ลุ้นตั้งรัฐบาลใหม่ ชี้แนวโน้มฟันด์โฟลว์-ค่าเงิน

22 พ.ค. 2566 | 09:48 น.

กูรูชี้แนวโน้มบาทยังแข็งค่า เตือนธุรกิจปิดเสี่ยง เผย 4 เดือนเงินบาทแข็งค่านำสกุลเงินเอเชีย ลุ้นผลจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ชี้แนวโน้มฟันด์โฟลว์ หลังไหลออกแล้วกว่า 8.52 หมื่นล้าน

การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน เงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าแล้ว 0.7% ล่าสุด 18 พฤษภาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 34.35 บาทต่อดอลลาร์จาก 34.61 บาทต่อดอลลาร์เมื่อสิ้นปี 2565 ขณะที่สกุลเงินเอเชียส่วนใหญ่เปลี่ยนไปในทิศทางอ่อนค่า ทั้งวอน ริงกิต เปโซ เยน ด่องและหยวน ส่วนทิศทางการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) คาดว่า จะยังคงไหลออกโดยขึ้นกับความชัดเจน ในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมาฟันด์โฟลว์ไหลออกสุทธิทั้งหุ้นไทยและพันธบัตร

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมตั้งแต่ต้นปีเงินบาทแข็งค่าขณะที่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง 0.7% ส่วนสกุลเงินเอเชียส่วนใหญ่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เช่น เงินวอนอ่อนค่าลง 5.7% เงินเยนอ่อนค่า 4.3% ริงกิต อ่อนค่า 2.9% เงินหยวน 2.0% เปโซ 0.5% และดอลลาร์ฮ่องกง อ่อนค่าลง 0.3%

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

“ก่อนการเลือกตั้งเงินบาทแข็งค่า ส่วนหนึ่งเพราะมีฟันด์โฟลว์เข้ามาลงทุนในพันธบัตร(บอนด์)ระยะสั้น ประกอบกับตลาดคาดว่า ธนาคารกลางหรือท่าทีของเฟดที่ส่งสัญญาณจะหยุดขึ้นดอกเบี้ยหลังการประชุมรอบล่าสุดเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่หลังผลการเลือกตั้งของไทยออกมา ตลาดเริ่มมองว่า ยังมีความไม่แน่นอนในกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ทำให้นักลงทุนต่างชาติทยอยขายสินทรัพย์ทำกำไรและเห็นเงินบาทอ่อนค่ามาเพียงไม่กี่วันถึงตอนนี้” นางสาวกาญจนากล่าว

อย่างไรก็ตามแนวโน้มเงินบาท ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า จะเคลื่อนไหวที่ระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ หากความไม่แน่นอนทางการเมืองคลี่คลายลง หรือเศรษฐกิจไทยได้รับแรงหนุนจากภาคท่องเที่ยวชัดขึ้น ทำให้แรงกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าจะน้อยลงในครึ่งปีหลัง

สถานะการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ

เช่นเดียวกับทิศทางของฟันด์โฟลว์ในสายตานักลงทุนส่วนใหญ่ยังมองว่า กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ต้องใช้เวลา ดังนั้นจึงเห็นนักลงทุนขายทำกำไรออกไป หลังผลการเลือกตั้งออกมา โดยตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 17 พฤษภาคม ต่างชาติขายสุทธิหุ้นแล้ว 76,086 ล้านบาท และขายสุทธิในพันธบัตร 9,139 ล้านบาท ซึ่งตัวแปรหลักขึ้นอยู่กับภาพการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่ชัดขึ้น ซึ่งจะสะท้อนเศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อได้และแรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยวช่วยให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าในช่วงที่เหลือ

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยกล่าวว่า การแข็งค่าของเงินบาทอาจมีผลในแง่ผู้ประกอบการไม่ปิดความเสี่ยง แต่ผู้นำเข้ามีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (ทำเฮดจจิ้ง) ไปบ้างแล้ว แต่ผู้ส่งออกยังมีลังเลบ้าง ขณะที่การเคลื่อนไหวของค่าเงินยังสลับกัน (ระหว่างแข็งค่าและอ่อนค่า)

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย

ในแง่การแข็งค่าของเงินบาท ส่วนตัวยังเชื่อว่า เงินบาทยังแข็งค่าและคาดว่า ปลายปีจะอยู่ที่ 32 บาทต่อดอลลลาร์ ซึ่งทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่น่าจะมีนโยบายหรือมาตรการใดออกมา เพราะขณะนี้เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณที่ดีขึ้น เงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลง

แต่มองว่า ธปท.อาจจะมุ่งไปที่ศักยภาพสถาบันการเงิน ปัญหาหนี้ของภาคเอกชนและหนี้ครัวเรือน เพราะมีบทเรียนจากต่างประเทศที่ปรับดอกเบี้ยขึ้นแล้ว เกิดการกดดันต่อต้นทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องจับตาว่า ธปท.จะมีมาตรการใดออกมาเพิ่มเติม

สำหรับภาพรวมที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่านำสกุลเงินต่างๆ โดยเกาหลีใต้มีความชัดเจนจากผลกระทบจากการส่งออก (เทคโนโลยี,อิเลคทรอนิกส์)ชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลกและหุ้นกลุ่มเทค ซึ่งกดดันต่อค่าเงินวอน

ส่วนเงินเยน เป็นการอ่อนค่าจากการดำเนินนโยบายการเงินที่ยังผ่อนคลาย (ทำให้ดอกเบี้ยติดลบและทำมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือ QE) เมื่อเทียบสหรัฐที่หยุดขึ้นดอกเบี้ยแล้ว หากแนวโน้มสกุลเงินดอลลาร์ค่อยๆ อ่อนค่า ก็จะลดแรงกดดันต่อเงินเยน คาดว่าเงินเยนใกล้ถึงจุดกลับตัวจากการอ่อนค่าในอนาคต

“มองว่าไตรมาส2 ปีนี้ เมื่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่นดีขึ้นและเงินเฟ้อสูงขึ้น อาจจะเห็นธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินที่เข้มงวดได้หรือปรับขึ้นดอกเบี้ย เพราะฉะนั้นแนวโน้มเงินเยนควรจะแข็งค่าในระดับหนึ่ง”

นอกจากนี้ ความเสี่ยงระยะสั้นคือ การเมืองสหรัฐประเด็นเพดานหนี้ หากปลายปีเศรษฐกิจสหรัฐฯถดถอยมีโอกาสเห็นคนอยากถือเงินเยนเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยอาจจะช่วยค่าเงินเยน 

ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน สปป.ลาวเศรษฐกิจไม่ดีมาก แต่ปัจจัยภายนอกทั้งสัญญาณเฟดจะหยุดขึ้นดอกเบี้ยและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะกลับมาฟื้นตัวอาจจะช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินกีบ แต่สปป.ลาว ยังมีประเด็นด้านการคลัง รัฐบาลมีหนี้สินค่อนข้างมาก เนื่องจากการใช้เงินกู้มาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานช่วงที่ผ่านมา

“แนวโน้มเงินบาทโอกาสแข็งค่าต่อเนื่อง จากปัจจัยพื้นฐานที่ดี และที่ผ่านมามีโฟลว์ทองคำด้วย ส่วนประเด็นการเมืองหรือผลการจัดตั้งรัฐบาลนั้น จะมีผลต่อฟันด์โฟลว์ จากที่ผ่านมาต่างชาติขายสุทธิทั้งหุ้นและบอนด์ เพราะฉะนั้นโอกาสนักลงทุนต่างชาติจะเข้าซื้อหุ้นนั้น การเมืองต้องนิ่ง แต่หากจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ ก็จะเห็นฟันด์โฟลว์ไหลออก”นายพูนกล่าว

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ ฟ3,889 วันที่ 21 - 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2566