ในงาน Dinner Talk : Go Thailand 2025 Women Run the World พลังหญิงเปลี่ยนโลก จัดโดยหนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ โดยช่วงที่ 2 เป็นการกล่าวปาฐกถาพิเศษ : Empowering a Woman เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ได้รับเกียรติจากนางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท WHA คอร์เปอเรชั่น จำกัด(มหาชน)กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Vision of Victory : วิสัยทัศน์แห่งชัยชนะ” และดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อบาคัส ดิจิทัล จำกัด กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ Tech for Inclusive Growth : AI แก้ความเลื่อมล้ำ
นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท WHA คอร์เปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า การเติบโตของ WHA Group ช่วง 21 ปีที่ผ่านมา WHA เติบโตจากวิชั่น และมีการวางยุทธศาสตร์ธุรกิจสอดคล้องไปกับ เมกะเทรนด์ของโลก, ภูมิรัฐศาสตร์ และความยั่งยืน ขณะเดียวกันยังเดินหน้าธุรกิจมาด้วยความเชื่อมั่น เห็นโอกาสธุรกิจโลจิสติกส์ไทยจะเติบโต และตลาดทุนมีความสำคัญ
“WHA เติบโตมาทั้งหมด เป็นเพราะความเชื่อมั่นในตัวเอง และเชื่อว่า ไม่มีอะไรทำไม่ได้ ไม่หยุดเรียนรู้ ความรู้มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา Growth mindset สร้างทัศนคติที่ดีขึ้นมา คิดใหญ่ คิดบวก ซึ่งธุรกิจของ WHA เติบโตมาจากการสร้างวิสัยทัศน์ เพราะตั้งแต่อายุ 10 ปี ก็บอกตัวเองแล้วว่า อยากทำธุรกิจ จากวิชั่นก็แปลงเป็นกลยุทธ์”
ทั้งนี้ได้แบ่งช่วงชีวิตออกเป็น 6 ช่วง คือ ช่วงค้นหา ต้องการเป็นอะไร ช่วง 2 เป็นช่วงเดินทาง เพื่อเติมสิ่งที่เราขาดสิ่งที่เราต้องการ ช่วง 3 คือช่วงสร้างฝัน คือช่วงที่เราพร้อมสำหรับการตั้งบริษัทขึ้นมาตั้งแต่อายุ 26 ปี ช่วงที่ 4 คือการสร้างอาณาจักร WHA เกิดขึ้น 22 ปี ช่วงที่ 5 เป็นช่วงเทคโอเวอร์ เราเข้าไปซื้อนิคมอุตสาหกรรมมูลค่า 4.3 หมื่นล้านบาท ช่วงที่ 6 คือช่วงของการคืนสู่สังคม โดยเรื่องนี้สำคัญมาก WHA ดำเนินการมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว
สำหรับปีนี้เป็นปีที่ท้าทาย หลายคนกังวลกับนโยบายทรัมป์ 2.0 มีคำถามมากมายว่าจะเกิดผลกระทบอย่างไรต่อธุรกิจ แต่ส่วนตัวยังคงเชื่อว่าการทำธุรกิจนั้น บนความท้าทาย และข้อกังวลเหล่านี้ยังมีโอกาสอีกมาก อยู่ที่ทุกคนต้องเชื่อมั่นในตัวเอง และมองหาโอกาสต่อสิ่งที่รัฐบาลได้พยายามผลักดันเอาไว้ในช่วงที่ผ่านมา โดยมีการผลักดันการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาจำนวนมาก
“ประเทศไทยยังมีโอกาสอีกมากมาย เราต้องเชื่อมั่นในตัวเอง โดยต่างประเทศย้ายการลงทุนเข้ามาในไทย แสดงให้เห็นว่าเชื่อมั่นศักยภาพการเติบโตของไทย ขณะที่ WHA มองโอกาสที่จะเกิดขึ้นบนความท้าทาย”
อย่างไรก็ตาม WHA ต้องมีการขับเคลื่อนด้วย 3 สร้าง คือ
ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อบาคัส ดิจิทัล จำกัดกล่าวว่า วันนี้เทคโนโลยีแทรกซึมเข้ามาในชีวิตประจำวัน เราอยู่ในจุดเปลี่ยนผ่านที่จะถามตัวเองได้แล้วว่า ความเจริญต่างๆ ที่เราได้ทุกวันนี้นั้น มาช่วยสร้างความมั่งคั่ง ความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจไทยจริงหรือไม่
สำหรับ 2 คำที่เรามักจะใช้เกี่ยวกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ คำแรกคือ คำว่า “ความมั่งคั่งของประเทศ” หรือ Wealth of nations และอีกคำ คือ “ความสำเร็จทางเศรษฐกิจ” หรือ Economic Success ซึ่ง 2 คำนี้มีเส้นบางๆ ห่างกันอยู่เล็กน้อย หากลองนึกถึงประเทศที่เต็มไปด้วยความร่ำรวย แต่คนจำนวนมากยังอยู่ภายใต้ความยากจนอยู่ หรือประเทศที่มีทรัพยากรมหาศาลฝังอยู่ใต้ดิน แต่คนเพียงแค่หยิบมือเดียวของประเทศเขาสามารถจะนำทรัพยากรเหล่านั้นมาใช้ได้
