คลังแจงไทยอยู่ในภาวะเงินเฟ้อต่ำ ไม่เข้าข่ายเงินฝืด

13 มี.ค. 2567 | 07:16 น.

คลังชี้เศรษฐกิจไทยไม่เข้าข่ายภาวะเงินฝืด ระบุเป็นภาวะ “เงินเฟ้อต่ำ” หลังรัฐอุ้มราคาน้ำมันดีเซล-ค่าไฟ ลดค่าครองชีพประชาชน คาดมี.ค.นี้ เงินเฟ้อติดลบอีก 0.1% กลับมาเป็นบวกในเดือน เม.ย.67

สถานการณ์เงินเฟ้อไทยติดลบต่อเนื่องมา 5 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนต.ค.66 ที่ติดลบ 0.31 %  ขณะที่เดือนพ.ย.66 ติดลบ 0.44 % ส่วนเดือนธ.ค.66 ติดลบ 0.83 % ทั้งนี้ ในปี 67 เดือนม.ค. ติดลบ 1.11 % ถือว่าต่ำสุดในรอบ 35 เดือน และล่าสุด ในเดือนก.พ.2567 ติดลบ 0.77% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้เกิดการจับสัญญาณว่าขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดแล้วหรือไม่

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ได้ระบุถึงสถานการณ์เงินฝืดว่า ตามนิยามของธนาคารกลางยุโรป (ECB) สถานการณ์เงินฝืดต้องเข้าเงื่อนไข 4 ข้อ ได้แก่

  1. อัตราเงินเฟ้อติดลบเป็นเวลา 6 เดือน หรือ 2 ไตรมาส
  2. อัตราเงินเฟ้อติดลบกระจายในหลายๆ หมวดสินค้าและบริการ
  3. การคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะยาว (ปกติดูที่ระยะ 5 ปี) ต่ำกว่าเป้าหมายระยะปานกลางอย่างมีนัย
  4. อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจติดลบ และอัตราว่างงานมีแนวโน้มสูงขึ้น

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)

ทั้งนี้ ในมุมมองของ สศค.นั้น สถานการณ์เงินฝืดของไทย คงต้องประกอบด้วยสถานการณ์ที่เงินเฟ้อทั่วไปติดลบ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจติดลบ และอัตราการว่างงานสูง แต่ปัจจุบัน แม้เงินเฟ้อทั่วไปติดลบ แต่เงินเฟ้อ “พื้นฐาน” ยังไม่ได้ติดลบ

ขณะเดียวกัน สาเหตุที่เงินเฟ้อทั่วไปติดลบ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลเข้าไปช่วยบรรเทาภาระค่าไฟฟ้า และราคาน้ำมัน ประกอบกับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจยังเป็นบวก แม้จะชะลอตัวจากปีที่แล้ว และอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำดังนั้น ยังมองว่าไม่เข้าข่ายเงินฝืด แต่เป็นเงินเฟ้อต่ำมากกว่า

ด้านนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค เดือนก.พ.67 เงินเฟ้อทั่วไปไทย ลดลงมา -0.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่ำกว่าที่สศค.คาดการณ์ ณ เดือนม.ค.67 ที่ -0.6% โดยลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5  จากการลดลงของอาหารสด (เนื้อสัตว์และผักสด) รวมทั้งราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล และค่ากระแสไฟฟ้าตามนโยบายช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ และปัจจัยฐานสูง ทำให้เงินเฟ้อลดลง

คลังแจงไทยอยู่ในภาวะเงินเฟ้อต่ำ ไม่เข้าข่ายเงินฝืด

อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับเดือนก่อนหน้าเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้น 0.22% จากการสูงขึ้นของผลไม้ น้ำมันเบนซิน และแก๊สโซฮอร์ รวมทั้งค่าบริการ อาทิ ค่าโดยสารเครื่องบิน ค่าห้องพักโรงแรม  และค่าบริการล้างรถ เป็นต้น สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่นๆ ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ

“เมื่อดูองค์ประกอบของการเปลี่ยนแปลงเทียบกับช่วยเดียวกันของปีก่อน พบว่า

  • หมวดอาหารสดทำให้เงินเฟ้อลดลง -0.6%
  • ยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิง -0.3%
  • หมวดไฟฟ้าน้ำประปา -0.2%

ขณะที่หมวดอาหารสำเร็จรูป เป็นปัจจัยบวกที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.2% และเมื่อหักอาหารและพลังงานออกแล้ว อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงขยายตัว 0.43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และทรงตัวที่ 0.02% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า”

ทั้งนี้ คาดว่าสถานการณ์เงินเฟ้อทั่วไปจะยังคงติดลบ -0.1% ในเดือนมี.ค.67 และคาดว่าเงินเฟ้อจะกลับมาเป็นบวกในเดือนเม.ย.67 เนื่องจากราคาผักและผลไม้ที่ปรับขึ้นจากภัยแล้ง การปรับขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ และฐานการคำนวนในเดือน เม.ย. 66 ที่ต่ำลง นอกจากนี้ คาดว่าเงินเฟ้อทั่วไป และเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยทั้งไป 67 จะอยู่ที่ 1% และ 1.1% ตามลำดับ

ขณะที่การแถลงภาวะเศรษฐกิจของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ รายงานว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 66 ขยายตัว 1.7% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 1.4% ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 66 ลดลงจากไตรมาสที่ 3 ของปี 66 0.6%  โดยรวมทั้งปี 66 เศรษฐกิจไทย ขยายตัว 1.9% ชะลอตัวลงจากการขยายตัว 2.5% ในปี 65

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 67 คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวในช่วง 2.2 - 3.2% (ค่ากลางการประมาณการที่ 2.7%) จากเดิมที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ประมาณ 3.2% ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา

ทั้งนี้ จากการแถลงภาวะสังคมไทยไตรมาสที่ 4 ของปี 66 และภาพรวม ปี 66 ของสภาพัฒน์ ระบุว่า ไตรมาส 4 ของปี 66 นั้น การจ้างงานปรับตัวดีขึ้น โดยการว่างงานลดลง หรือมีอัตราการว่างงาน 0.81% ขณะที่ภาพรวมปี 66 อัตราการว่างงานอยู่ที่ 0.98%  ส่วนหนี้สินครัวเรือน (ไตรมาส 3 ปี 66) ขยายตัวชะลอลง และความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนปรับลดลง