คนตัวเล็กเฮ EXIM BANK จัดให้ดอกเบี้ยเงินกู้เท่าเจ้าสัว

25 ม.ค. 2566 | 22:00 น.

EXIM BANK ลุยช่วยคนตัวเล็ก ดันสินเชื่อซัพพลายเชน สร้างโอกาสเอสเอ็มอีไทยรับดอกเบี้ยอัตราเดียวกับเจ้าสัว พร้อมออกสินเชื่อดอกเบี้ย 2% แลกเงื่อนไข SMEs ซื้อเทคโนโลยีปรับปรุงการผลิต

ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) จะเข้มแข็งได้ นอกจากเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบการผ่านกลไกลต่างๆ แล้ว ก็ควรจะได้รับต้นทุนที่ไม่สูงเกินควรด้วย เพื่อให้เอสเอ็มอีสามารถอยู่รอดได้ เพราะหากเอสเอ็มอีไทยสามารถมีเปอร์เซ็นต์อยู่รอดและเติบโตได้มากขึ้นเท่าไร ก็หมายถึงเศรษฐกิจไทยที่เจริญเติบโตและเข้มแข็งไปด้วยเช่นกัน

  • ผุดโปรแกรมช่วยคนตัวเล็ก

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(EXIM BANK) จึงได้จัดทำสินเชื่อเครือข่ายธุรกิจครบวงจร (EXIM Supply Chain Financing Solution) ซึ่่งเป็นสินเชืื่อหมุนเวียนหลังการส่งมอบสินค้าของผู้ประกอบการ (Supplier) และเป็นบริการเพื่อใช้ในการชำระค่าสินค้า เรียกเก็บค่าสินค้ากับผู้ค้ารายใหญ่ (Sponsor) ผ่านทางระบบ SCF Platform  โดยที่ซัพพลายเออร์มีโอกาสที่จะได้รับอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงตามดอกเบี้ยของผู้ค้ารายใหญ่ สามารถกู้ได้สูงสุดไม่เกิน 25% ของยอดขายรวมปีล่าสุดของผู้ค้ารายใหญ่

คนตัวเล็กเฮ EXIM BANK จัดให้ดอกเบี้ยเงินกู้เท่าเจ้าสัว

ทั้งนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นซัพพลายเออร์ ไม่ต้องมีหลักทรัพย์คํ้าประกัน ใช้เพียง Invoice ยื่นผ่านระบบธุรกรรมออนไลน์ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยตํ่าได้สะดวกขึ้น โดยอ้างอิงเครดิตที่แข็งแกร่งของผู้ประกอบการรายใหญ่ รวมทั้งเข้าถึงโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจและโอกาสเติบโตไปด้วยกันกับซัพพลายเชนของผู้ส่งออกในตลาดโลก

  • SMEs รับดอกเบี้ยเท่าเจ้าสัว

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(EXIM BANK)หรือ ธสน.เปิดเผยว่า โครงการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในช่วงที่ผ่านมา ด้วยการให้ผู้ประกอบการรายใหญ่มาช่วยดูแลผู้ประกบการขนาดเล็กหรือ คนตัวใหญ่ดูแลคนตัวเล็กเพื่อความยั่งยืนนั้น ยังไม่ตรงประเด็น เพราะจะเห็นว่า เจ้าสัวจูงเอสเอ็มอีเป็นเพียงภาพการจูงมือมาทำ CSR เท่านั้น

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

 

ดังนั้น EXIM BANK ได้เข้าไปแก้ไขในความสัมพันธ์นี้ ด้วยการจัดทำสินเชื่อซัพพลายเชน โดยหากธุรกิจรายใหญ่สามารถสร้างเอสเอ็ม อีในซัพพลายเชนของตัวเองได้ 50 ราย ธุรกิจนั้นจะได้รับส่วนลดดอกเบี้ยไป 0.25% ขณะที่เอสเอ็มอีที่อยู่ในโครงการนั้นก็จะได้รับการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ โดยไม่ใช้หลักทรัพย์ในการคํ้าประกันและสามารถใช้ใบสั่งซื้อสินค้าจากธุรกิจรายใหญ่มาการันตีให้กับเอสเอ็มอีได้เลย ซึ่งเอสเอ็มอีก็จะได้รับการคิดอัตราดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันกับธุรกิจรายใหญ่ด้วย

