"CKPower" กำไรกว่า 2.4 พันล้านปี 65 สูงสุดตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท

21 ก.พ. 2566 | 02:26 น.

"CKPower" กำไรกว่า 2.4 พันล้านปี 65 สูงสุดตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท หลังรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในการร่วมค้าและบริษัทร่วมเพิ่มขึ้น 39.3% ด้านฐานะการเงินมีสินทรัพย์ 69,846 ล้านบาท

นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKPower (ชื่อย่อหลักทรัพย์: CKP) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในปี 2565 ว่า มีรายได้รวม 11,418.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีรายได้ 9,334.7 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2,083.6 ล้านบาท คิดเป็น 22.3% เป็นรายได้สูงสุดตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทฯและเป็นครั้งแรกที่มีรายได้รวมเกิน 10,000 ล้านบาท

ส่วนกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของ CKPower ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2565 บริษัท มีกำไร 2,436.2 ล้านบาท ซึ่งเป็นกำไรสุทธิที่สูงที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทฯ โดยเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีกำไร 2,179.0 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 257.2 ล้านบาท คิดเป็น 11.8% 

ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในการร่วมค้าและบริษัทร่วมเพิ่มขึ้น 39.3% จากปีก่อน เนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี (XPCL) มีปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ยมากกว่าปีก่อน ส่งผลให้ปริมาณการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และผลประกอบการของ XPCL ในภาพรวมเติบโตกว่าปีก่อนอย่างมีนัยสำคัญ

CKPower กำไรกว่า 2.4 พันล้านปี 65  
สำหรับฐานะทางการเงินของ CKPower วันที่ 31 ธันวาคม 2565 บริษัทฯ มีสินทรัพย์ 69,846.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.3% มีหนี้สินรวม 31,906.6 ล้านบาท ลดลง 2.9% จากการทยอยชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และจากการไถ่ถอนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระ 

ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยจ่ายสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นรวม (Net Interest-bearing Debt to Equity Ratio) ปรับตัวลดลงจากปีก่อน โดยสิ้นปี 2565 อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำที่ 0.59 เท่า

นายธนวัฒน์ กล่าวอีกว่า CKPower มีผลประกอบการที่ดี แม้จะต้องเผชิญสถานการณ์ค่าพลังงานที่สูงตามสถานการณ์พลังงานในตลาดโลก ทั้งนี้เป็นผลมาจากกลยุทธ์ของบริษัทฯ ที่มุ่งเน้นการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ซึ่งลดการพึ่งพิงเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีราคาผันผวน 

โดยตั้งเป้าที่จะเข้าไปขับเคลื่อนธุรกิจใหม่ในภูมิภาค ซึ่งทุกโครงการจะใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด โดยจะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งหมดจากเดิม 89% เป็น 95% ภายในปี 2567 

นอกจากนี้ แม้ว่าการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศสหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่อาจจะส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของ CKPower ในปี 2566 โดยหนี้สินระยะยาวตามงบการเงินรวมของ CKPower ประมาณ 83% เป็นหุ้นกู้สกุลเงินบาทที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ 

และในส่วนของบริษัทร่วม XPCL ก็มีนโยบายบริหารความเสี่ยงอัตราดอกเบี้ยผ่านการทำ Interest Rate Swap และการออกหุ้นกู้ที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ โดยมีการติดตามการปรับตัวของอัตราดอกเบี้ยและบริหารจัดการหนี้สินระยะยาวให้มีสัดส่วนที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง