ดีเดย์ 20 ก.พ. บลจ.ไทยพาณิชย์ปันผล 3 กองทุนหุ้นไทย

20 ก.พ. 2566 | 09:24 น.

บลจ.ไทยพาณิชย์ จัดเงิน 76 ล้านบาท จ่ายปันผลให้ 3 กองทุนหุ้นไทยผลงานดี กับ SCBSE – SCBENERGY - SCBBANKING ดีเดย์ 20 ก.พ.นี้

นายณรงค์ศักดิ์  ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด(SCBAM) หรือ บลจ.ไทยพาณิชย์เปิดเผยว่า บริษัทฯจ่ายเงินปันผลให้กับกองทุนหุ้นผลงานดี สำหรับรอบผลการดำเนินงาน 6 เดือน ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม 2565 - วันที่ 31 มกราคม 2566 จำนวน 3 กองทุน รวมเป็นมูลค่าเงินปันผล 76 ล้านบาท

นายณรงค์ศักดิ์  ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ. ไทยพาณิชย์

กองทุนทั้งหมดแจ้งปิดพักสมุดทะเบียนเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กำหนดจ่ายเงินปันผลในวันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 ประกอบด้วย

  • กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ ซีเล็คท์ อิควิตี้ ฟันด์ (ชนิดจ่ายเงินปันผล) หรือ SCBSE จ่ายปันผลครั้งที่ 24 นับแต่วันจัดตั้งกองทุนในอัตราเงินปันผลที่ 0.2000 บาทต่อหน่วย และกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ ซีเล็คท์ อิควิตี้ ฟันด์(ชนิดเพื่อการออม) หรือ SCBSE-SSF จ่ายปันผลครั้งที่ 4 นับแต่วันจัดตั้งกองทุน ในอัตราเงินปันผลที่ 0.1000 บาทต่อหน่วย
  • กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ SET ENERGY SECTOR INDEX (ชนิดจ่ายเงินปันผล) หรือ SCBENERGY จ่ายปันผลครั้งที่ 12 นับแต่วันจัดตั้งกองทุน ในอัตราเงินปันผลที่ 0.1000 บาทต่อหน่วย
  • กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ SET BANKING SECTOR INDEX (ชนิดจ่ายเงินปันผล) หรือ SCBBANKING จ่ายปันผลครั้งที่ 10 นับแต่วันจัดตั้งกองทุน ในอัตราเงินปันผลที่ 0.1000 บาทต่อหน่วย

ทั้งนี้ แม้ที่ผ่านมา ประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากปัจจัยภายนอกประเทศอยู่บ้าง แต่ไทยกลับมีมุมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สวนทางกับภาพรวมเศรษฐกิจโลก และเริ่มเข้าสู่จังหวะของการฟื้นตัวมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 ที่นำโดยภาคการท่องเที่ยวและภาคอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง

ทำให้ภาพรวมผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนของตลาดหุ้นไทยในไตรมาสสุดท้ายปี 2565 ออกมาในระดับที่น่าพอใจ และส่งผลบวกต่อผลการดำเนินงานของกองทุนรวมหุ้นที่ บริษัทฯ เลือกเข้าลงทุน

ขณะที่ภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2566 มองว่า ไทยยังมีทิศทางการเติบโตที่ดีได้อย่างต่อเนื่อง จากแรงหนุนการเปิดประเทศและการยกเลิกมาตรการ Zero Covid-19 ของจีนที่จะมาเป็นแรงส่งที่สำคัญให้กับภาคท่องเที่ยว

รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น อีกทั้ง ปัจจัยความกดดันจากภายนอกประเทศเริ่มท่าทีเชิงบวก ซึ่งหากทิศทางยังเป็นเช่นนั้น ก็จะส่งผลให้ภาพรวมด้านผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนของตลาดหุ้นไทย สามารถเติบโตและกลับมาฟื้นตัวได้ดีอีกครั้ง