกลุ่ม OPEC+ ประกาศหั่นกำลังการผลิตน้ำมันรวมกันราว 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยเป็นสัดส่วนของซาอุฯ เอง 5 แสนบาร์เรลต่อวัน และจะเริ่มต้นตั้งแต่เดือนพ.ค.นี้ไปจนถึงสิ้นปี ซึ่งเมื่อมารวมกับการลดกำลังการผลิตเดิมของรัสเซียที่ระดับ 5 แสนบาร์เรลต่อวันที่มีการต่ออายุเพิ่มเติมออกไปอีกจนกระทั่งถึงสิ้นปีนี้ จะทำให้กำลังการผลิตที่หายไปทั้งสิ้นรวมเป็น 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน หากเกิดขึ้นจริงจะถือว่าเป็นระดับที่มีนัยสำคัญมากต่อสมดุล Demand-Supply 

"ประเด็นดังกล่าวอาจเป็นชนวนขาขึ้นรอบใหม่ของแรงกดดันเงินเฟ้อทั่วโลก หากกลับมายืดยาวอีกครั้งอาจทําให้วงจรขาขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้จะไม่สิ้นสุดลงโดยง่าย" นายณัฐชาต กล่าว

พร้อมได้สรุป 11 ผลกระทบสำคัญ จากการประกาศปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC+ ล่าสุดไว้ดังต่อไปนี้ 

  • 1.เป็น Sentiment เชิงบวกระยะสั้นต่อกลุ่ม Commodity เช่นกลุ่ม E&P และ Refinery 
  • 2.กลุ่ม Anti-commodity พลิกกลับมามีความเสี่ยงขึ้นมาทันที แนะหลีกเลี่ยงการลงทุนในระยะสั้น เช่น กลุ่ม Utilities
  • 3.เพิ่มความเสี่ยงของแรงกดดันเงินเฟ้อทั่วโลกและเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งจะนำมาสู่ความเสี่ยง Stagflation ที่มากขึ้น 
  • 4.เพิ่มความเสี่ยงทางด้านดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในโหมด Higher for Longer 
  • 5.เพิ่มความเสี่ยงต่อปรากฏการณ์ PE contraction 

 

  • 6.เพิ่มความเสี่ยงต่อการลงทุนในพันธบัตร จากการที่ Yield มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง
  • 7.ลดความน่าสนใจของตลาดหุ้นลง ผ่านมาตรวัด Earning yield gap ที่ปรับลดลง 
  • 8.เพิ่มความเสี่ยงต่อหุ้นกลุ่ม Growth และ Technology 
  • 9.เพิ่มความเสี่ยงต่อต้นทุนการนำเข้าสินค้าน้ำมันดิบของไทย 
  • 10.เพิ่มความเสี่ยงต่อการขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดมากขึ้น 
  • 11.เพิ่มความเสี่ยงด้านอ่อนค่าของเงินบาท

 

ตลาดเก็งเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เดือนพ.ค. 


ตลาดคาดว่า การปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดังกล่าวจะทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 61.2% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 2-3 พ.ค. และให้น้ำหนักเพียง 38.8% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.75-5.00%

จากก่อนหน้านี้ นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดจะประกาศคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพ.ค. หลังการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ต่ำกว่าคาดการณ์ ซึ่งบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อได้ผ่านจุดสูงสุด และจะเป็นปัจจัยชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด
          
ทั้งนี้ซาอุดีอาระเบียประกาศปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 500,000 บาร์เรล/วัน โดยมีผลตั้งแต่เดือนพ.ค. ขณะที่รัสเซียปรับลดกำลังการผลิต 500,000 บาร์เรล/วัน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (144,000 บาร์เรล/วัน) อิรัก (211,000 บาร์เรล/วัน) คูเวต (128,000 บาร์เรล/วัน) คาซัคสถาน (78,000 บาร์เรล/วัน) แอลจีเรีย (48,000 บาร์เรล/วัน) โอมาน (40,000 บาร์เรล/วัน) และกาบอง (8,000 บาร์เรล/วัน)