'ทรู-ดีแทค'เดินหน้าควบรวม ระบุอยู่ในขั้นตอนปฏิบัติตามเงื่อนไขกสทช.

06 ก.พ. 2566 | 05:49 น.

TRUE-DTAC แจงคดีฟ้อง กสทช.ไม่กระทบดีลควบรวม ซึ่งเป็นไปตามกฏหมายบริษัทมหาชน ขณะนี้อยู่ขั้นตอนดำเนินการตามเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะที่ กสทช.กำหนด

 

บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับคดีที่มีการฟ้องร้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เกี่ยวกับมติ กสทช. ที่รับทราบการรวมธุรกิจด้วยวิธีการควบบริษัท ตามที่ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเรียกให้ทั้ง 2 บริษัท ฯเข้าเป็นผู้ร้องสอด และความคืบหน้าในการปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะสำหรับการควบบริษัทที่กำหนดโดย กสทช.ดังนี้

1. คดีที่มีการฟ้องร้องต่อ กสทช. เกี่ยวกับมติรับทราบการรวมธุรกิจที่ TRUE และ DTAC เข้าเป็นผู้ร้องสอด

บริษัทขอเรียนชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับคดีที่มีการฟ้องร้อง กสทช. กรณีที่ กสทช. มีมติรับทราบการรวมธุรกิจด้วยวิธีการควบบริษัทระหว่างบริษัท และ DTAC ที่บริษัท และ DTAC เข้าเป็นผู้ร้องสอด ดังนี้

ก.เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 องค์กรอิสระแห่งหนึ่งกับพวก ได้ยื่นฟ้อง กสทช. และสำนักงาน กสทช.ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนมติ กสทช. ซึ่งรับทราบการรวมธุรกิจด้วยวิธีการควบระหว่างบริษัทและ DTAC และยื่นคําร้องขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราว โดยขอให้ศาลสั่งทุเลาการบังคับตามมติรับทราบการรวมธุรกิจด้วยวิธีการควบบริษัทดังกล่าว กับขอให้ศาลสั่งห้ามหรือระงับการกระทําและนิติกรรมที่เกี่ยวข้องกับมติรับทราบการรวมธุรกิจด้วยวิธีการควบบริษัท

 

ต่อมาศาลมีคําสั่งเรียกให้บริษัท และ DTAC เข้ามาเป็นผู้ร้องสอดในคดีดังกล่าวเนื่องจากบริษัท และ DTAC เป็นบุคคลภายนอกที่อาจถูกผลกระทบจากผลแห่งคําพิพากษาคดีนี้

อย่างไรก็ดีเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2565 ศาลปกครองกลางได้มีคําสั่งยกคําร้องขอคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าวทั้งฉบับ เนื่องจากไม่มีเหตุรับฟังได้ว่ามติรับทราบการรวมธุรกิจ

ด้วยวิธีการควบบริษัทของ กสทช.ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งคําสั่งยกคําร้องขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวเป็นที่สุดและผู้ฟ้องคดีไม่มีสิทธิอุทธรณ์คําสั่งดังกล่าวได้

ข.เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมรายหนึ่ง ได้ยื่นฟ้อง กสทช. ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนมติ กสทช. ซึ่งรับทราบการรวมธุรกิจด้วยวิธีการควบระหว่างบริษัท และ DTAC และยื่นคําร้องขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวโดยขอให้ศาลสั่งทุเลาการบังคับตามมติรับทราบการรวมธุรกิจด้วยวิธีการควบบริษัทดังกล่าว กับขอให้ศาลระงับการรวมธุรกิจชั่วคราว ต่อมาศาลมีคําสั่งเรียกให้บริษัท และ dtac เข้ามาเป็นผู้ร้องสอดในคดีดังกล่าวเนื่องจากบริษัท และ dtac เป็นบุคคลภายนอกที่อาจถูกผลกระทบจากผลแห่งคําพิพากษาคดีนี้

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2566 ศาลปกครองกลางได้มีคําสั่งยกคําร้องขอคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าวทั้งฉบับ เนื่องจากไม่มีเหตุรับฟังได้ว่ามติรับทราบการรวมธุรกิจด้วยวิธีการควบบริษัทของ กสทช. ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งคําสั่งยกคําร้องขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวเป็นที่สุดและผู้ฟ้องคดีไม่มีสิทธิอุทธรณ์คําสั่งดังกล่าวได้

 

ทั้งนี้ปัจจุบันทั้งสองคดีดังกล่าวข้างต้นยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง ซึ่งการที่มีคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินการควบบริษัท ซึ่งเป็นการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชน

2.การปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะที่กำหนด โดย กสทช.ที่ต้องดำเนินการก่อนการควบบริษัท มีดังต่อไปนี้

ภายหลังจากที่ กสทช.ได้มีมติรับทราบรายงานการรวมธุรกิจของบริษัทและ DTAC และเห็นชอบเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะสําหรับการรวมธุรกิจ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 บริษัท และ DTAC ได้ร่วมกัน
พิจารณาและดําเนินการตามเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะที่ กสทช.กําหนด โดยเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะที่ต้องดําเนินการก่อนการควบบริษัท มีดังต่อไปนี้

ก. จัดทำแผนการพัฒนานวัตกรรมที่เป็นรูปธรรม โดยต้องนำส่งภายใน 60วัน หลังจากได้รับแจ้งเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ ทั้งนี้ TRUE และ DTAC ได้นำส่งแผนดังกล่าวต่อเลขาธิการ กสทช. แล้วเมื่อวันที่19 ธ.ค.65

ข. จัดทำแผนการให้บริการแก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน (MVNO) และแผนการแยกการบริหารจัดการ ระบบบัญชีสำหรับการให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่กับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยต้องนำส่งแผนดังกล่าวก่อนการรวมธุรกิจ ซึ่ง TRUE และ DTAC จะนำส่งแผนดังกล่าวต่อเลขาธิการ กสทช. ก่อนการควบบริษัทแล้วเสร็จต่อไป

นอกจากนี้สำหรับเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะอื่นๆ ที่ กสทช.กำหนดให้ต้องดำเนินการภายหลังการควบบริษัทแล้วเสร็จ คณะกรรมการของบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบบริษัทจะพิจารณาเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะดังกล่าวและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป