“อาคม” ชี้รัฐบาลรักษาการยังหนุนเศรษฐกิจเดินหน้าได้

22 มี.ค. 2566 | 09:27 น.

รมว.คลัง ชี้รัฐบาลรักษาการยังเคลื่อนเศรษฐกิจเดินหน้าได้ คาดจีดีพีปี 66 โตได้ สูงสุด 4% ระบุความเสี่ยงไทยเกิดจากเศรษฐกิจโลก กระทบส่งออกติดลบ ส่วนกรณีปิดแบงก์สหรัฐ ยันไม่กระทบไทย พบมีการทำธุรกรรมเพียง 2 ล้านบาท

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาพิเศษประจำปี 2566 TEA Annual Forum 2023 ถึงเวลา! ก้าวสู่ทรงใหม่ไทยแลนด์ ว่า กรณีที่เอกชนมองว่า ภายใต้รัฐบาลรักษาการจะเกิดสุญญากาศทางการเมืองกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจนั้น มองว่า ภาคธุรกิจยังต้องเดินหน้าต่อไปได้ เพราะเศรษฐกิจหยุดเดินไม่ได้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ขณะที่ในส่วนของภาครัฐเองก็มีโครงการที่ยังเดินต่อ เช่น เราเที่ยวด้วยกัน ลดภาษีน้ำมันดีเซลถึงเดือนส.ค.นี้ และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐก็เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ส่วนการใช้จ่ายงบประมาณนั้น หากยังอยู่ในกรอบวงเงินเดิมก็สามารถใช้จ่ายได้ ยกเว้น การใช้จ่ายที่เป็นโครงการใหม่ จะต้องรอรัฐบาลใหม่มาพิจารณา

“ในส่วนนโยบายการคลังในช่วงรัฐบาลรักษาการนั้น ถ้าจำเป็นต้องเสนออะไรก็ทำได้ แต่ต้องมีเงื่อนไขไม่ผูกพันในรัฐบาลต่อไป และไม่ผูกพันในนโยบายรัฐบาลต่อไป”นายอาคมกล่าว

อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยตอนนี้เป็นปัจจัยภายนอก คือ ภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 ต่อเนื่องมาม.ค.ปีนี้ ที่ติดลบต่อเนื่อง ดังนั้น ไทยต้องหาตลาดใหม่ โดยเฉพาะอาเซียน

ส่วนเรื่องค่าเงินบาท เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเกิดความผันผวน ซึ่งมาจากปัจจัยภายนอก รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะพิจารณาการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปลายสัปดาห์นี้

“เราก็ต้องติดตามอัตราแลกเปลี่ยนของเราจะเป็นอย่างไร ซึ่งค่าเงินบาทของเราก็มีทั้งอ่อนและแข็งเกินไป แต่เรามองว่า ปัจจุบันยังอยู่ที่เคยแข็งค่าระดับ 32-33 บาทต่อดอลลาร์  แต่ระดับดังกล่าวนั้น ถือว่า แข็งกว่าปลายปีที่แล้ว”นายอาคมกล่าว

ส่วนกรณีการปิดธนาคารในสหรัฐ 2 แห่ง และการเทคโอเวอร์กิจการธนาคารในสวิสเซอร์แลนด์นั้น ได้มีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้วว่า เรามีธุรกรรม หรือการลงุทนในธนาคารดังกล่าวน้อย หรือ 2 ล้านบาทเท่านั้น ดังนั้น จึงไม่มีปัญหาต่อระบบธนาคารไทย ซึ่งธปท. ได้ยืนยันออกมาแล้ว

นอกจากนี้ ระบบการกำกับดูแลสถาบันการเงินของไทยหลังจากปี 2540 ก็มีความเข้มงวด ทำให้ไทยมีมาตรฐานเข้มแข็ง ซึ่งมีระบบการค้ำประกันเงินฝาก เงินสำรอง บีไอเอสยังสูงกว่ามาตรฐาน หนี้เสียกว่า 2% ดังนั้น สถาบันการเงินยังแข็งแรง

ทั้งนี้ ยังมองว่าปีนี้ เศรษฐกิจไทยจะโตได้ 3-4% และหากถามว่า จะโตได้อีกหรือไม่นั้น จะต้องมีเรื่องการลงทุนเข้ามาเพิ่ม โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐต้องลงทุนต่อ ส่วนการลงทุนภาคเอกชนนั้น ในปีก่อนโตได้ 6% แต่ภาครัฐยังโตไม่มาก แต่ก็ต้องเร่งรัดให้มีการใช้จ่ายงบตลอดเวลา

อย่างไรก็ดี ต้องจับตา 3 ปัจจัยเสี่ยงที่กระทบ คือ

  • เรื่องภูมิรัฐศาสตร์ที่กระทบต่อเศรษฐกิจโลก
  • เศรษฐกิจโลกที่กระทบต่อการส่งออก
  • ความเสี่ยงของธุรกิจสถาบันการเงิน

ทั้งนี้ หากถามว่าทิศทางเศรษฐกิจจะต้องเดินไปทางไหน มีอยู่ 5 เรื่อง คือ

  1. นโยบายการเงินการคลังต้อสอดประสาน เน้นการเติบโตยั่งยืนและมีเสถียรภาพ โดยต้องดูเงินเฟ้อกับอัตราการว่างงาน สำหรับการว่างงานเดือนม.ค.อยู่ที่ 1% แต่ต้องจับการเคลื่อนย้ายแรงงานที่โควิดปรับจากภาคอุตสาหกรรมไปยังภาคเกษตร
  2. โมเดลเศรษฐกิจใหม่ โดยอีอีซีเป็นตัวชูโรง และ 12 อุตสาหกรรมใหม่ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ การลงทุนในดิจิทัล ซึ่งรัฐบาลที่ผ่านมา มีการดึงบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกทีเกี่ยวกับดาต้าเซ็นเตอร์เข้ามาลงทุนได้ ขณะเดียวกัน ไทยก็ต้องมีมาตรการจูงใจ ทั้งเรื่องของภาษี วีซ่า และ ความมั่นคงของพลังงาน
  3. การเปลี่ยนพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด ที่ผ่านมา หารือสถาบันการเงินระหว่างประเทศให้เข้ามาซัพพอร์ตเรื่องการเงินเพื่อลงทุนในโซล่าเซล
  4. นโยบายคาร์บอนเครดิตเพื่อช่วยลดโลกร้อน
  5. การปรับโครงสร้างรายได้ ซึ่งต้องหารายได้เข้าเพิ่ม ส่วนรายจ่ายนั้น ต้องดูความคุ้มค่าของงบประมาณ โดยเฉพาะการลงทุนต้องหันไปลงทุนเรื่องทรัพยากรมนุษย์กับการศึกษาพัฒนาทักษะแรงงาน จากเดิมที่เน้นลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบสาธารณูปโภค