ตลาดคาดเฟดลดดอกเบี้ย 1.18% ก่อนสิ้นปี

10 ส.ค. 2567 | 04:14 น.
อัพเดตล่าสุด :10 ส.ค. 2567 | 04:14 น.

ตลาดคาดเฟดลดดอกเบี้ย 1.18%ก่อนสิ้นปี หลังสัญญาณเศรษฐกิจไม่ดี ส่งผลตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวนหนัก ดอลลาร์อ่อนค่ากดดันให้เงินสกุลอื่นในภูมิภาคแข็งค่าขึ้น ลุ้นจีดีพีไทยไตรมาส 2 สศช.แถลง 19 ส.ค. วัดเสียงกนง.

KEY

POINTS

  • ตลาดหุ้นทั่วโลกมีความผันผวนสูงในสัปดาห์ที่ผ่านมาเนื่องจากการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจลดอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่คาดไว้ในเดือนกันยายน
  • บาทอ่อนค่าลงหลังจากแข็งค่าที่ 35.23 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับแข็งค่าสุดในรอบ 6 เดือน จากดอลลาร์อ่อนค่าลง แต่การแข็งค่าของเงินบาทอาจจะน้อยกว่าสกุลเงินอื่น ๆ เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ
  • คาดการณ์ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนตุลาคมหรือธันวาคม 2567 หลังจากที่เฟดลดอัตราดอกเบี้ย

 

ตลาดหุ้นทั่วโลกเกิดความโกลาหลในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากตลาดปรับมุมมองต่อธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา(เฟด)ว่า มีโอกาสที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากกว่าที่คาดในเดือนกันยายน  และมุมมองบางส่วนคาดว่า เฟดอาจจะเรียกประชุมพิเศษก่อนกำหนด หลังจากตัวเลขตลาดแรงงานของสหรัฐฯออกมาแย่กว่าที่คาด การประชุมคณะกรรมการนโยบาย(กนง.)ครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 21 สิงหาคม 2567 

ตลาดคาดเฟดลดดอกเบี้ย 1.18% ก่อนสิ้นปี

ขณะที่ค่าเงินบาทกลับมาอ่อนค่าอีกครั้งหลังจากปิดตลาดเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2567 ที่ระดับ 35.23 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าสุดในรอบ 6 เดือน ซึ่งเป็นผลจากดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบสกุลเงินหลัก สอดคล้องการปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ จากความกังวลการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ หลังตัวเลข ว่างงานสูงขึ้นต่อเนื่องและมากกว่าที่ตลาดคาด

ผลตอบแทนดัชนี Nikkei -6% ตั้งแต่ต้นปีจากที่เคย +15% 

นายสงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่าย Investment market Research สายธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคาร กรุงไทยเปิดเผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ความผันผวนในตลาดโลก อย่างเช่น ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ดัชนี Nikkei ตั้งแต่ต้นปีเคยได้ผลตอบแทน 15% แต่ตอนนี้กลายเป็น -6% ส่วนตลาดหุ้นในสหรัฐ ดัชนี NASDAQ  ติดลบ 10%ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะตอนนี้ตลาดคาดการณ์ว่า เฟดจะลดดอกเบี้ย 0.45%ในเดือนกันยายนและลดทั้งสิ้น 1.18%ก่อนสิ้นปีนี้

นายสงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่าย Investment market Research สายธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคาร กรุงไทย

ส่วนแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของไทย น่าจะต้องตามธนาคารกลางในเอเชียลดดอกเบี้ยก่อนเหมือนกับที่ไทยปรับขึ้นดอกเบี้ยช้ากว่าที่อื่น รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2 ปี 2567 ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)จะประกาศออกมาในวันที่ 19 สิงหาคมนี้ 

ขณะเดียวกัน ต้องติดตามตัวเลขเศรษฐกิจจริงและแนวโน้มทั้งปีนี้จะเป็นอย่างไร ซึ่งตัวเลขที่ออกมาอาจจะกำหนดน้ำหนักเสียงของกนง.ด้วยและกนง.น่าจะยกประเด็นเรื่องความผันผวนในตลาดโลกมาหารือด้วย ไม่ว่าเรื่องตลาดหุ้น หรือเรื่องคาดการณ์เฟดจะขยับลดดอกเบี้ยมาเร็วขึ้น

