สินเชื่อด้อยคุณภาพ  โจทย์ท้าทายแบงก์ ปี 67

09 ธ.ค. 2566 | 04:55 น.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ สินเชื่อด้อยคุณภาพ ยังเป็นโจทย์ท้าทายแบงก์ปี 67 ลุ้นไตรมาส 4 ทั้งภาคธุรกิจ-รายย่อย เบิกใช้สินเชื่อ หนุนปิดสิ้นปี 66 เติบโตได้ 2.3-2.5% หลัง 10 เดือนปีนี้ โตเพียง 0.2%

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัดเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โจทย์ท้าทายของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ปี 2567 ยังคงเป็นการจัดการกับปัญหาสินเชื่อ
ด้อยคุณภาพ
ทั้งหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) และหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (SM/Stage2) ซึ่งยังไม่สามารถเบาใจได้จนกว่าจะเห็นความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ 

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

นอกจากนั้น ธนาคารพาณิชย์ยังคงต้องเตรียมปรับตัวรับเกณฑ์ต่างๆของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ที่จะทยอยใช้ในปีหน้า อาทิ หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) และมาตรการอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้แผนแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ที่ธปท.จะเร่งดูแลแก้ไขหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt) ในเดือนเมษายน ปี 2567

“ไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ยอดคงค้างและสัดส่วนเอ็นพีแอลของระบบแบงก์ขยับสูงขึ้น แต่สินเชื่อ Stage2 ชะลอลง เข้าใจว่า สินเชื่อบางส่วนมีการไหลจาก Stage2 เป็นเอ็นพีแอล ซึ่งสะท้อนว่า ประเด็นคุณภาพสินเชื่อ ยังคงเป็นเรื่องที่แบงก์ต้องจัดการต่อเนื่อง เพราะกระแสรายรับและรายได้ของลูกหนี้บางส่วน อาจยังไม่กลับมาเป็นปกติ”

สอดคล้องกับภาพรวมของเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวไม่ต่อเนื่อง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทยอยเพิ่มภาระให้กับลูกหนี้ตามจังหวะดอกเบี้ยเงินกู้ที่ทยอยปรับสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้น จะยังคงเห็นแบงก์พยายามจัดการกับคุณภาพหนี้ในเชิงรุกต่อเนื่อง และน่าจะทำให้สัดส่วนเอ็นพีแอลปิดสิ้นปี 2566 ที่ระดับ 2.66-2.68% ของสินเชื่อรวม ลดลงจากสิ้นปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 2.73% และน่าจะปรับตัวในกรอบ 2.60-2.70% ในปีหน้าได้

เงินให้สินเชื่อธนาคารพาณิชย์

ทั้งนี้ที่ผ่านมา ธนาคารมุ่งเน้นการบริหารจัดการหนี้เชิงรุกหลายวิธี ทั้งการตัดขาย ปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ยอดคงค้างเอ็นพีแอล ไตรมาส 3 ปี 2566 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 4.95 แสนล้านบาท คิดเป็น 2.70% ต่อสินเชื่อรวม ขณะที่สัดส่วน SM อยู่ที่ 5.84% ในไตรมาส 3 ปี 2566 ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ 6.08%

อย่างไรก็ตาม แม้ไตรมาส 3 จะเห็นว่า ภาพรวม SM หรือ Stage 2 จะชะลอตัวลง แต่เมื่อแยกรายประเภทสินเชื่อจะเห็นสินเชื่อกลุ่มเช่าซื้อที่มีการดีดตัวเพิ่มขึ้น โดยอาจเป็นได้ว่า การชะลอลงของสินเชื่อ Stage 2 ในภาพรวมนั้น อาจจะเปลี่ยนกลับไปเป็นสินเชื่อปกติ ภายหลังการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หรืออาจมีการด้อยคุณภาพและกลายไปเป็นเอ็นพีแอล 

ส่วนสถานการณ์สินเชื่อช่วง 10 เดือนปี 2566 ภาพรวมสินเชื่อเติบโตเพียง 0.2% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2565 เนื่องจาก มีแรงกดดันของการชำระคืนสินเชื่อของภาครัฐและภาคธุรกิจในช่วงหลายไตรมาสที่ผ่านมา แต่ยังมีลุ้นไตรมาส 4 ซึ่งเป็นไตรมาสที่จะมีการเบิกใช้สินเชื่อทั้งภาคธุรกิจและรายย่อยบางตัวที่จะได้รับอานิสงก์จากปัจจัยเชิงฤดูกาล เพื่อเตรียมสภาพคล่องสำหรับปีหน้า ซึ่งน่าจะทำให้สินเชื่อรวมปรับตัวดีขึ้นมาปิดสิ้นปี 2566 ที่ระดับขยายตัว 2.3-2.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน 

ขณะเดียวกันส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ไตรมาส 4 ยังมีแนวโน้มที่ดี โดย NIM น่าจะปรับขึ้นไปอยู่สูงกว่า 3.30% เพราะยังมีอานิสงส์จากการที่ธปท. ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น ในรอบการประชุมปลายเดือนกันยายน และธนาคารพาณิชย์ในระบบทยอยส่งผ่านการปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนตุลาคม แต่กรอบการปรับขึ้นของ NIM ในปีหน้า น่าจะจำกัด เพราะรอบของการขึ้นดอกเบี้ยจบแล้ว 

นอกจากนี้ยังมองว่า แนวทางที่ธปท.กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เข้าทดสอบในโครงการ Sandbox ของการคิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้หรือ Risk Based Pricing: RBP ในปีหน้านั้น ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่สำหรับธนาคาร ขณะเดียวกันลูกค้าที่มีประวัติทางการเงินที่ดีจะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำในระดับที่เหมาะสม

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,947 วันที่ 10 - 13 ธันวาคม พ.ศ. 2566