การแพทย์จีโนมิกส์ จะนำไทยสู่ Medical Hub เต็มรูปแบบ

12 ก.พ. 2566 | 12:45 น.

ศูนย์วิจัยกรุงไทยชี้ การยกระดับ สนับสนุนการแพทย์จีโนมิกส์ จะช่วยหนุนไทยสู่เป้าหมาย Medical Hub เต็มรูปแบบ สร้างรายได้ให้ประเทศเพิ่มขึ้นเกือบ 6 หมื่นล้านบาทต่อปี

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทยเปิดเผยว่า อุตสาหกรรมการแพทย์มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยจากมูลค่าปัจจุบันประมาณ 2 แสนกว่าล้านบาท การยกระดับและสนับสนุนด้านการแพทย์จีโนมิกส์ของไทย จะเสริมศักยภาพและความพร้อมด้านการบริการทางการแพทย์

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย

ที่เป็นจุดเด่นสำคัญและมีความพร้อมมากที่สุดที่จะช่วยส่งเสริมและเร่งสปีดให้ไทยก้าวขึ้นเป็น Medical Hub ในระดับโลก และแถวหน้าของเอเชียได้ไม่ยากนัก และยังสามารถช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดการแพทย์จีโนมิกส์ทั่วโลกที่คาดว่า จะมีมูลค่าสูงถึง 1.12 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตเฉลี่ย 17.9% ต่อปี ในช่วง 10 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ เนื่องจากการแพทย์จีโนมิกส์ก่อให้เกิดการแพทย์มูลค่าสูง และยังเป็นหมุดหมายสำคัญที่จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง ตามแผน BCG Model อีกด้วย

นางสาวสุจิตรา อันโน นักวิเคราะห์ กล่าวว่า การแพทย์จีโนมิกส์เป็นเมกะเทรนด์ระดับโลกที่จะเข้ามาพลิกโฉมวงการการแพทย์ทั่วโลกและจะมีบทบาทสำคัญที่เข้ามาช่วยยกระดับและเติมเต็มอุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยให้ทัดเทียมนานาชาติ เนื่องจากการแพทย์จีโนมิกส์ได้ก่อให้เกิดการแพทย์มูลค่าสูง (HighValue Medical) ในหลายมิติ

นางสาวสุจิตรา อันโน นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย กรุงไทย

อีกทั้งยังตอบโจทย์และเป็นทางออกในการรักษาโรคหายากที่ส่วนใหญ่จะเป็นโรคที่เกิดจากควมผิดปกติทางพันธุกรรม และโรคชับซ้อน โดยเฉพาะโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญในการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ 

Krungthai COMPASS มองว่า การยกระดับเทรนด์การแพทย์ที่มาพร้อมกับความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยอย่างการแพทย์โนมิกส์ของไทย จะช่วยเน้นย้ำเรื่องศักยภาพและความพร้อมด้านการบริการทางการแพทย์ และก้าวสู่การเป็น World ClassMedical Service Hub แถวหน้าของเอเชีย จากการมีเทคโนโลยีการแพทย์ขั้นสูงไว้บริการเทียบชั้นนานาชาติ

การแพทย์จีโนมิกส์ จะนำไทยสู่ Medical Hub เต็มรูปแบบ

  • ทั้งนี้ จากการที่รัฐบาลได้เร่งผลักดันการแพทย์จีโนมิกส์อย่างเป็นรูปธรรมตามแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย (พ.ศ. 2563-2567) ภายใต้ โครงการ Genomics Thailand ที่มุ่งพัฒนาการวิจัยด้านการแพทย์จีโนมิกส์ ใน 5 กลุ่มโรค ได้แก่
  • กลุ่มโรคมะเร็ง
  • โรคหายาก
  • โรคติดเชื้อ
  •  โรคไม่ติดต่อ
  • กลุ่มผู้ป่วยแพ้ยา 

ผนวกกับการลงทุนของภาคเอกชนรายใหญ่ที่เป็นผู้นำด้านการบริการสุขภาพ คาดว่า จะส่งผลให้มูลค่าตลาดการแพทย์จีโนมิกส์ของไทยขึ้นไปแตะระดับ 1.70 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 6.0 หมื่นล้านบาท ในปี 2573 เติบโตเฉลี่ยปีละ 16.4% เพิ่มขึ้นจากปี 2564 เกือบ 4 เท่า 

“ปัจจุบันรัฐบาลหลายประเทศได้เล็งเห็นความสำคัญของการถอดรหัสพันธุกรรม และการยกระดับการแพทย์สู่การแพทย์จีโนมิกส์ โดยได้สนับสนุนด้านเงินลงทุนในการจ้างวิจัยถอดรหัสพันธุกรรมและจัดตั้งหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบด้านการบริหารจัดการแผนงานโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์”

ดังนั้น เพื่อให้ประเทศไทยสามารถยกระดับอุตสาหกรรมการแพทย์ให้ทัดเทียมนานาชาติจึงต้องเร่งสนับสนุนการแพทย์จีโนมิกส์ในประเทศตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ยังเป็นอีกหนึ่งความหวังของประชาชนคนไทยที่จะสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลด้วยการแพทย์จีโนมิกส์ได้ง่ายขึ้น