อินไซต์ SVB : เปิดข้อมูล พบปล่อยกู้คนวงในกว่า 7พันล้านก่อนแบงก์ล้ม

22 มี.ค. 2566 | 11:43 น.

หน่วยงานสหรัฐพบข้อมูลใหม่ ระบุก่อนการล้มละลายของซิลิคอนวัลเลย์ แบงก์ (SVB) ธนาคารได้ปล่อยกู้แก่คนวงใน (Insiders) ถึง 219 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 7.5พันล้านบาท

 

ข้อมูลที่รวบรวมโดย หน่วยงานรัฐบาลสหรัฐ พบว่า ในช่วงที่กิจการของ ธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) เริ่มถดถอยลงเมื่อปลายปี 2565 หน่วยงานกำกับดูแลได้เข้ามาตรวจสอบเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยง ซึ่งพบว่า SVB ได้เปิดช่องทางการปล่อยกู้ ให้กับ “กลุ่มบุคคล” เป็นเงินสูงถึง 219 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า 7,500 ล้านบาท

โดยกลุ่มบุคคลดังกล่าว หน่วยงานสหรัฐระบุว่า คือ คนวงใน (Insiders) ซึ่งประกอบไปด้วยบรรดาเจ้าหน้าที่ ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นหลัก และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของธนาคาร SVB

ข้อมูลดังกล่าวระบุว่า ในไตรมาส 4/2565  SVB ได้ปล่อยให้กู้ให้กับคนวงในกลุ่มนี้จำนวนถึง 219 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า 7,529 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าในไตรมาส 3/2565 กว่า 3 เท่า

 

ก่อนธนาคาร SVB ล้มละลาย ได้มีการปล่อยให้กู้ให้กับคนวงใน (insider) จำนวนถึง 219 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

การปล่อยเงินกู้ให้แก่กลุ่มบุคคลวงใน ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นนี้ อาจนำไปสู่การตรวจสอบหาข้อเท็จจริง ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และสภาคองเกรส กำลังสืบสวนเพื่อหาสาเหตุการล้มละลายของ SVB ซึ่งถือเป็นการล่มสลายของธนาคารสหรัฐครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 10 ปี

โดยธนาคาร SVB ล้มละลายลงหลังจากบรรดานักลงทุนและผู้ฝากเงินแห่ถอนเงินออกจากธนาคารจำนวน 42,000 ล้านดอลลาร์ภายในวันเดียว ประกอบกับการที่ SVB ล้มเหลวในการระดมเงินทุนเพื่อพยุงสถานะการเงินของธนาคาร (อ่านเพิ่มเติม:  หวั่นการล่มสลายของ SVB กลายเป็นโดมิโนตลาดการเงินสหรัฐ)

โฆษกของเฟดซึ่งดูแลธนาคาร SVB ก่อนที่จะล่มสลาย เปิดเผยว่า เฟดจะดำเนินการทางกฎหมายหรือส่งเรื่องไปให้หน่วยงานกำกับดูแลอื่น ๆ หากตรวจพบปัญหาเกี่ยวกับการปล่อยเงินกู้ดังกล่าว

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ก่อนที่หน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐจะเข้าควบคุมกิจการของ SVB เมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมานั้น SVB ถือเป็นธนาคารที่มีชื่อเสียงในฐานะผู้ปล่อยกู้ให้กับบริษัทเทคโนโลยี บริษัทร่วมทุน และบริษัทสตาร์ทอัพ แต่การที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงรุกในปีที่แล้วได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อ SVB เนื่องจากการขึ้นดอกเบี้ยทำให้ต้นทุนการกู้ยืมของธุรกิจต่าง ๆ ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจสตาร์ตอัพ และบริษัทเทคโนโลยีที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ของ SVB

นอกจากนี้ การที่ลูกค้าแห่ถอนเงินฝากยังทำให้ SVB ต้องเพิ่มทุนด้วยการขายพันธบัตรรัฐบาลที่ถือไว้ แต่ราคาพันธบัตรก็ปรับตัวลงสวนทางกับดอกเบี้ยที่พุ่งขึ้นตามนโยบายเฟด จึงทำให้ SVB ต้องขายพันธบัตรในราคาต่ำกว่าราคาหน้าตั๋ว ซึ่งทำให้การระดมทุนไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และทำให้ธนาคารต้องล้มละลายในที่สุด

ภายใต้กฎระเบียบของรัฐบาลกลางสหรัฐที่กำหนดขึ้นเพื่อป้องกันมิให้ผู้บริหารธนาคารได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษนั้น ธนาคารจะได้รับอนุญาตให้ปล่อยกู้แก่บุคคลภายในได้ ก็ต่อเมื่อบุคคลเหล่านั้นได้รับเงื่อนไขเช่นเดียวกับลูกค้าทั่วไปเท่านั้น