สมาคมนักวางแผนการเงินไทย เร่งปั้น CFP 1 พันคนใน 3 ปี

17 พ.ย. 2565 | 07:14 น.

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย เดินหน้าปั้นคุณวุฒิ CFP ให้ได้ 1 พันคนใน 3 ปี ดันเป็นเทรนเนอร์ประจำตัว เหตุความต้องการด้านการเงินมีตลอดชีวิต ไม่ใช่แค่การลงทุนแต่ยังหมายถึงเป้าหมายของชีวิต

 

แนวคิดการวางแผนทางการเงินเกิดขึ้นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา ก่อนจะแพร่ขยายออกไปสู่ออสเตรเลียและญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี 2513-2535 มีการก่อตั้ง Internationnal CFP Council ในปี 2537 เพื่อดูแลวิชาชีพนักวางแผนการเงิน ล่าสุดปี 2564 ทั่วโลกมีนักวางแผนการเงิน CFP 203,312 คน ขณะที่ประเทศไทย ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2565 มีนักวางแผนการเงินทั้งสิ้น 456 คน

 

นายวศิน วัฒนวรกิจกุล นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย (TFPA) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มความต้องการนักวางแผนการเงินจะมีมากขึ้น จากการสังคมที่มีความซับซ้อนมากขึ้น การพึ่งพาต่อกันและกันน้อยลง คนจึงจำเป็นต้องจัดการเรื่องการเงินให้ตัวเองมากขึ้น เพราะการจัดการการเงินไม่ใช่แค่จัดการเรื่องเงิน แต่เป็นการจัดการเป้าหมายของชีวิตด้วยว่า มีเป้าหมายชีวิตอย่างไร จะไปถึงตรงนั้นได้อย่างไร ซึ่งนักวางแผนการเงินจะเข้าไปช่วยในการวางเป้าหมายชีวิตและหาทางที่จะไปให้ถึงเป้าหมายนั้น

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย เร่งปั้น CFP 1 พันคนใน 3 ปี

 

ทั้งนี้เพราะ คนทุกคนเกี่ยวข้องด้านการเงินทั้งสิ้น ตั้งแต่เกิดจนตาย ความเกี่ยวข้องมีตลอดชีวิต ความต้องการด้านการเงินก็มีตลอดชีวิตเช่นกัน ซึ่งความต้องการทางการเงินก็มีหลายแบบ จะหาอย่างไรให้ได้มาก ได้มาแล้วจะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์ พอเกิดประโยชน์แล้วจะปกป้องมันอย่างไร เพราะเมื่อมีระดับหนึ่งแล้ว เราจะส่งต่ออย่างไร

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย เร่งปั้น CFP 1 พันคนใน 3 ปี

 

ดังนั้นสมาคมจึงมีหน้าที่สร้างสังคมหรือขยายสังคมที่เป็นนักวางแผนการเงิน เพื่อให้มีนักวางแผนทางการเงินที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน มีประสบการณ์และมีจริยธรรมเพียงพอที่จะไปให้บริการวางแผนการเงินให้กับประชาชน ซึ่งขณะนี้้คงเน้นหนักที่ประชาชนคนไทย ทั้งเพิ่มจำนวน ขยายฐานให้บริการ และพัฒนานักวางแผนการเงิน ขณะนี้มีบุคลากรที่ได้ CFP 400 กว่าคน แต่คนที่อยู่ในกระบวนการที่ปรึกษาการเงิน AFPT มี 1 พันกว่าคน แต่ยังถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับประชากรที่อยู่ในระบบการเงินการลงทุน ซึ่งเป้าหมาย 3 ปีต้องการให้ได้ซัก 1,000 คน

 

“สมาคมนักวางแผนเป็นสมาคมวิชาชีพ คนที่จะเข้าเป็นสมาชิกมีทั้งที่เป็นนิติบุคคลและบุคคล โดยนิติบุคคล เช่น กลุ่มธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน (บลจ.) และบริษัทประกัน ซึ่งกลุ่มนี้พนง.ของเขามีความเกี่ยวข้องกับการจัดการการเงิน  กลุ่มที่ยังมีจำนวนไม่มากคือ สมาชิกที่เป็นบุคคล ซึ่งใครที่ CFP เป็นคุณวุฒิวิชาชีพที่เป็นอินเตอร์เนชั่นแนล สามารถหาเลี้ยงชีพได้เกี่ยวกับการวางแผนและให้คำแนะนำด้านการเงินและการลงทุนให้กับผู้คน”นายวศิน กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม คนที่จะได้คุณวุฒิวิชาชีพนี้จะต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์มาตรฐานสากล 4 ด้าน (4 E’s) คือ การศึกษา (Education) การสอบวัดผล (Examination) ประสบการณ์ทำงาน(Experience) และ จรรยาบรรณ (Ethics) โดยที่ยื่นขอใบรับรอง CFP จะต้องผ่านการอบรม 6 ชุดวิชาคือ

