SMK ค้างจ่ายหนี้ประกันโควิด 3.37 หมื่นล้าน

27 ธ.ค. 2566 | 05:22 น.

บริษัทสินมั่นคงประกันภัย เปิดภาระหนี้ตามสัญญาประกันโควิด 33,741 ล้านบาท จากยอดหนี้รวม 38,411 ล้านบาท เหลือกรมธรรม์อื่นอีก 4,670 ล้านบาท ด้านสินทรัพย์น้อยกว่าหนี้สินกว่า 33,680 ล้านบาท คปภ.สั่งบริษัทเสนอทางออกเร่งด่วน

บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ SMK เปิดเผยรายการข้อมูลตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 36/2565 ณ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 พบว่า ณ เดือนตุลาคม 2566 มีสินทรัพย์รวมตามราคาประเมิน 6,217 ล้านบาท หนี้สินรวม 39,897 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ 33,680 ล้านบาท อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมายติดลบ 405.49%

SMK ค้างจ่ายหนี้ประกันโควิด 3.37  หมื่นล้าน

ขณะที่เงินกองทุนที่สามารถนำมาใช้ได้ทั้งหมดติดลบ 33,699 ล้านบาท เงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย 8,311 ล้านบาท สินทรัพย์สภาพคล่อง 3,332 ล้านบาท ภาระหนี้ตามสัญญาประกันภัยรวม 38,411 ล้านบาท แบ่งเป็นสัญญากรมธรรม์ประกันภัยโควิด 33,741 ล้านบาทและกรมธรรม์แอื่นๆอีก 4,670 ล้านบาท

ล่าสุดสถานะการพักการชำระหนี้หรือ Automatic Stay ของ SMK สิ้นสุดลง หลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งฟื้นฟูกิจการของ  SMK เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 โดยคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ดคปภ.) เห็นชอบให้สำนักงานคปภ.ในฐานะนายทะเบียนสั่งให้ SMK หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัยและประชาชน

ทั้งนี้เจ้าหนี้บมจ.สินมั่นคงตามที่ได้ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้นั้น ล่าสุด ณวันที่ 15 ธันวาคม 2566 มีจำนวนเจ้าหนี้ที่ขอยื่นรับชำระหนี้ 295,609 ราย  รวมจำนวนหนี้ที่ยื่นขอ 29,303,015,045.13 บาท

นายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกฎหมายและคดี สำนักงานคปภ.เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า วันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกกระบวนการฟื้นฟูกิจการของบริษัทดังกล่าวนั้น นอกจากจะทำให้สภาวะพักการชำระหนี้ หรือ Automatic Stay สิ้นสุดหรือหลุดไปในทันทีแล้ว การห้ามเคลื่อนย้ายทรัพย์สินก็จะหลุดไปด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อบริษัทออกจากกระบวนการของศาลล้มละลายกลางแล้ว บริษัทจะมีอิสระในการทำอะไรก็ได้

นายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกฎหมายและคดี สำนักงานคปภ.

ดังนั้นคปภ.จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 52 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 สั่งให้บมจ. สินมั่นคงประกันภัย หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว และห้ามเคลื่อนย้ายทรัพย์สิน เว้นแต่เป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2566

ขณะเดียวกัน คปภ.ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปกลั่นกรองการจ่ายเงิน ซึ่งหลักการวันนี้ บมจ.สินมั่นคงประกันภัยยังคงดำเนินงานอยู่ รวมถึงกระบวนการทั้งหลาย การบริหารจัดการธุรกิจ เพราะฉะนั้นสินไหมหรือเจ้าหน้าที่ของบริษัทจะดำเนินการเสนอเคลมต่อเจ้าหน้าที่ของคปภ.เพื่อพิจารณากลั่นกรองว่า เคลมนั้นๆเป็นการเคลมปกติหรือไม่ ถ้าหากพิจารณาแล้วสามารถจ่ายเคลมได้ก็จะดำเนินการจ่ายเคลมตามกระบวนการปกติ แต่คปภ.จะดูว่า ต้องไม่มีอะไรที่ผิดปกติ

ส่วนของระยะเวลาดำเนินการนั้น เป็นกระบวนการที่ให้เวลากับบริษัทในเวลาสั้นๆหรือไม่ยาวนัก เพื่อให้บริษัทหาทางออก เช่น จะดำเนินการเรื่องใดบ้างในช่วงนี้ แนวโน้มจะมีการเพิ่มทุนหรือไม่ หรือจะบริหารจัดการลูกค้าอย่างไร เป็นเรื่องที่บริษัทจะต้องดำเนินการและเสนอต่อคปภ.

