เปิดเบื้องหลัง"อดิศักดิ์"ขายบิ๊กล็อตหุ้น JMART"ถูกบังคับขาย"

18 ก.พ. 2566 | 14:25 น.

เปิดเบื้องหลัง "อดิศักดิ์" ขายบิ๊กล็อตหุ้น JMART เหตุราคาร่วงแรง จนถูก Margin Call ทำให้ต้องขายหุ้นออก ฉุดราคาและมูลค่าตลาดล่าสุดเหลือเพียง 3.97 หมื่นล้าน

 

จากกรณีที่บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่าผู้ถือหุ้นรายใหญ่ได้ขายหุ้นบริษัทฯจำนวน 54 ล้านหุ้น มูลค่ารวม 1,459 ล้านบาทโดยเป็นการซื้อขายหลักทรัพย์บนกระดานรายใหญ่ (Big Lot Board) ช่วงวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งปรากฎชื่อ 

  • นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการ JMART ทำรายการเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์2566  ขายหุ้นจำนวน 14 ล้านหุ้น ( 0.96%)  มูลค่ารวม 399 ล้านบาท จากจำนวน 195,388,916 หุ้น (13.41%) ปัจจุบันเหลือ 181,388,916 หุ้น (12.45%) 
  • นางสาวยุวดี พงษ์อัชฌา กรรมการ JMART ทำรายการ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 ขายหุ้นจำนวน 40 ล้านหุ้น ( 2.75%) มูลค่ารวม 1,060 ล้านบาท จากจำนวน 110,894,154 หุ้น (7.61%) ปัจจุบันเหลือ 70,894,154 หุ้น (4.86%) 

    โดยเป็นการขายในส่วนของกลุ่มผู้ถือหุ้นให้กับนักลงทุนสถาบันทั้งหมด
     

การขายหุ้นบิ๊กล้อตของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ส่งผลให้นักลงทุนขาดความมั่นใจเทขายหุ้นออก และฉุดให้ราคาหุ้นกลุ่ม เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART ปิดซื้อขายเมื่อวันที่ 17ก.พ.66 ปรับตัวลงเกือบทั้งกลุ่ม

อย่างไรก็ดี เบื้องหลังการตัดสินใจขายบิ๊กล็อตหุ้น JMART ในสัดส่วนรวมกันในจำนวน 54 ล้านหุ้น หรือสัดส่วน 3.71% ได้รับการเปิดเผยจาก นายพีรนาถ โชควัฒนา ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ10 ของ JMART ที่ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Money Chat ว่า ได้มีโอกาสสอบถาม นายอดิศักดิ์ ถึงสาเหตุที่ต้องขายบิ๊กล็อตหุ้น JMART ซึ่งได้ทราบมาว่า

ด้วยสถานการณ์ที่ราคาหุ้น JMART ตกลงมาอย่างแรง ทำให้อดิศักดิ์ต้องถูก "Margin Call" ซึ่งเป็นการกู้เงินจากบริษัทหลักทรัพย์ โดยการใช้หุ้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน  แต่หากมูลค่าหลักทรัพย์ที่ซื้อไว้ตกจนเป็นเหตุให้หลักประกันต่ำกว่ามูลค่าปัจจุบัน  ผู้กู้จะต้องหาเงินมาวางเพิ่ม แต่หากหาเงินไม่ได้จะต้องโดนบังคับขายหุ้น ดังนั้นจึงเป็นเหตุให้ นายอดิศักดิ์ จำเป็นต้องตัดขายหุ้น โดยหาสถาบันมารับซื้อหุ้นแทน เพื่อไม่ให้โดนบังคับขายหุ้น

นายพีรนาถ เล่าต่อว่า นายอดิศักดิ์ อธิบายให้ฟังว่า...โดน Margin Call  ซึ่งในตอนนั้นเขาเองก็รู้สึกแปลกใจว่าทำไมถึงโดน จนได้รู้ว่านายอดิศักดิ์ ซื้อไปเยอะ จึงจำเป็นต้องใช้เงินกู้ เพราะไม่ได้ซื้อ JMART ตัวเดียว แต่ซื้อหุ้น GUNKULๆ ราคาก็ลงมาด้วย ล่าสุดเพิ่งไปซื้อโรงแรมที่เชียงใหม่ด้วย จึงเป็นไปได้ที่ต้องใช้วงเงิน margin ดังนั้นเมื่อราคาหุ้นตกลงมามากและเร็วขนาดนี้ จึงโดน Margin Call

"ผมเข้าใจว่านักธุรกิจ ไม่ใช่จะฝากเงินกับแบงก์เฉย ๆ ก็ต้องลงทุน และวงเงินที่ดีส่วนหนึ่ง ก็คือ Margin ถ้าใครที่ติดตามคุณอดิศักดิ์ จะรู้ว่าเขาซื้อ JMART ในต้นทุนที่สูง ถ้าจำได้น่าจะ 50 กว่าบาท ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆคงไม่ตัดขายในราคา 26.50-28.50 บาท  คือขาดทุนเยอะ"

 
 

แต่ทั้งนี้ นายพีรนาถ กล่าวว่า โดยส่วนตัว เขายังมีความเชื่อมั่นต่อหุ้น JMART เพราะซื้อหุ้น JMART ตั้งแต่วันที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ราว 13-14 ปีก่อน (จดทะเบียนเมื่อ 25 มิ.ย.2552 ราคาไอพีโอ 1.80 บาท) อย่างไรก็ดีเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เจ้าของบริษัทขายหุ้นออก ย่อมเป็นการส่งสัญญาณที่ไม่ดีในมุมของนักลงทุน  แต่สำหรับผมยังมีความเชื่อมั่น เพราะผมถือมาตั้งแต่วันแรก จะคิดแบบตื้น ๆ ไม่ได้

นายพีรนาถ ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า ในฐานะผู้ถือหุ้นและนักลงทุน ผมรู้จักและรู้ว่านายอดิศักดิ์เป็นคนอย่างไร ดังนั้นผมจึงไม่มองแบบตื้น ๆ และนักลงทุนก็ไม่ควรคิดเองไปก่อนว่า การขายหุ้นออกไป เพราะกิจการแย่  แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือความเชื่อถือซึ่งกันและกัน

"เราเห็นถึงความสามารถของผู้บริหารกลุ่ม JMART ซึ่งมีพัฒนาการที่ดีมากทุกครั้งที่มีวิกฤตแล้วราคาหุ้นตก โดยครั้งแรกตกจาก 60 บาท มาถึง 70%  และทุกครั้งมีเหตุอันควรที่มาจาก performance หรืออาจจะมาจากการตั้งสำรองที่ผิดพลาด แต่ครั้งนี้เป็นครั้งเดียวที่งบที่ประกาศออกมาทุกบริษัทยังเติบโต เพียงแต่การคาดหวังอาจจะสูงเกินไป และเทียบกับอดีต ผมพึงพอใจมากและวันนี้ผมก็ยังซื้อหุ้น แม้ราคาจะตก"

อนึ่งข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ ฯ "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่าราคาซื้อขายเมื่อวันที่ 15 ก.พ.2566 หุ้นJMART ปิดที่ราคา 28.50 บาท ซึ่งเป็นราคาต่ำสุดในวันนั้น ส่วนราคาซื้อขายเฉลี่ยวันดังกล่าวอยู่ที่  29.82 บาท แต่นายอดิศักดิ์ ขายบิ๊กล็อต จำนวน 14 ล้านหุ้น ที่หุ้นละ 28.50 บาท

ส่วนวันที่ 16 ก.พ.2566  หุ้น JMART ปิดที่ราคา 29.50 บาท ราคาซื้อขายเฉลี่ยในวันดังกล่าวอยู่ที่ 29.41บาท แต่นางสาวยุวดี พงษ์อัชฌา ขายจำนวน 40 ล้านหุ้น ที่หุ้นละ 26.50 บาท ทั้ง 2 รายการ ราคาซื้อขายต่ำกว่าในกระดานหลัก

การเคลื่อนไหวหุ้นกลุ่ม JMART ณ วันที่ 17 ก.พ.66

  • บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) JMART ปิดที่ 27.25 บาท ลดลง 2.25 บาท เปลี่ยนแปลงลดลง 7.63% 
  • บริษัท ซิงเกอร์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) SINGER ปิดที่ 17.30 บาท ลดลง 1.00 บาท เปลี่ยนแปลงลดลง 5.46%
  • บริษัท เอสซี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) SGC  ปิดที่ 3.60 บาท ลดลง 0.14 บาท เปลี่ยนแปลงลดลง 3.74%
  • บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ J ปิดที่ 3.58 บาท ลดลง 0.12 บาท เปลี่ยนแปลงลดลง 3.24%
  • บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT ปิดที่ 45.75 บาท เพิ่มขึ้น 0.25 บาท เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น 0.55% (ปรับขึ้นเพียงรายเดียวในกลุ่ม)

ราคาหุ้น JMART ที่ปรับลง ส่งผลให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ( Market Cap )  ณ วันที่17 ก.พ.2566 ลงมาอยู่ที่ 39,711.96 ล้านบาท  จากระดับ 58,148.31 ล้านบาท และ 79,477.29ล้านบาท ในสิ้นปี 2565 และ 2564 ตามลำดับ หรือมูลค่าลดลง 31.71% จากสิ้นปี (YTD)