“เอสเอ็มอีไม่ต้องเอาตึกแถว โรงงาน มาจำนองแบงก์ สามารถเอาคำสั่งซื้อสินค้าจากเจ้าสัวมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อได้เลย ซึ่งตอนนี้เราทำให้ภาพนี้เกิดแล้ว 3-5 วง ตอนนี้แบงก์ได้มีการปรับตัวเอง และดูว่าปัญหาพี่จูงน้องไม่เกิดเพราะอะไร แต่การดำเนินการเช่นนี้ จะทำให้เกิดความยั่งยืนในการทำธุรกิจได้” นายรักษ์กล่าว

  • หนุนซื้อเทคโนโลยี ได้ดอกเบี้ย2%

นอกจากนี้ EXIM BANK ยังได้ทำสินเชื่อทรานฟอร์เมชั่นคือ ให้เอสเอ็มอี สามารถจับต้องราคาของดอกเบี้ยเจ้าสัวได้ โดยปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ย 2% แต่มีข้อแม้คือ ต้องซื้อเทคโนโลยีที่ดีที่สุดมาปรับปรุงภาคการผลิต ซึ่ง EXIM BANK ทำให้เอสเอ็มอีไทยกว่า 5,000 ราย สามารถปรับปรุงระบบและกำลังการผลิต เปลี่ยนหลังคาโรงงานเป็นโซลาร์รูฟท็อปได้

“ดอกเบี้ย 2% เอสเอ็มอีไม่มีทางจับต้องได้ เพราะเป็นอัตราของเจ้าสัว ซึ่ง 4% ก็ถือว่าเป็นอัตราที่ตํ่าแล้วสำหรับเอสเอ็มอี ดังนั้นเพื่อดูแลเอสเอ็มอีในปีนี้ แบงก์จะมีการดำเนินการในเรื่องสินเชื่อทรานฟอร์เมชั่นอย่างต่อเนื่อง เพราะเรามองว่า ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวเอง ไม่เอาสินค้าตัวเองออกอย่างเดียว แต่ต้องทำให้สะอาดขึ้นและมีจุดขาย” นายรักษ์กล่าว

ทั้งนี้ มองว่า ประเทศไทยมีจุดขายตรงที่เป็นหนึ่งในทะเลสีนํ้าเงินของคาร์บอนเครดิต เนื่องจากว่ามีธุรกิจค่อนข้างสะอาด และมีสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดสูงที่สุด เมื่อเทียบกับอาเซียน ซึ่งสามารถขายความสะอาดของอุตสาหกรรมได้ หากทำได้จะสามารถไปตลาดได้ทุกบ้านเลย เหลือเพียงทำผลิตภัณฑ์สินค้าให้สามารถมีคุณลักษณะบนข้างกล่องว่าเป็นพลังงานสะอาด

  • แนะบริหารความเสี่ยงโลกแบ่งขั้ว

นายรักษ์ยังกล่าวเสวนาหัวข้อ “เอกชนพลิกเกมรับมือบริบทโลกเปลี่ยน” ในงานสัมมนา “Geopolitics : The Big Challenge for Business โลกแบ่งขั้ว ธุรกิจพลิกเกม” จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจว่า ภาพของเศรษฐกิจโลก หากมองในมุมประเทศมหาอำนาจนั้น จะเห็นว่า ความสัมพันธ์ของจีนกับสหรัฐ แม้จะมีความขัดแย้งกัน แต่ก็ยังมีความย้อนแย้งหลายอย่าง เช่น มิติการลงทุน ยังเป็นภาพของการ ตัดบัวยังเหลือใย

