ดาวโจนส์ปิดบวก 104.40 จุด ขานรับผลประกอบการบจ.แข็งแกร่ง

24 ม.ค. 2566 | 23:39 น.

ดัชนีดาวโจนส์ปิดบวกติดต่อกันเป็นวันที่ 3 ในวันอังคาร (24 ม.ค.) ขานรับผลประกอบการที่ดีเกินคาดของบริษัทจดทะเบียน สวนทางดัชนี S&P500 และ Nasdaq ต่างปิดในแดนลบ

 

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปิดที่ 33,733.96 จุด เพิ่มขึ้น 104.40 จุด หรือ +0.31%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,016.95 จุด ลดลง 2.86 จุด หรือ -0.07% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,334.27 จุด ลดลง 30.14 จุด หรือ -0.27%
         
บรรยากาศการซื้อขายได้รับผลกระทบจากการที่ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (NYSE) ประกาศระงับการซื้อขายหุ้นของกว่า 80 บริษัท เนื่องจากประสบปัญหาทางเทคนิค หลังจากเปิดตลาดได้ไม่นาน โดยหุ้นของบริษัทที่ถูกระงับซื้อขายรวมถึงมอร์แกน สแตนลีย์, เวอไรซอน คอมมูนิเคชันส์, เอทีแอนด์ที, ไนกี้ และแมคโดนัลด์
         

ทั้งนี้ ระบบของ NYSE ได้ระงับการซื้อขายหุ้นดังกล่าวโดยอัตโนมัติ หลังพบว่าหุ้นเหล่านี้มีการแกว่งตัวอย่างรุนแรง ส่งผลให้ระบบ NYSE ตัดการซื้อขายหุ้นเพื่อสกัดความผันผวนในตลาด อย่างไรก็ดี NYSE ออกแถลงการณ์ในเวลาต่อมาว่า ทางตลาดสามารถทำการซื้อขายหลักทรัพย์ได้ตามปกติแล้ว หลังจากประสบปัญหาทางเทคนิคก่อนหน้านี้
 

หุ้น 6 ใน 11 กลุ่มที่คำนวณในดัชนี S&P500 ปิดในแดนบวก นำโดยดัชนีหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมปรับตัวขึ้น 0.65% และดัชนีหุ้นกลุ่มสาธารณูปโภคดีดตัวขึ้น 0.49% ส่วนดัชนีหุ้นกลุ่มการสื่อสารและดัชนีหุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์ ปรับตัวลง 0.69% และ 0.65% ตามลำดับ
         

เอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 46.6 ในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน จากระดับ 45.0 ในเดือนธ.ค.

อย่างไรก็ดี ดัชนี PMI ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคธุรกิจของสหรัฐอยู่ในภาวะหดตัว โดยหดตัวเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน สะท้อนให้เห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงรุกของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กำลังส่งผลกระทบต่ออุปสงค์
         

ข้อมูลล่าสุดจากรีฟินิทิฟ (Refinitiv) ระบุว่า บริษัท 72 แห่งที่จดทะเบียนในดัชนี S&P500 ได้รายงานผลประกอบการประจำไตรมาส 4/2565 แล้ว โดยในจำนวนนี้มี 65% ที่รายงานผลประกอบการดีเกินคาด
 

         

นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงการเปิดเผยตัวเลขประมาณการเบื้องต้นของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 4/2565 ในวันพฤหัสบดีนี้

ส่วนในวันศุกร์จะมีการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค อีกทั้งมีความครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)