รู้นะ คิดอะไรอยู่(ตอนที่ 2) “คิดให้รอบด้าน”

15 เม.ย. 2567 | 03:57 น.

รู้นะ คิดอะไรอยู่(ตอนที่ 2) “คิดให้รอบด้าน” : คอลัมน์ Investing Tactic น.สพ. ศราวิน สินธพทอง วิทยากรพิเศษ โครงการ SITUP

  • การคิดเชิงตรรกะ ( Logical Thinking ) คิดหาความเป็นเหตุเป็นผล  โดยอาจต้องเทียบเคียงกับประสบการณ์ หรือข้อมูลที่เคยวิเคราะห์ไว้ก่อนหน้าว่า เมื่อเกิดสิ่งหนึ่ง อีกสิ่งหนึ่งจะตามมา หรืออาจเป็นความน่าจะเป็นที่อีกสิ่งหนึ่งจะตามมาใช้เพื่อช่วยอธิบายขั้นตอนย่อยอย่างมีเหตุผลนำไปสู่การอธิบายภาพใหญ่ที่ซับซ้อนได้

ในการลงทุน เราใช้ในการวางกลยุทธ์การลงทุนว่าการตัดสินใจซื้อ ขาย  หรือรอนั้นด้วยคาดว่าผลที่ตามมานั้นคืออะไร โดยเทียบเคียงกับข้อมูลเก่าอย่างไร    ใช้ติดตามผลการลงทุนว่าพอร์ตที่ยังไม่โตนี้มีเงื่อนไขในการตัดสินใจซื้อขายแบบนี้ต้องปรับปรุงเงื่อนไขอะไรเพิ่มเติมหรือไม่เกิดจากตรรกะเชื่อมโยงเหตุผลที่ไม่ถูกต้อง หรือ สภาพตลาดที่ไม่เหมาะสมเอง และไม่สามารถควบคุมได้

  • การคิดเป็นระบบ ( System thinking ) คือการคิดทำ”ความเข้าใจเป็นภาพรวมการทำงานของระบบ”  การส่งผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยเล็กๆของระบบที่ส่งผลต่อส่วนอื่นๆของระบบ ซึ่งย่อมต้องอาศัย 

การคิดแบบวิเคราะห์ 

คิดแบบวิพากย์ 

และคิดเชิงตรรกะ เพื่อสร้างสรรค์ความเข้าใจนี้แล้วจึงกำหนดสิ่งที่เราต้องทำให้สอดคล้องกับระบบ   

ในด้านการลงทุน เราต้องทำความเข้าใจวงจรเศรษฐกิจ ขาขึ้น ขาลง ผลกระทบจากการเมือง และ กระแสสังคม ที่มีผลต่อสินทรัพย์ที่เราจะลงทุน เพื่อที่จะคาดการณ์ และ กำหนดทิศทางการลงทุนได้   ปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสมในแต่ละช่วงของวงจรเศรษฐกิจได้

รู้นะ คิดอะไรอยู่(ตอนที่ 2)  “คิดให้รอบด้าน”
 

  • การคิดทางจิตวิทยา ( Psychologic thinking) อาจเริ่มต้นจากการทำ”ความเข้าใจพฤติกรรมการแสดงออกของมนุษย์” แล้วทำ ”ความเข้าใจกับความรู้สึกที่ซับซ้อนนี้จากตัวเราเอง”  เพื่อรู้จักการทำงานของอคติความลำเอียง(เหตุผลทางอารมณ์) 

กำไรอยากเทรดอีก 
ขาดทุนแล้วอยากเอาคืน   
ดีใจมีความสุขจากการได้กำไร
เสียใจตกใจในช่วงที่ผิดหวัง หรือ ตลาดผันผวน
แล้วคิดการจัดการอารมณ์ของตนเอง ว่าจะทำอย่างไรให้
ปฏิบัติการได้ตามแผน 
ไม่กลัวตกรถ 
ไม่ขายหมู  
ไม่ถือจนขาดทุน  
รวมไปถึง เมื่อเราเข้าใจถึงอารมณ์และจับความรู้สึกของตนเองได้แล้ว  เราก็จะเข้าใจอารมณ์ของผู้เล่นในตลาดคนอื่นๆ หรือ อารมณ์ตลาดตามมาได้ด้วย เพราะเราทราบอยู่แล้วว่า 
ตลาดมักให้รางวัลกับคนส่วนน้อย 
ทำอย่างไรถึงจะเข้าใจคนส่วนน้อยได้ ในขณะที่เราเป็นคนปกติ

แน่นอนว่าระบบเศรษฐกิจนั้นมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และ ประวัติศาสตร์นั้นไม่ซ้ำรอยเดิมเสียทุกครั้ง ผลที่ตามมาอาจมีหลายรูปแบบ    
การมีการคิดแบบประยุกต์ปรับตัว (Adaptive thinking) ก็เป็นอีกทักษะหนึ่งที่ได้รวบทุกวิธีคิดด้านบนเอามาใช้ในเวลาที่วิกฤติ ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และคาดการณ์ได้ยาก โดยเฉพาะเวลาที่จำกัด และ การลงทุนด้วยเงินจำนวนมาก อารมณ์ และ ฮอร์โมนจะทำให้ความสามารถในการคิดของเราแย่ลงและมีแนวโน้มจะทำตามสัญชาติญาณมากกว่า ซึ่งถ้าได้ฝึกสัญชาติญาณมาดี ย่อมมีความได้เปรียบและ เอาตัวรอดได้ดีขึ้น  
ตัวอย่างการฝึกก็เช่น จินตนาการถึงสถานการณ์ที่แย่ที่สุดในทุกการตัดสินใจเสมอ(worst case scenario) เพื่อวางแผนการตัดสินใจและความรู้สึก  ไว้ก่อนเกิดกรณีฉุกเฉิน  ฝึกการตัดสินใจในเวลาที่จำกัด  ฝึกสมาธิผ่านการทำงานเช่น วาดรูป  เขียนบรรยายสรุปบทความ หรือ บันทึกส่วนตัว ในเวลาจำกัด  เพื่อให้เข้าถึงสมาธิได้ง่ายขึ้นในเวลาฉุกเฉิน  และ สามารถหาข้อสรุปของการตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วได้ผลที่แม่นยำมากขึ้น
จะเห็นได้ว่า การคิดนั้น ประกอบด้วย การคิดย่อยๆ หลายรูปแบบประกอบกันอยู่ ในขณะที่เราเริ่มคิดเรื่อยเปื่อยหลงทางนั้น ถ้าเราระลึกได้ว่า เรากำลังคิดรูปแบบใดอยู่ หรือกำลังคิดแต่เรื่องอารมณ์  มันก็จะง่ายขึ้นที่เราจะดึงการคิดการทำงานกลับเข้าทาง ได้รวดเร็ว ทั้งหมดก็จะยิ่งเพิ่มพูน ทักษะ ประสบการณ์ ให้เราชำนาญด้านการลงทุนได้มากขึ้น วินัยดีขึ้น และ “คิดให้รอบด้าน” ต่อไปครับ