คำต่อคำ แถลงการณ์ประชุมเฟดเดือน มิ.ย. 66 "พาวเวลล์"แจงเหตุเบรกขึ้นดอกเบี้ย

15 มิ.ย. 2566 | 01:14 น.

ประธานเฟดชี้แจงเหตุผลการคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิ.ย. เป็นเรื่องจำเป็น เพื่อการประเมินข้อมูลเศรษฐกิจเพิ่มเติมสำหรับการตัดสินใจในอนาคต เชื่อเป็นเรื่องเหมาะสมที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกในปีนี้

 

นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนภายหลังจากคณะกรรมการเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเมื่อวันพุธ (14 มิ.ย.) นอกจากนี้ ยังเปิดเผยการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ซึ่งบ่งชี้ว่า เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% อีก 2 ครั้ง สู่ระดับ 5.50-5.75% ภายในสิ้นปีนี้

ประธานเฟดระบุว่า การที่เฟดตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ถือเป็นสิ่งจำเป็น เพราะจะช่วยให้เฟดมีเวลาในการประเมินข้อมูลเศรษฐกิจเพิ่มเติม และเป็นผลดีต่อการตัดสินใจในอนาคต อย่างไรก็ตาม ทิศทางนโยบายการเงินในวันข้างหน้านั้น กรรมการเฟดเกือบทั้งหมดต่างก็มีมุมมองที่สอดคล้องกันว่า เป็นเรื่องเหมาะสมที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในปีนี้ เพื่อฉุดเงินเฟ้อให้กลับสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2%

"การที่เฟดตัดสินใจเบรกขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ เป็นเพราะกรรมการเฟดต้องการเวลามากขึ้นในการประเมินผลกระทบที่เกิดจากการที่เฟดเริ่มวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค. 2565 รวมทั้งผลกระทบจากการล้มละลายของธนาคาร 3 แห่งในสหรัฐ ว่าจะมีผลต่อกลุ่มผู้บริโภคและภาคธุรกิจอย่างไร" นายพาวเวลล์กล่าว

นอกจากนี้ เขายังได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจของสหรัฐว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจและการจ้างงานยังคงแข็งแกร่งกว่าที่คาดการณ์ไว้ แม้ว่าถูกกดดันจากการที่เฟดดำเนินนโยบายคุมเข้มด้านการเงินเชิงรุกในปีที่แล้ว ซึ่งสภาวะดังกล่าวอาจจะทำให้เฟดต้องใช้เวลานานขึ้นในการฉุดเงินเฟ้อให้ลดลง แต่เฟดจะดำเนินการดังกล่าวอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยไม่ให้เศรษฐกิจได้รับความเสียหาย

"เมื่อพิจารณาจากการดำเนินการที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ ผมคิดว่าเป็นเรื่องเหมาะสมที่เฟดควรจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่จะเป็นการปรับขึ้นในระดับปานกลาง ในขณะเดียวกันผมมองว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในอีก 2 ปีข้างหน้าก็เป็นเรื่องเหมาะสมเช่นกัน แต่ควรจะปรับลดลงเมื่ออัตราเงินเฟ้อส่งสัญญาณชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ" นายพาวเวลล์กล่าว

ถ้อยแถลงของเขาครั้งนี้ สอดคล้องกับรายงาน Dot Plot ซึ่งระบุว่า เจ้าหน้าที่เฟดคาดว่า เฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2567 โดยจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยรวม 1.00% ในปีดังกล่าว ขณะที่การคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยระยะยาวอยู่ที่ระดับ 2.5%

เฟดตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิ.ย.2566 หลังปรับขึ้นดอกเบี้ยมาแล้ว 10 ครั้งติดต่อกัน

และต่อไปนี้เป็น แถลงการณ์การประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เดือนมิ.ย. 2566 แบบคำต่อคำ เนื้อหาระบุว่า 

กิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐขยายตัวขึ้นเล็กน้อย ขณะที่การจ้างงานมีความแข็งแกร่งในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และอัตราว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำ ส่วนอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง

ระบบธนาคารสหรัฐมีความแข็งแกร่ง และมีความยืดหยุ่น โดยภาวะตึงตัวด้านสินเชื่อที่ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนเผชิญอยู่นั้นอาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และเงินเฟ้อ ซึ่งขอบเขตของผลกระทบเหล่านี้ยังคงมีความไม่แน่นอน ขณะเดียวกันคณะกรรมการ FOMC ยังคงให้ความสนใจเรื่องความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อเป็นอย่างมาก

คณะกรรมการ FOMC พยายามหาแนวทางที่จะบรรลุเป้าหมายการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพ และบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ในระยะยาว ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว คณะกรรมการฯ ได้ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.00-5.25% การคงกรอบเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้จะช่วยสามารถประเมินข้อมูลเศรษฐกิจเพิ่มเติมและแนวโน้มนโยบายการเงินในวันข้างหน้า

ในการตัดสินใจว่า เฟดจำเป็นจะต้องดำเนินนโยบายเพิ่มเติมเพื่อให้เงินเฟ้อกลับสู่ระดับ 2% หรือไม่นั้น คณะกรรมการฯ จะพิจารณาถึงการคุมเข้มนโยบายการเงินที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาแล้วหลายครั้ง และพิจารณาถึงระยะเวลาที่นโยบายการเงินจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมทั้งสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและการเงิน

นอกจากนี้ คณะกรรมการจะยังคงปรับลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) ตามที่ได้อธิบายไว้ในแผนการปรับลดขนาดงบดุลบัญชีของเฟด (Plans for Reducing the Size of the Federal Reserve's Balance Sheet) ซึ่งมีการประกาศในช่วงก่อนหน้านี้ โดยคณะกรรมการมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2%

ส่วนการประเมินแนวทางที่เหมาะสมของนโยบายการเงินนั้น คณะกรรมการฯ จะยังคงจับตาข้อมูลแนวโน้มเศรษฐกิจที่จะได้รับในวันข้างหน้า ขณะเดียวกันคณะกรรมการฯ จะเตรียมความพร้อมเพื่อปรับแนวทางนโยบายการเงินตามความเหมาะสม หากพบว่ามีความเสี่ยงที่จะทำให้เฟดไม่สามารถบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ของคณะกรรมการฯ โดยคณะกรรมการฯ จะประเมินข้อมูลในวงกว้าง ซึ่งรวมถึงข้อมูลด้านสาธารณสุข ภาวะตลาดแรงงาน แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และการคาดการณ์เงินเฟ้อ รวมถึงการพิจารณาสถานการณ์ทางการเงิน และสถานการณ์ในต่างประเทศ

สำหรับกรรมการเฟดผู้ที่ออกเสียงสนับสนุนการดำเนินนโยบายการเงินของ FOMC ในการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ เจอโรม เอช พาวเวลล์ ประธานเฟด, จอห์น ซี วิลเลียมส์ รองประธานเฟด, ไมเคิล เอส บาร์, มิเชล ดับเบิลยู โบว์แมน, ลิซา ดี คุก, ออสแทน ดี กูลส์บี, แพทริก ฮาร์เกอร์, ฟิลิป เอ็น เจฟเฟอร์สัน, นีล แคชคารี, โลรี เค โลแกน และคริสโตเฟอร์ เจ วอลเลอร์