“ฉะนั้นหากถามว่า ประเทศที่มีความมั่งคั่ง แต่ถือว่า ยังไม่ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจนั้น ถูกขวางด้วยเส้นบางๆ ที่เรียกว่า ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงโอกาสในการเข้าถึงความรู้ และทรัพยากร”
ขณะที่ประเทศไทย เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน แต่ความเหลื่อมล้ำต่างๆ ยังสูงมาก หากมองคนรวย 10% ของประเทศเรา มีรายได้รวมเกินครึ่งของจีดีพีทั้งปีของประเทศ ความเหลื่อมล้ำที่มีความแตกต่างกันค่อนข้างมากขนาดนี้มีความไม่เท่าเทียมกันในเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจไทย
สำหรับความท้าทายของโครงสร้างเศรษฐกิจไทยนั้น ทำให้คนไม่สามารถเข้าถึงโอกาสต่างๆได้ เช่น ประสิทธิภาพการผลิตของไทยตกต่ำอย่างเห็นได้ชัด โดยศักยภาพการผลิต ณ วันนี้ต่ำกว่า 7 ปีที่แล้ว ทำให้เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ ส่วนใหญ่ลงทุนด้านแรงงานมากกว่าด้านเทคโนโลยี
ขณะที่ธุรกิจใหญ่มีต้นทุนในการลงทุนเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อขยายศักยภาพของธุรกิจ ความมั่งคั่งจึงยิ่งกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มนายทุน ความเจริญไม่กระจายไปสู่ธุรกิจขนาดเล็กได้
ขณะเดียวกันศักยภาพทักษะของแรงงาน ไม่ตอบโทย์การจ้างงานอีกต่อไป และการเข้าถึงโอกาสทางด้านการเงิน โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่า 45% ของเศรษฐกิจไทยอยู่นอกระบบ คือ ธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถมองเห็นรายได้เกือบครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจ ทำให้กลุ่มคนทำงานที่มีรายได้เป็นเงินสดแทบไม่มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อในระบบ และหันไปพึ่งหาหนี้นอกระบบ
ทั้งนี้ พบว่า 42% ของครัวเรือนไทยยังต้องกู้หนี้นอกระบบอยู่ ซึ่งขนาดหนี้นอกระบบของเมืองไทยมีอยู่ตั้งแต่ 80,000 ล้านบาท จนถึง 2 ล้านล้านบาท ฉะนั้น โอกาสในการเข้าถึงหนี้ในระบบได้จะเป็นตัวช่วยปลดล็อคปัญหาสังคมอื่นๆ ด้วย
อย่างไรก็ตาม วันนี้เริ่มมีความหวัง เพราะเทคโนโลยีสามารถเข้ามาช่วยตอบโจทย์แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้อย่างจริงจัง โดยศักยภาพของเอสเอ็มอีสามารถนำเอไอมาใช้ได้ ขณะที่การเพิ่มทักษะแรงงาน การรีสกิล อัพสกิล สามารถเข้าไปในแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้หาความรู้ทางด้านออนไลน์ ดิจิทัลได้
ด้านโอกาสทางการเงินนั้น พิสูจน์แล้วว่า แพลตฟอร์มดิจิทัล เลนดิ้งสามารถช่วยนำคนจากนอกระบบเข้ามากู้เงินในระบบได้อย่างมีนัยะสำคัญ จากเดิมธนาคารอาจจะใช้ตัวแปร 20-25 ตัว แต่ขณะนี้ใช้ข้อมูลในการปล่อยกู้ประกอบ 1,000-2,000 ตัว จากเดิมใช้ระยะเวลาในการอนุมัติ 1 สัปดาห์ในการปล่อยสินเชื่อ และตอนนี้เพียง 2 นาทีก็สามารถอนุมัติสินเชื่อได้แล้ว
“เทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันสามารถลดปัญหาเชิงโครงสร้างได้ แต่ใช่ว่าเทคโนโลยีทุกอย่างจะนำมาแชร์กัน และทุกคนจะได้ประโยชน์ทุกกลุ่มในสังคม เราพบว่า จริงแล้วเทคโนโลยีที่โตก้าวกระโดดอาจมาทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำอีกด้านหนึ่ง เช่น ผู้ที่มีความรู้ไม่เพียงพอ ไม่เข้าใจ อาจจะเป็นกลุ่มคนที่ถูกผลักออกไป”
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,068 วันที่ 6 - 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568