  • พื้นฐานการการวางแผนการเงิน ภาษี และจรรยาบรรณ
  • การวางแผนการลงทุน
  • การวางแผนการประกันภัย
  • การวางแผนเพื่อวัยเกษียณ
  • การวางแผนภาษีและมรดก
  • การจัดทำแผนการเงิน

 

สำหรับลูกค้าของนักวางแผนการเงินมีหลายแบบเป็นพื้นฐานที่เข้ามามากขึ้นคือ การวางแผนเกษียณว่า จะเก็บเงินเท่าไหร่ ลงทุนอะไร พอร์ตจะเป็นอย่างไร และการวางแผนบุคคลที่เชื่อมกับธุรกิจ มีลูกค้าที่เป็นนักธุรกิจเข้ามาเป็นลูกค้าด้วย เพราะตัวเขาเองกับธุรกิจที่บางทีต้องจัดการทั้งกระแสเงินสดตัวเองและธุรกิจด้วย นอกจากนั้นก็มีเรื่องภาษีมรดก และทิศทางตลาดน่า จะเติบโตคือ หลังจากเกษียณอายุแล้วจะบริหารเงินที่มีอย่างไรต่อไป

 

“ผลสำเร็จของนักวางแผนการเงินนั้น เรายังไม่มีในระดับว่า CFP  มีการดูแลลูกค้าจำนวนกี่คนหรือว่า มูลค่ากี่หมื่นล้าน แต่ความสำเร็จของเราคือ คนที่ผ่าน CFP ของเราในช่วงต้นจะน้อย แต่ตอนนี้อัตราการเพิ่มขึ้นเป็นอัตราที่ดีมาก มีคนที่สนใจเข้ามาสอบมากขึ้น มีลูกค้าบางรายที่สนใจเรื่องการเงิน การลงทุน และขอให้คนที่ได้ CFP มาคุยกับเขา มันจะเป็นข้อมูลในลักษณะแบบนี้มากกว่า” นายวศิน กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะให้ประเทศเราพัฒนาและคนไทยจัดการการเงินที่ดีต้องมาจากทั้งฝั่งดีมานด์และซัพพลาย เริ่มจากฝั่งดีมานด์จะเพิ่มขึ้น เพราะวันนี้เรารู้แล้วว่า โลกยิ่งซับซ้อนขึ้นและเกี่ยวข้องมากขึ้น การที่มีคำแนะนำที่ดีกับไม่ดี มันมีความต่าง การที่เราจะอยู่ตรงไหน จะเท่าไหร่ จะเมื่อไหร่ ถ้ามีคนช่วยแนะนำให้ตัดสินใจว่า จะเลือกอะไรที่เหมาะกับเขา น่าจะดีกว่าไม่เช่นนั้น ช่องกว้างอาจเดินตกท่อหรือเสียโอกาสไป

 

ขณะที่ฝั่งซัพพลายเอง เมื่อเห็นแล้วว่า ความต้องการจะมีมากขึ้น และอาจไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นตอนที่รวยแล้ว CFP ก็เป็นอาชีพได้  สามารถจะเติบโตได้พร้อมๆ กับลูกค้าและเศรษฐกิจที่เติบโต ดังนั้นจึงเชิญชวนคนที่เห็นโอกาสตรงนี้เข้ามาอบรม CFP ซึ่งขณะนี้ก็เริ่มเห็นคนที่มีอายุน้อยลงเข้ามาอบรมมากขึ้น ซึ่งทางสมาคมก็มีเพิ่มการลงทุนใหม่เข้าไปอบรมด้วย อย่างการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหมด

 

“บางคนอาจมองว่า ไม่จำเป็นต้องมีนักวางแผนการเงิน เพราะรู้ว่าต้องทำยังงัย แต่ถ้ามีคนที่เข้ามากระตุ้น เข้ามาบอกเทคนิค ก็จะเหมือนเทรนเนอร์ที่อยู่ข้างคุณ ที่จะทำให้โอกาสสำเร็จเร็วขึ้น และนักวางแผนการเงินมีหลายโมเดลให้เลือกให้เหมาะกับเราได้”นายวศินกล่าว 

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,836 วันที่ 17 - 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565