ก.ล.ต.เปิดความผิด และอัตราโทษตาม พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล

03 ก.ย. 2565 | 13:43 น.

ก.ล.ต. เปิดความผิด และอัตราโทษตาม พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล มาดูกันว่า การไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด (Business Conduct) และการกระทำอันไม่เป็นธรรม (Unfair Trading Practices) มีอัตราลงโทษและต่างกันอย่างไร

จากการที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นำ “มาตรการลงโทษทางแพ่ง” มาเป็นหนึ่งช่องทางในการบังคับใช้กฎหมายที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) ที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2559 และพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ตามที่"ฐานเศรษฐกิจ"ได้นำเสนอเรื่อง "เจาะลึก มาตรการลงโทษทางแพ่ง ความผิดแบบไหนเข้าข่าย-บทลงโทษ" เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา  ฉบับนี้มาดูกันว่า "ความผิด และ อัตราโทษ ตาม พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล" ระหว่างการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด (Business Conduct) กับ การกระทำอันไม่เป็นธรรม (Unfair Trading Practices) มีอัตราโทษต่างกันอย่างไร
 

การไม่ปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด (Business Conduct) เช่น

 

  • ความบกพร่องของระบบงาน 
  • การไม่ปฎิบัติตาม Trading Rules 
  • การเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้า 
  • การส่งงบล่าช้า 

 

อัตราโทษ

 

  • ปรับไม่เกิน 300,000 บาท
  •  และปรับไม่เกินวันละ 10,000 บาท
  • ตลอดระยะเวลาที่ยังมิได้ปฎิบัติให้ถูกต้อง (มาตรา 67)

 

การกระทำอันไม่เป็นธรรม (Unfair Trading Practices)*  เช่น

 

  • บอกกล่าว เผยแพร่ หรือให้คำรับรอง ข้อความอันเป็นเท็จ (มาตรา 40)
  • วิเคราะห์หรือคาดการณ์ โดยนำข้อมูลที่รู้ว่าเป็นเท็จหรือไม่ครบถ้วน อันอาจก่อให้เกิดความสำคัญผิดในสาระสำคัญ (มาตรา 41)
  •  ซื้อขายโทเคนดิจิทัล โดยรู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน (มาตรา 42)
  • ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลตัดหน้า (มาตรา 45)
  • สร้างราคาหรือปริมาณการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (มาตรา 46)

 

หมายเหตุ * มีระวางโทษทางอาญาและสามารถนำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้ได้

 

มาตรการลงโทษทางแพ่ง มีดังนี้

 

1.ค่าปรับทางแพ่ง*

 

  • กรณีได้ผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับ กำหนดค่าปรับทางแพ่งไม่เกิน 2 เท่าของประโยชน์ แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 500,000 บาท
  • กรณีไม่สามารถคำนวณผลประโยชน์ได้ กำหนดค่าปรับทางแพ่งตั้งแต่ 500,000 - 2,000,000 บาท

 

2.ชดเชยใช้เงินเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการกระทำผิด*

 

3.ห้ามเข้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือสัญญาการซื้อขายล่วงหน้าที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเวลาไม่เกิน 5 ปี

 

4.ห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัลหรือผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเวลาไม่เกิน 10 ปี

 

5.ชดเชยค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบให้กับ ก.ล.ต.

 

หมายเหตุ : * จะนำส่งกระทรวงการคลัง

 

ก.ล.ต.เปิดความผิด และอัตราโทษตาม พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล