เศรษฐกิจไทยแกร่ง เลือกตั้งหนุนหุ้นพุ่ง สิ้นปีดัชนีแตะ1,700 จุด

02 เม.ย. 2566 | 12:51 น.

เศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง คาดครึ่งปีหลังโตต่อเนื่องแถมได้เลือกตั้งหนุน คาดสิ้นปี 66 ดัชนีหุ้นไทยดีดตัวแตะ 1,700 จุด แต่ส่วนต่างดอกเบี้ยไทย-สหรัฐฯ ดึงเงินไหลออกจากตลาดหุ้น 3 เดือนแรกปี 66 ต่างชาติขายหุ้น 5.5 หมื่นล้าน

ตลาดหุ้นทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ในการเดินหน้sาขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อสกัดเงินเฟ้อ จนนำมาซึ่งการล่มสลายของธนาคารพาณิชย์ 3 แห่งในสหรัฐฯและยังลามมายังฝั่งยุโรปอีกด้วย ส่งผลให้การประชุมล่าสุดของเฟดต้องชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยเหลือเพียง 0.25%

ขณะเดียวกันเฟดยังส่งสัญญาณใกล้ยุติวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากที่เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 9 นับตั้งแต่ที่เฟดเริ่มวัฏจักรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม 2565 ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นสู่ระดับ 4.75-5.00% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2550

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ในฐานะนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยปี 2566 หลังผ่านสถานการณ์ที่เป็นปัจจัยลบในช่วงไตรมาสแรกแล้วคาดว่า เมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 ไปจนถึงสิ้นปี ภาวะตลาดหุ้นไทยจากปรับตัวดีขึ้น

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน

เนื่องจากสถานการณ์และวิกฤตต่างๆ นอกประเทศเริ่มคลี่คลายและเบาบางลง รวมทั้งในไตรมาส 2 จะได้รับแรงสนับสนุนจากในประเทศที่จะมีการจัดการเลือกตั้ง  ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา ก่อนช่วงการเลือกตั้งช่วง 2-3 เดือน ดัชนีในตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวขึ้นในทุกครั้ง ประกอบกับในช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจไทยจะเติบโตโดยได้รับแรงหนุน จากภาคการท่องเที่ยวรวมทั้งการใช้จ่ายจากรัฐบาลใหม่ ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ดีกว่าเศรษฐกิจนอกประเทศ

ส่วนปัจจัยลบที่ต้องติดตามยังคงมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ต้องจับตาว่าจะเข้าสู่ภาวะทดถอยหรือไม่ หลังการดำเนินนโยบายของเฟด ได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายรวมถึงยังมีแนวโน้มปรับขึ้นอีกในระยะข้างหน้ารวมทั้งปัจจัยจากภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงมีความเสี่ยง ทั้งในประเด็นของ จีน รัสเซีย และยูเครน

ขณะที่ปัจจัยลบในประเทศ คงต้องติดตามว่า หลังการเลือกตั้งรัฐบาลที่จัดตั้งจะมีเสถียรภาพมากน้อยเพียงใด ซึ่งจากปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น เชื่อว่า ณ สิ้นปี 2566 ดัชนีในตลาดหลักทรัพย์ไทย จะดีดตัวกลับไปที่ระดับ 1,700 จุด

ด้านนายนริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี หรือ ttb analytics กล่าวว่า ปฎิเสธไม่ได้ว่า ส่วนต่างดอกเบี้ยนโยบายระหว่างไทยและสหรัฐที่ห่างกันทำให้เงินไหลออกบ้าง โดยเฉพาะอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐ (บอนด์ยีลด์) อายุ 2 ปีอยู่ที่ 3.9% อายุ 5ปี เท่ากับ 3.5% อายุ 10ปี เท่ากับ 3.46% ขณะที่บอนด์ยีลด์พันธบัตรรัฐบาลของไทยอายุ 2 ปีอยู่ที่ 1.75% อายุ  5 ปี 1.96% และอายุ 10 ปี 2.38%

นายนริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี

สำหรับไตรมาสแรก(ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-22 มีนาคม 2566)พบว่า นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้น 55,000 หมื่นล้านบาท ขณะที่ตลาดพันธบัตรยังมีเงินทุนไหลเข้าสุทธิ 12,700 ล้านบาท โดยกลางเดือนมีนาคมเป็นต้นมา จะเห็นเงินไหลเข้าและไหลออกสลับกัน ส่วนหนึ่งมาจากตลาดคาดการณ์ว่า เงินบาทจะกลับมาแข็งค่าเมื่อเทียบกับก่อนหน้าจึงมีเงินไหลเข้าตลาดพันธบัตร เพื่อเก็งกำไรค่าเงินระยะสั้น

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า ช่วงที่ตลาดตกใจกับเหตุการณ์สถาบันการเงินในสหรัฐและยุโรป บางวันมีเงินไหลออกภายในวันเดียวถึง 6,000 ล้านบาท โดยเป็นการขายพันธบัตรที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี แต่พอตลาดคลายความตกใจ จะเห็นเงินไหลเข้าตลาดพันธบัตรประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อวัน ส่วนตลาดหุ้นเป็นการขายออกต่อเนื่อง

“เชื่อว่านักลงทุนต่างชาติที่ขายหุ้นออกไปจากตลาดหุ้นไทยเป็นการโยกเงินไปถือดอลลาร์ เพราะทั้งอัตราดอกเบี้ยสหรัฐและบอนด์ยีลด์สหรัฐยังเป็นที่พักเงินได้ แต่แนวโน้มข้างหน้าขึ้นอยู่กับทิศทางค่าเงินบาท โดยนักลงทุนต่างชาติ มองไทยเป็นหลุมหลบภัย (Safe Haven) จากแรงหนุนภาคท่องเที่ยวและดุลบัญชีเดินสะพัดน่าจะเป็นบวก” นายนริศ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนในตลาดเงินที่ยังคงอยู่ ส่วนหนึ่งมาจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ธนาคารขนาดเล็กในสหรัฐยังไม่จบยังมีความเปราะบางเป็นคลื่นแทรก ขณะเดียวกันตลาดยังจับดุลบริการและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยด้วย

นายนริศกล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ทำให้ดอกเบี้ยเฟดขยับจาก 4.75% แนวโน้มส่วนต่างดอกเบี้ยไทยและสหรัฐจะถ่างกันไม่มาก เพราะคาดว่า ไทยจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้ง ประมาณมีนาคมและปลายเดือนพฤษภาคม ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายไทยอยู่ที่ 2.0% กลางปีนี้ ส่วนเฟดจะขึ้นอีกครั้งต้นเดือนพฤษภาคมและคงจะจบที่ 5.25% ต่อปี

ส่วนทิศทางเงินเฟ้อและดอกเบี้ยไทยนั้น เนื่องจากปีนี้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงตามราคาพลังงาน ทำให้เงินเฟ้อไม่ได้เป็นปัจจัยกดดันต่อการดำเนินนโยบายการเงินของไทย

สอดคล้องกับศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึง 22 มีนาคมพบว่า มีเงินไหลเข้าสุทธิตลาดตราสารหนี้ไทย 12,591 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้วมีเงินไหลเข้า 41,697ล้านบาท โดยตลาดพันธบัตรเดือนมกราคม มีเงินไหลเข้าสุทธิ 24,977 ล้านบาท แต่เดือนกุมภาพันธ์ เงินไหลออก 64,581 ล้านบาท

“ภาพรวมปีนี้ที่ ต่างชาติมีสถานะเป็น Net Outflows 27,013 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดจากช่วงเดือนกุมภาพันธ์ คือ พันธบัตรครบกำหนด และจังหวะขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ  เพราะเป็นช่วงที่่ตลาดกังวลว่า เฟดจะกลับไปเร่งขึ้นดอกเบี้ย ก่อนที่จะเปลี่ยนมุมมอง”

หน้า  1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,873 วันที่ 26 - 29 มีนาคม พ.ศ. 2566