จาก"สายชาร์จดูดเงิน" สู่ "แอปดูดเงิน" รวมข้อแนะนำ และบทสรุป

21 ม.ค. 2566 | 22:43 น.

จาก"สายชาร์จดูดเงิน" สู่ "แอปดูดเงิน" บทสรุปสำคัญที่ต้องรู้ ก่อนเงินถูกโอนหมดบัญชีไม่รู้ตัว รวมข้อแนะนำวิธีเอาตัวรอดจากมิจฉาชี

กรณี"สายชาร์จดูดเงิน" จะเรียกว่าเป็นเหตุการณ์โอ้ละพ่อก็ว่าได้ สำหรับชายหนุ่มที่ได้ออกมาโพสต์เรื่องราวของตนเองผ่านเฟสบุ๊คว่า เพียงแค่เสียบสายชาร์จโทรศัพท์มือถือเอาไว้ เมื่อเวลาผ่านไปปรากฏว่าได้มีข้อความแจ้งเตือน และเมื่อตรวจสอบในโมบายแบงก์กิ้งพบว่า เงินได้ถูกโอนไปยังบัญชีผู้อื่นจนหมดบัญชีเสียแล้ว

หลังจากนั้นก็ตามมาด้วยกระแสเรื่อง “สายชาร์จดูดเงิน” และผู้เสียหายรายอื่นๆ ที่แสดงตัวว่าเกิดกรณีเช่นเดียวกันนี้กับตนเองนับ 10 ราย ซึ่งเรื่องของการปลอมแปลงสายชาร์จนั้น อ.ฝน นรินทร์ฤทธิ์  เปรมอภิวัฒโนกุล อุปนายกสมาคมความมั่นคงปลอดภัยระบบสารสนเทศ (TISA) ได้ให้ข้อมูลกับฐานเศรษฐกิจว่า สายชาร์จที่มีการดัดแปลงเพื่อดูดข้อมูลจากเครื่องโทรศัพท์มือถือนั้นมีอยู่จริง แต่ไม่เกี่ยวข้องกับการดูดเงินออกจากบัญชีได้โดยตรง และหากใช้สายชาร์จของตนเองก็ย่อมมีความปลอดภัย

ในขณะที่หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างเร่งตรวจสอบ เพื่อหาความจริงที่เกิดขึ้นต่อกรณีดังกล่าว โดยผลการตรวจสอบจากหลายหน่วยงานพบข้อมูลตรงกันว่า ผู้เสียหายรายดังกล่าว ถูกฝังมัลแวร์จากการโหลดแอปพลิเคชั่นลงเครื่องโทรศัพท์มือถือ โดยไม่เกี่ยวข้องกับสายชาร์จแต่อย่างใด

ทางด้าน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้หารือสมาคมธนาคารไทย ตรวจสอบกรณีดังกล่าว พบว่า กรณีนี้ไม่ได้เกิดจากการใช้งานสายชาร์จปลอม แต่เกิดจากผู้เสียหายได้มีการติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมที่แฝงมัลแวร์ ทำให้มิจฉาชีพรู้ข้อมูลการทำธุรกรรมของลูกค้า และควบคุมเครื่องโทรศัพท์เพื่อทำธุรกรรมจากระยะไกล และโอนเงินออกจากบัญชี พร้อมออกคำแนะนำ 5 ข้อ เพื่อป้องกันการถูกมิจฉาชีพโจรกรรม ได้แก่

  • ไม่คลิกลิงก์ที่ไม่รู้แหล่งที่มา จากทุกช่องทาง
  • ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น จาก Play Store หรือ App Store เท่านั้น อัปเดต Mobile Banking เวอร์ชันล่าสุดเสมอ 
  • ห้ามใช้อุปกรณ์ผู้อื่นทำธุรกรรมการเงิน และห้ามปิดระบบ root/jailbreak ในเครื่องตนเอง 
  • ติดต่อธนาคารทันที เมื่อพบความผิดปกติของธุรกรรมทางการเงิน และต้องให้ข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้องตามจริง กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ในขณะที่การสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พบว่ากรณีที่เกิดขึ้นมีสาเหตุจาก ผู้เสียหายได้ติดตั้งแอปพลิเคชั่นหาคู่ปลอมที่ชื่อว่า Sweet Meet  ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ถูกดูดเงิน ไม่เกี่ยวกับสายชาร์จ

พร้อมมีคำเตือนจาก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ให้มือถือที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ให้ตรวจสอบโทรศัพท์มือถือของตนเอง ว่าถูกติดตั้งแอปพลิเคชั่นรีโมตดูดเงินหรือไม่ โดยวิธีการดังต่อไปนี้

  1. กดเลือกที่เมนูการตั้งค่า (รูปฟันเฟือง)
  2. เลือก "แอป" แล้วกดที่จุด 3 จุด มุมขวาบน
  3. เลือกเมนูย่อย "การเข้าถึงพิเศษ"

หากไม่สามารถเปิดดูเมนูดังกล่าวได้ และหน้าจอจะเด้งออกไปที่หน้าหลักทันที แสดงว่ามือถือเครื่องนั้นถูกฝังแอปพลิเคชั่นรีโมตดูดเงินแล้ว ให้รีบตัดอินเทอร์เน็ตทันที จากนั้นให้สำรองข้อมูลสำคัญ แล้วรีเซ็ตเครื่องให้กลับสู่ค่าเริ่มต้นจากโรงงาน

นอกจากนั้น ยังมีคำแนะนำจากธนาคารออมสิน เพื่อความปลอดภัยจากมิจฉาชีพในกรณีดังกล่าวด้วยเช่นกัน โดย ห้ามกดรับสิทธิ์จากลิงก์เงินกู้ผ่าน ช่องทางต่างๆ, ห้ามดาวน์โหลดโปรแกรมจากเว็บไซด์ที่ไม่ปลอดภัย ,ห้ามกรอกข้อมูลส่วนตัว เลขรหัส OTP เลขที่บัญชีเงินฝาก เลขบัตรประจำตัวประชานชนในแอพพลิเคชันที่ไม่รู้จักเด็ดขาด , หมั่นอัพเดท โมบายแบงก์กิ้ง ให้เป็นเวอร์ชันล่าสุดอยู่เสมอ