ธปท.กางแผนหนุนแบงก์-ภาคธุรกิจ ปรับตัวรับโลกธุรกิจสีเขียว

14 ธ.ค. 2566 | 05:35 น.

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กางแผนช่วยสถาบันการเงิน สนับสนุนธุรกิจปรับตัว-เปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจสีเขียว นำร่องปี 2566 เจาะภาคพลังงาน ขนส่ง ส่วนปี 2567 ขยายไปภาคอุตสาหกรรมการผลิต การเกษตร ก่อสร้าง

วันนี้ (14 ธันวาคม 2566) นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงานสัมมนา Sustainability Forum 2024 หัวข้อ Financial Dynamic for Sustainability จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ ว่า ธปท. พร้อมช่วยสถาบันการเงินในไทยสนับสนุนภาคธุรกิจให้สามารถปรับตัวในช่วงการเปลี่ยนผ่านอย่างเห็นผลได้จริง โดยเฉพาะในมิติด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โดยปัจจุบัน ธปท. ต้องการเห็นธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่เริ่มกำหนดแผนและเป้าหมายการช่วยภาคธุรกิจปรับตัวให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยเน้นไปที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีนัยสำคัญต่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย

 

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

 

ทั้งนี้ในปี 2566 ธปท. ได้ร่วมกับหลายภาคส่วนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่ช่วยยกระดับการคำนึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมของสถาบันการเงิน แล้ว 2 เรื่อง โดยเรื่องแรก ธปท.ได้จัดทำหลักปฏิบัติที่ดีหรือมาตรฐานการดำเนินงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของสถาบันการเงิน (Standard Practice) 

โดยออกแนวนโยบายการดำเนินธุรกิจสถาบันการเงินโดยคำนึงถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เพื่อให้สถาบันการเงิน ผนวกปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไปในกระบวนการดำเนินธุรกิจ 

สาระสำคัญของการทำเรื่องนี้ ได้กำหนดโครงสร้างความรับผิดชอบให้กรรมการและผู้บริหารระดับสูงผลักดันในองค์กร พร้อมกำหนดกลยุทธ์ โดยคำนึงถึงความเสี่ยงและโอกาสด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการบริหารความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม แบบต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ รวมไปถึงการเปิดเผยข้อมูล ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล 

ขณะที่ สมาคมธนาคารไทย ได้จัดทำคู่มือปฏิบัติ (Industry Handbook) ที่พัฒนามาช่วยให้ธนาคารพาณิชย์อ้างอิงตัวอย่างแนวทางที่สากลแนะนำและปฏิบัติใช้ รวมทั้งยังระบุกระบวนการที่สำคัญที่สถาบันการเงินควรรีบดำเนินการ โดย ธปท. จะสนับสนุนและติดตามให้สถาบันการเงินมีมาตรฐานการดำเนินการที่เหมาะสมตามระดับความเสี่ยงด้วย

 

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

 

นายรณดล กล่าวว่า เรื่องที่สอง ธปท. ได้จัดทำมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หรือ Taxonomy ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับการกำหนดนิยามความเป็นสีเขียวของทุกภาคส่วนให้เข้าใจและยอมรับตรงกัน เพื่อลดปัญหาการฟอกเขียว โดย ธปท. ร่วมกับสำนักงาน ก.ล.ต. และหน่วยงานต่าง ๆ จัดตั้งคณะทำงาน Thailand Taxonomy เพื่อผลักดันให้มีมาตรฐานกลางที่เหมาะสมกับบริบทของไทย และสอดคล้องกับหลักสากล 

พร้อมทั้งได้เผยแพร่ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 ครอบคลุมภาคพลังงานและภาคขนส่ง แล้วเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2566 โดยตัวชี้วัดของกิจกรรมกลุ่มสีเขียว จะสอดคล้องกับเป้าหมายความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่กำหนดให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ขณะที่ตัวชี้วัดของกิจกรรมกลุ่มสีเหลืองสอดคล้องตามเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ของไทย 

สำหรับ Taxonomy ในระยะถัดไป ธปท. จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขยายการพัฒนาในภาคเศรษฐกิจที่สำคัญอื่น ๆ ทั้ง ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคการเกษตร และภาคการก่อสร้าง ต่อไป

 

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

 

ส่วนในปี 2567 ต้องการเห็นสองเรื่อง เรื่องแรก คือการที่สถาบันการเงินมีผลิตภัณฑ์และบริการที่ตรงความต้องการและเพียงพอสำหรับกลุ่มธุรกิจที่ต้องการปรับตัว (Transition finance product) ในการลงทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่การลดก๊าซเรือนกระจกขององค์กร 

โดยมีตัวชี้วัด และมีการติดตามที่ชัดเจน เช่น สินเชื่อเพื่อความยั่งยืน (Sustainability-linked loan) หรือสินเชื่อสีเขียว (Green loan) ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยหวังว่า สถาบันการเงินจะออกผลิตภัณฑ์สนับสนุนให้ภาคธุรกิจปรับตัวอย่างจับต้องได้ เริ่มจากกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง 

ส่วนอีกเรื่องนั่นคือ การที่สถาบันการเงินเริ่มมีแผนการปรับตัว (Transition plan) ที่ชัดเจนขึ้น และนำไปปฏิบัติได้จริง เพราะเป็นกลไกสำคัญสำหรับทั้งภาคธุรกิจและภาคการเงิน แม้ปัจจุบันจะยังมีคำนิยามที่หลากหลาย แต่มักจะหมายถึงแผนของภาคธุรกิจที่ระบุเป้าหมาย แนวทางดำเนินการ และกรอบเวลา ในการปรับธุรกิจของตนเอง เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก 

สำหรับภาคการเงิน การกำหนด Transition plan ของสถาบันการเงินในระดับสากล ส่วนใหญ่แล้วหมายถึงแผนการลดก๊าซเรือนกระจก ที่เกิดจากธุรกิจการเงินของตนเอง โดย ธปท. อยู่ระหว่างร่วมกันกับธนาคารพาณิชย์โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่ เพื่อให้ธนาคารแต่ละแห่งพัฒนา transition plan สำหรับภาคธุรกิจที่เป็น priority sector ของตนเองอย่างน้อย 1 กลุ่มภายในสิ้นปี 2567 

อย่างไรก็ตามการกำหนด Transition Plan ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับสถาบันการเงินในประเทศไทย ซึ่งการร่วมกันพัฒนา Industry Handbook และการเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากร ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้จากต่างประเทศ ช่วยให้ธนาคารมีแนวปฏิบัติและแหล่งข้อมูลสำหรับอ้างอิง ในการพัฒนา transition plan ของตนเองได้ต่อไป

“การผลักดันและพัฒนาประเทศให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมในระยะข้างหน้า จำเป็นจะต้องให้ความสำคัญกับมิติอื่น ๆ ควบคู่ด้วย โดยเฉพาะมิติด้านการปรับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เช่น การระดมทุนของกองทุนการสูญเสียและความเสียหาย เพื่อรับมือกับ Loss and Damage ที่เกิดขึ้น และการวางแนวทางให้ภาคการเงินเข้ามาสนับสนุน ถือเป็นความท้าทายที่ต้องร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ต่อไป”

 

ธปท.กางแผนหนุนแบงก์-ภาคธุรกิจ ปรับตัวรับโลกธุรกิจสีเขียว