BKI จ่อเพิ่ม เบี้ยประกันสุขภาพ รับความเสี่ยงที่สูงขึ้น

12 เม.ย. 2566 | 07:03 น.

กรุงเทพประกันภัยลั่น Moral Hazard Claim เป็นปัจจัยเสนอความคุ้มครอง-คำนวณเบี้ยในระยะข้างหน้า หลังจ่ายเคลม โควิดกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท เล็งปรับเพิ่มเบี้ยประกันสุขภาพ รับความเสี่ยงที่ไม่สามารถยกเลิกความคุ้มครองก่อน 70 ปี ตามข้อกำหนดคปภ.

ปี 2565 แม้จะสิ้นสุดการจ่ายเคลมสินไหมทดแทนของประกันภัยโควิด-19 ซึ่งสูงถึง 1 แสนล้านบาทเมื่อเทียบกับปี 2564 อยู่ที่ 40,000 ล้านบาท  ส่งผลให้ 4 บริษัทประกันภัยต้องปิดกิจการและอีก 1 บริษัทอยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ  ซึ่งบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BKI เป็นหนึ่งในหลายบริษัทที่บาดเจ็บจากสเก็ดการจ่ายเคลมสินไหม เจอจ่ายจบ ในรอบ 2ปีที่ผ่านมา

นายชัย โสภณพนิช ประธานกรรมการ BKI เปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า  ปี 2564-2565 BKI จ่ายเคลมสินไหมเฉพาะประกันโควิด 1.2 หมื่นล้านบาทถือว่า ความเสียหายน้อยกว่าหลายบริษัท เนื่องจากประกันโควิด มีความคุ้มครองต่อราย 1-2 แสนบาท และบริษัทมีการทำประกันภัยต่อประมาณ 15% และหากเทียบกับปี 2554 ที่เกิดอุทกภัย บริษัททำประกันภัยต่อในสัดส่วนถึง 80%

นายชัย โสภณพนิช ประธานกรรมการ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน)

จึงส่งผลให้ BKI มีอัตราความเสียหายเพิ่มขึ้น 37.4% เป็นความเสียหาย 109.5% สูงกว่าปี 2564 อยู่ที่72.1% ซึ่งเป็นผลจากค่าสินไหมทดแทนที่เพิ่มขึ้นจากการรับประกันภัยโควิด-19 ส่งให้ค่าสินไหมจากการรับประกันภัยเบ็ดเตล็ดเพิ่มจาก 114.5% เป็น 227.6% ขณะที่เบี้ยประกันภัยรับสุทธิและเบี้ยประกันภัยที่ถือเป็นรายได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.9% และ 5.4% ตามลำดับ

“ต้องยอมรับว่า ความเสียหายจากโควิด ทำให้เราต้องมีการประเมินความเสี่ยงในการรับประกันภัยในอนาคต ถ้าไม่มีข้อมูลที่จะใช้วัดความคุ้มครองและคำนวณเบี้ยประกันภัย บริษัทไม่ควรจะรับประกันภัย”นายชัยกล่าว

BKI จ่อเพิ่ม  เบี้ยประกันสุขภาพ รับความเสี่ยงที่สูงขึ้น

ส่วนแนวโน้มการลงทุน BKI จะเข้าไปลงทุนถือหุ้นเฉพาะธุรกิจประกันภัย ซึ่งจะทำให้เบี้ยประกันภัยใหญ่เป็นอันดับ 3  โดยที่ผ่านมาได้เข้าไปลงทุนถือหุ้นในบริษัทต่างประเทศคือ บริษัท เอเซียนอินชัวรันส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (โฮลดิ้ง)สัดส่วน 41.70% บริษัทกรุงเทพประกันภัย(สปป.ลาว) 38% บมจ.เอเชียอินชัวรันส์(กัมพูชา)22.92% และบริษัทพีที เอเชียน อินเตอร์เนชั่นแนล อินเวสอินโด สัดส่วน 19%

ขณะเดียวกันบริษัทต้องพยายามรักษาตำแหน่งทั้งอัตราเบี้ยประกันภัยและรักษาความสามารถในการทำกำไร 10-15% ต่อปีและสามารถจ่ายเงินปันผลเหมือนที่ผ่านมาประมาณ 50% ของกำไรสุทธิ 

ด้านนายอภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BKI กล่าวเพิ่มเติมว่า การรับประกันภัยหลังจากนี้ต้องให้น้ำหนักเกี่ยวกับการมีฐานข้อมูลและสามารถสะท้อนความเสี่ยงที่มากพอ และคำนึงถึง Moral Hazard Claim ที่บริษัทจะต้องใส่เป็นปัจจัยหลักในการพิจารณาเสนอความคุ้มครองและคำนวณเบี้ยประกันภัยด้วย

นายอภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BKI

“สิ่งแรกที่โควิดสอนเราคือ การรับประกันภัยบนประเภทของงานประกันภัยที่ขาดข้อมูล เป็นพื้นฐานในการคำนวณเบี้ยประกันภัย ยังถือว่า เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเข้าไปทำให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีก เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง” นายอภิสิทธิ์กล่าว 

นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า การรับประกันภัยโควิด-19 เฟสแรกที่เกิดจาก “อู่ฮั่น” ราวเดือนกุมภาพันธ์ปี 2563 อัตราความเสียหายหรือ Loss ratio อยู่ที่กว่า 10% ทุกคนมีกำไร แต่หลังจากนั้นอุตสาหรรมประกันภัยขยาย/เพิ่มการรับประกันภัย พอเจอเชื้อกลายพันธุ์เป็น “เดลต้า-อัลฟ่า” ตรงนั้นแหละกลายเป็น “ขาดทุนมาก” แต่ยังไม่หนัก ถัดมาเชื้อกลายพันธุ์เป็น “โอมิครอน” หลายบริษัทขาดทุนหนัก โดยทั้งอุตสาหกรรมจ่ายเคลม 1.6 แสนล้านบาท

“เราไม่ได้คำนึงถึงความเสี่ยงในเชิง Moral Hazard เพราะฉะนั้นบางบริษัทจึงขาดทุนย่อยยับจากการรับประกันภัยโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน เพราะเป็นสายพันธุ์ที่เชื่ออ่อน ติดเชื้อง่าย แต่ไม่ตาย ส่วนหนึ่งเพราะคนได้รับวัคซีนแล้ว คนส่วนหนึ่งยอมติดเชื้อ เพื่อจะเอาประกัน จริงๆเป็นการฉ้อฉล แต่อุตสาหกรรมไม่ได้คิดถึงและไม่ได้ใส่เป็นปัจจัยประเมิรความเสี่ยง และเป็นกรมธรรม์แบบเจอจ่ายจบจึงทำให้จ่ายเคลมสูง”นายอภิสิทธิ์กล่าว

ทั้งนี้การบริหารธุรกิจประกันภัย หัวใจหลักต้องสร้างกำไรจากการรับประกันภัยเป็นหลักใหญ่ แต่ผลลัพธ์รวมจะมีสองด้านในสถานการณ์ปกติคือ ส่วนใหญ่กำไรจากรับประกันภัยจะมีสัดส่วน 60% และกำไรจากการลงทุนอีก 40% อีกหลักการคือ ต้องมีผลประกอบการอย่างน้อย 50;50 แต่ถ้าจะให้ดีกำไรจากการรับประกันภัยต้องเหนือกำไรจากการลงทุน

สำหรับปีนี้จากเป้าเบี้ยรับ 30,000 ล้านบาท เติบโตไม่น้อยกว่า 8% ซึ่งควรมีกำไรจากการรับประกันภัย 12% แต่ยังมีความเปราะบางจากสถานการณ์ที่ยังมองไม่เห็น เช่น ภัยธรรมชาติ อย่างปีที่มีีสึนามิ ปีน้ำท่วมใหญ่ ตอนนั้นกำไรจากการรับประกันภัยจะมีความเปราะบาง

นอกจากนั้นตลาดโลกพยากรณ์ว่า การรับประกันภัยสุขภาพมีความเปราะบางมากขึ้น เนื่องจากผลกระทบภาวะการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งนักวิทยาศาสตร์หลายคนมีความกังวลใจผลกระทบต่อหลอดเลือดของผู้ได้รับวัคซีน แม้ไม่ใช่ทุกคน แต่มีความเปราะบางต่อการติดเชื้อและเกิดโรคอื่นๆ เพราะฉะนั้นแนวโน้มการรับประกันภัยสุขภาพ จึงมีความเสี่ยงทั้งตลาดบ้านเราและตลาดโลก

“โรคภัยไข้เจ็บเป็นความกังวลทั่วไปรวมทั้งเมืองไทย ซึ่งบริษัทอาจจะปรับเพิ่มเบี้ย เพื่อรองรับความเสี่ยงที่ไม่สามารถยกเลิกความคุ้มครองตามข้อกำหนดของคปภ.เรื่องห้ามยกเลิกความคุ้มครองสำหรับผู้ซื้อประกันจะต้องต่ออายุไปจนถึง 70 ปี ซึ่งเป็นความเสี่ยง” นายอภิสิทธิ์กล่าวทิ้งท้าย

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,877 วันที่ 9 - 12 เมษายน พ.ศ. 2566