“สิ่งที่บอกบริษัทไปคือ ต้องเร่งด่วน เพราะภาวะการที่สินทรัพย์น้อยกว่าหนี้สินมาพักใหญ่แล้ว แต่เราให้เวลาได้จำกัด และเมื่อบริษัทข้อเสนอมา ก็จะนำเรียนบอร์ดของคปภ.เพื่อพิจารณาต่อไป”นายอดิศรกล่าว

ในส่วนของความเป็นไปได้ในการเพิ่มทุนนั้น ส่วนตัว ไม่ขอให้ความเห็นในประเด็นดังกล่าว แต่ขอย้ำว่า คปภ.ไม่ได้นิ่งนอนใจ สิ่งที่ดำเนินการคือ คปภ.เข้าไปควบคุมการดำเนินงานของบริษัท โดยเฉพาะจะไม่จ่ายเคลมรายการที่แปลกประหลาดหรือสินทรัพย์จะต้องคงอยู่เพื่อผู้เอาประกันภัย แต่หากข้อเสนอของบริษัทสมเหตุผล อาจช่วยให้การดูแลลูกค้ารวดเร็วได้ แต่หากไม่สมเหตุผลคปภ.อาจต้องยกระดับมาตรการทางกฎหมายต่อไป

อย่างไรก็ตาม ถ้ากระบวนการทางกฎหมายแล้ว บมจ.สินมั่นคงต้องเข้าสู่กระบวนการเพิกถอนใบอนุญาตนั้น บริษัทจะเข้าไปอยู่ในกองทุนประกันวินาศภัย แต่ขอย้ำว่า ปัจจุบันบมจ.สินมั่นคงประกันภัยยังดำเนินงานอยู่ ลูกค้าสามารถติดต่อบริษัทได้ปกติ เพราะกรมธรรม์ยังคงได้รับความคุ้มครองปกติ และหากผู้ถือกรมธรรม์ต้องการโอนหรือประสงค์จะยกเลิกกรมธรรม์ สิ่งเหล่านี้เป็นขั้นตอนและมาตรการที่ทางการและภาคธุรกิจเคยทำงานร่วมกันอยู่แล้ว

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตั้งแต่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกฟื้นฟูกิจการของ SMK โดยผู้ทำแผน ซึ่งเป็นลูกหนี้เองจะส่งคืนกิจการทั้งหมดให้กับ SMK จากนั้น SMK จะต้องดำเนินการชำระหนี้แก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลาย ถ้ากรณีมีเจ้าหนี้ฟ้องคดีอยู่ในชั้นศาล ทางศาลจะหยิบยกขึ้นมาพิจารณาต่อไป

ส่วนคดีที่เจ้าหนี้ได้รับคำพิพากษาแล้วหรืออยู่ระหว่างการบังคับคดีจะดำเนินการบังคับคดีได้ต่อไป เนื่องจากสิทธิที่ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายได้พ้นไปตั้งแต่ศาลล้มละลายมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการแล้ว ขณะเดียวกันผู้ถือกรมธรรม์ที่ต้องการเคลมสินไหมยังคงสามารถยื่นขอเคลมสินไหม แต่ขึ้นอยู่กับสถานะของบริษัทว่า จะจ่ายค่าสินไหมได้หรือจะสามารถเจรจากับเจ้าหนี้ได้แค่ไหน และผู้ถือกรมธรรม์อื่นๆ ยังดำเนินการได้ตามปกติ เพียงแต่ตอนนี้คปภ.มีคำสั่งห้ามรับประกันภัยเพิ่ม

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,950 วันที่ 21 - 23 ธันวาคม พ.ศ. 2566