 “มุมมองตลาดเชื่อว่า กนง.จะมีการลดดอกเบี้ยนโยบายเดือนตุลาคม แต่อีกมุมมองเชื่อว่า อาจจะลดเดือนธันวาคม คือกนง.จะลดดอกเบี้ยหลังจากเฟดลดดอกเบี้ยก่อนแล้ว และตลาดมองเฟดจะลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง 3 ครั้งในปีนี้ตั้งแต่เดือนกันยายน ส่วนมุมมองต่อดอกเบี้ยไทยผมคาดว่า จะเริ่มเห็นกนง.มีการปรับลดดอกเบี้ยในต้นปีหน้า”นายสงวนกล่าว  

ส่วนทิศทางต่อค่าเงินนั้น ในวัฎจักรของดอลลาร์ที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงิน รวมทั้งเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น แต่การแข็งค่าของเงินบาทอาจจะแข็งค่าน้อยกว่าสกุลเงินอื่นๆ เพราะยังมีความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศอยู่และช่วงที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาเร็ว ส่วนตัวเข้าใจว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)น่า จะกำลังพยายามดูแลไม่ให้เงินบาทแข็งค่าเร็วจนเกินไป 

ห่วงเศรษฐกิจสหรัฐถดถอย-นโยบายการเงินที่ต่างกัน 

ด้านดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าส่วนงานกลยุทธ์การลงทุนต่างประเทศ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด(มหาชน)กล่าวว่า ประเด็นที่นักลงทุนให้ความสนใจมากตอนนี้คือ เรื่องเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐและเรื่องนโยบายการเงินที่แตกต่างกันระหว่างธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ที่มีโอกาสลดดอกเบี้ยเพิ่มอย่างรวดเร็ว สวนทางกับธนาคารกลางประเทศอื่นๆที่ยังดำเนินนโยบายการเงินเข้มงวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารกลางญี่ปุ่น 

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าส่วนงานกลยุทธ์การลงทุนต่างประเทศ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด(มหาชน)

อย่างไรก็ตาม ต้องรอติดตามผลกระทบจากตลาดหุ้นร่วงหรือเงินเยนแข็งค่าแรงในช่วงที่ผ่านมาว่า มีบริษัทไหนได้รับกระทบมากหรือน้อย เนื่องจากราคาของสินทรัพย์ที่ไปลงทุนปรับตัวลดลงมากกว่าผลตอบแทนที่จะได้รับ โดยเฉพาะธุรกิจเยนแครี่เทรด (กู้เงินเยนดอกเบี้ยต่ำ ไปลงทุนในหุ้นกลุ่ม TECH -AI หรือลงทุนในสกุลเงินต่างประเทศ) ซึ่งน่า จะรู้ผลไม่เกินเดือนสิงหาคมนี้  ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะขาดทุน 2 เด้งทั้งจากราคาสินทรัพย์ร่วงและขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน 

“มุมมองต่อเฟดนั้น คนมองเฟดลดดอกเบี้ยรวม 1.75% ลด 3ครั้งๆ ละ 0.50% ในรอบการประชุมเดือนกันยายน เดือนพฤศจิกายน และจะลดอีก 0.75% ในรอบการประชุมเดือนธันวาคม แต่ส่วนตัวไม่คิดว่า เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยขนาดนั้น ส่วนมุมมองต่อกนง. ถ้าแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อยังมีแรงกดดันต่ำลงจากเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 0.62% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.50%ต่อปี ก็มีโอกาสจะลดดอกเบี้ยได้”ดร.จิติพลกล่าว

ทั้งนี้หากภาพเศรษฐกิจต่างประเทศส่งสัญญาณไม่ค่อยดีนัก หรือหากเศรษฐกิจสหรัฐมีความเสี่ยงจะถดถอย ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยโอกาสที่จะเกิดภาวะถดถอยของจะโลกสูง เพราะฉะนั้น หากภาพเศรษฐกิจชัดเจนว่าไม่ดี เมืองไทยก็ไม่ต้องรอลุ้นว่า ส่งออกจะฟื้นครึ่งปีหลังหรือเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ดี เพราะอาจจะไม่ง่าย 

ด้วยปัจจัยดังกล่าว ส่วนตัวมองว่า โอกาสทีี่กนง.จะลดดอกเบี้ยมากขึ้น โดยเฉพาะตัวเลขเศรษฐกิจจริงไตรมาส 2 ของสศช.ออกมาก่อนประชุมกนง. ซึ่งถ้าสัญญาณเศรษฐกิจไม่ดี เช่น จีดีพีหลังปรับฤดูกาลแล้วไม่ถึง 1.00% หรือทั้งปีไม่เกิน 3.0% มีโอกาสเห็นกนง.ลดดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งถ้าดอกเบี้ยไทยปรับลดก่อนเฟด ก็ไม่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าแรง ถึงสิ้นปีอาจจะเห็นเงินบาทเคลื่อนไหวที่ 35.25 บาทต่อดอลลาร์