โดยโมเดลการลงทุนของสหรัฐ และชาติพันธมิตรที่ยังคงฐานการผลิตหลักไว้ที่จีน แม้ย้ายฐานการผลิตบางส่วนไปยังประเทศอื่น ส่วนในด้านการเงินนั้น จีนก็ซุกเงินดอลลาร์ไว้เป็นอันดับต้นๆ ของโลก ดังนั้น แม้จะมีความขัดแย้งกันอย่างไรก็ไม่สามารถตัดสัมพันธภาพกันได้อย่างเด็ดขาด

ทั้งนี้ หากมองในมุมของผู้ประกอบการนั้น ก็ถือเป็นการบริหารความเสี่ยง เพราะหากพูดถึงความเสี่ยงในด้านเรื่องค่าเงินในโลกที่ขณะนี้มีความผันผวนอยู่ โดย EXIM BANK จะมีการแนะนำลูกค้าว่า ในไตรมาส 1 ของปีนี้ ให้ซื้อของให้เยอะเพราะเป็นช่วงที่ค่าเงินบาทแข็ง โดยจะเห็นค่าเงินอยู่ที่ระดับ 32.50-33.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี ก็ยังไม่มีสมการใดที่เป็นจุดสมดุลในการผันผวนของค่าเงิน

ดังนั้น สิ่งที่ทำได้ต้องบริหารความเสี่ยง และขอเปรียบสมการ 3 กิ๊ก คือ 1. กิ๊กด้านการเงิน เพราะเราไม่สามารถยึดโยงบ้านใหญ่ได้บ้านเดียว ดังนั้น จึงต้องมีเงินหลายสกลุทั้งหยวน หรือ ยูโร 2. กิ๊กในมุมของฐานการผลิต การทำธุรกิจจะต้องมีฐานกาผลิตมากกว่า 2 ประเทศโดยประเทศไทยมีความสวยงามทางภูมิรัฐศาสตร์ สามารถขยายฐานไปได้ และ 3.กิ๊กด้านการตลาด เพราะตลาดหลักไม่ใช่คำตอบอีกต่อไปแล้ว จะเห็นได้จากการเติบโตของ GDP โลกไม่เกิน 2% แล้ว

  • ผลักทุนไทยลงทุนนอก 

นายรักษ์กล่าวต่อว่า การใช้สูตรลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) อย่างเดียวใช้ไม่ได้แล้ว ปัจจุบันต้องผลักทุนไทยไปนอกประเทศ จะเห็นได้จากธนาคารร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โปรโมทกลุ่มธุรกิจไทยไปโตนอกประเทศ

“ทุกบริษัทใหญ่ไม่มีฐานการผลิตเพียงแค่ในไทย แต่ไปแตกสาขานอกประเทศ ต่างจากในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมาเน้นโปรโมทเงินลงทุนเข้าไทย ขณะนี้ในทุก 1 บาท สามารถสร้างซัพพลายเออร์ได้ 2 บาท เป็นต้น การทำธุรกิจต่อจากนี้จะบาลานซ์ ทั้งการดึงทุนต่างชาติเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า สร้างอีโคซิสเต็มอยู่ในประเทศ” นายรักษ์กล่าว

ทั้งนี้ ขอเสนอแนะให้ให้ผู้ประกอบการไทยพัฒนาฝีมือเป็นมือที่ 3 อย่างมืออาชีพ เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เพราะนักธุรกิจไทยคงไม่ไปในเซมิคอนดักเตอร์ หรือ ไฮเทคมาก แต่ควรนำสิ่งที่ไทยเก่งในการผลิต เช่น ทีวี เตารีด ไมโครเวฟ หรือ ตู้เย็น เป็นต้น

“วันนี้สหรัฐฯ ไม่สั่งสินค้าจากจีน ดังนั้น ไทยต้องแย่งตลาด หรือตลาดเพื่อนสหรัฐฯ ที่ไม่อยากยุ่งกับจีน ไทยจึงต้องไปเป็นมือที่ 3 อย่างมีชั้นเชิงและอ่อยให้เป็น ในขณะที่บ้านใหญ่ บ้านเล็กทะเลาะกันอยู่ ผู้ประกอบการไทยต้องปรับโมเดลธุรกิจ” นายรักษ์กล่าวทิ้งท้าย