“ภากร” ฟันธง ตลาดหุ้นไทยปีหน้าเจอผลกระทบเก็บภาษีขายหุ้น

15 ธ.ค. 2565 | 09:26 น.

“ภากร ปีตธวัชชัย” ชี้ตลาดหุ้นไทยปีหน้าเจอผลกระทบเก็บภาษีขายหุ้น สภาพคล่องนักลงทุนหด ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจไทย 2566 มีแนวโน้มโตสวนทางเศรษฐกิจโลก

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ปาฐถาพิเศษในงานสัมมนา ส่องหุ้นไทย 2023 : ลงทุน..รับเปิดศักราชใหม่ เรื่องในหัวข้อ ยุทธศาสตร์การลงทุน ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกถดถอย จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ ฐานเศรษฐกิจ และโพสต์ทูเดย์ สื่อในเครือเนชั่น 

 

ทั้งนี้ระบุว่า ความท้าทายที่จะเข้ามากระทบกับทิศทางการลงทุนในตลาดหุ้นไทย คือความผิดปกติของการซื้อขายหลักทรัพย์ จากปัจจัยต่าง ๆ รวมไปถึงมาตรการของภาครัฐ ในการเตรียมเก็บภาษีขายหุ้น ในอัตรา 0.10% โดยในปีแรกจะมีเก็บภาษีก่อนในอัตรา 0.055% ซึ่งได้ผ่านการเห็นขอบจาก ครม.มาก่อนหน้านี้ 

 

ทั้งนี้มองว่า สิ่งที่ภาครัฐควรต้องพิจารณาให้ดีเกี่ยวกับเก็บภาษีขายหุ้นมี 3 เรื่อง นั่นคือ

  1. อัตราภาษีที่จัดเก็บต้องเหมาะสม และไม่เป็นภาระที่สูงเกินไปสำหรับนักลงทุน
  2. การเก็บภาษีต้องไม่ซ้ำซ้อน จนกระทบต่อนักลงทุน
  3. ช่วงเวลาที่จัดเก็บต้องเหมาะสม และมีระยะเวลาให้นักลงทุนได้ปรับตัวอย่างเพียงพอ

 

สำหรับปัจจัยดังกล่าว มองว่า จะมีผลต่อเงินลงทุน เพราะสภาพคล่องของนักลงทุนลดลง รวมทั้งยังมีเรื่องกระแสเงินลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ หรือ ฟันด์โฟลว์ ที่อาจเคลื่อนย้ายไปลงทุนในตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีแทนด้วย ซึ่งทั้งหมดจะเป็นปัจจัยที่ยังคงกดดันการลงทุนในตลาดหุ้นต่อเนื่องในปีหน้าอีกด้วย

 

นอกจากนี้การเข้าระดมทุนของบริษัทในอนาคตจะทำให้ยากมากขึ้น เพราะการกำหนดราคาขายหุ้นไอพีโอ จะได้ราคาที่ต่ำ เพราะ ค่าP/E จะปรับตัวลดลง และความสนใจจองซื้อน้อยลง  ทำให้บริษัทที่เข้ามาระดมทุนได้เม็ดเงินระดมทุนน้อย ส่งผลกระทบต่อการขยายธุรกิจของบริษัทที่น้อยลงตามเช่นกัน จึงทำให้การจ้างงานลดลง ซึ่งมีผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย  ทำให้เม็ดเงินที่ภาครัฐเก็บภาษีก็ลดลง

ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2566 มองว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้แบบ K shape โดยอัตราการเติบโตในปีหน้าของไทยจะยังมีแนวโน้มที่ดี คาดว่า GDP จะขยายตัวได้ประมาณ 3.7% สวนทางกับเศรษฐกิจโลก ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ ได้ออกมาประเมินว่าจะชะลอตัวต่อเนื่องจากปีนี้ ทั้ง สหรัฐฯ และยุโรป 

 

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความเสี่ยงจากหลายปัจจัย แต่ในปี 2566 มองว่า กลุ่มธุรกิจที่จะฟื้นตัวได้เร็ว ประกอบด้วย กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยี กลุ่มบริการ และกลุ่มพลังงาน เป็นต้น ส่วนกลุ่มที่ยังฟื้นตัวได้ช้า ได้แก่ กลุ่มการเงิน อสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้าง และภาคการท่องเที่ยว 

 

แต่เชื่อว่า ในปี 2566 จากสถานการณ์โควิดที่ดีขึ้น คาดว่า จะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามามากขึ้น และส่งผลให้ธุรกิจในกลุ่มนี้มีผลดำเนินงานดีขึ้นในปีหน้า

นายภากร ยอมรับว่า ปัจจุบันตลาดหุ้นไทยมีผลิตภัณฑ์การลงทุนมากขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์ลงทุนที่อ้างอิงหุ้นและกองทุนในต่างประเทศ ที่นักลงทุนสามารถลงทุนได้เป็นสกุลเงินบาท และผลิตภัณฑ์การลงทุนที่เป็นดิจิทัล จากที่ตลาดหลักทรัพย์ฯจัดตั้งบริษัท ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย จำกัด (TDX) ซึ่งนักลงทุนจะต้องมีการกระจายการลงทุนที่เหมาะสมกับความสามารถในการรับความเสี่ยงของแต่ละคนได้

 

สำหรับในช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทย ยังสามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) เพิ่มเป็น 20-21 ล้านล้านบาท จากที่เคยอยู่ที่ 11-12 ล้านล้านบาท เมื่อช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หรือเติบโตขึ้นเกือบ 2 เท่า หลังจากบริษัทเข้ามาระดมทุนมากขึ้น 

 

ขณะที่ปีนี้ มีมูลค่าซื้อขายอยู่ที่ราว 7.8 หมื่นล้านบาทต่อวัน จากปี 2564 มีจำนวน 9 หมื่นล้านบาทต่อวัน ซึ่งภาคบริการ คือ กลุ่มใหญ่สุด รองลงมา คือ ภาคการเงิน และเทคโนโลยี โดยตลาดหลักทรัพย์ฯไทย มีการระดมทุนไอพีโอ เป็นอันดับที่ 1 ในอาเซียน ที่ 4 ในเอเซีย