แบงก์ขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้พุ่งสุดรอบ14 ปี

10 ม.ค. 2566 | 07:53 น.

แบงก์ปรับเพิ่มดอกเบี้ย 0.40% สูงสุดรอบ 14 ปี รับต้นทุนพุ่งจากเงินนำส่ง FIDF กลับมาเป็นอัตราปกติที่ 0.46% แต่ยังไม่สะท้อนกนง. ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแล้ว 0.75% แนวโน้มยังเพิ่มอีก 0.4-0.5% ในครึ่งแรกปี 2566

ทันทีที่สมาคมธนาคารไทยแจ้งธนาคารพาณิชย์ สมาชิกกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศสิ้นสุดมาตรการปรับลดเงินนำส่งเข้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ให้กลับเข้าสู่อัตรา 0.46% ต่อปีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 หลังจากช่วงปรับลดเหลือ 0.23% ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์เดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ทันที 0.40%

 

การประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่อัตรา 0.40% มากกว่าอัตราเพิ่มของเงินนำส่ง FIDF ที่ 0.23% และยังเป็นการขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่สูงสุดในรอบ 14 ปี นับจากปี 2551 ซึ่งขณะนั้นธนาคารพาณิชย์ในระบบปรับดอกเบี้้ยเงินกู้ขึ้น 0.75% ตามดอกเบี้ยนโยบาย  

อย่างไรก็ตาม แม้ดอกเบี้ยเงินกู้จะปรับเพิ่ม แต่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปัจจุบันเฉลี่ยยังต่ำกว่าปี 2551 คือ

  • ดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินเบิกเกินบัญชี( MOR) อยู่ที่ 7.1832% จากปี 2551 อยู่ที่ 7.6303%
  • ดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR)  อยู่ที่ 6.7922% จากปี 2551 อยู่ที่ 7.2551%
  • อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี(MRR)  อยู่ที่ 7.2380% จากปี 2551 อยู่ที่ 7.8512% 

 

การปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ เหตุผลเพราะเงินนำส่ง FIDF แต่ยังไม่รวมกับการปรับดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งที่ผ่านมากนง. ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว 3 ครั้งรวม 0.75% แต่ธนาคารพาณิชย์บางแห่งทยอยปรับขึ้น 0.25% ไปแล้ว 

 

ขณะที่การประชุมกนง.ครั้งแรกของปีในวันที่ 25 มกราคม 2566 กนง.จะยังเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เพื่อควบคุมเงินเฟ้อให้กลับเข้ามาอยู่ในกรอบเป้าหมายภายในกลางปี 2566 ซึ่งจะส่งผลมายังดอกเบี้ยเงินกู้อีกระลอกที่จะต้องปรับขึ้นอีกครั้ง

 

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทยเปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ต้นทุนดอกเบี้ยของไทยปีนี้ปรับเพิ่มขึ้นจาก 2 ส่วนคือ การปรับเงินนำส่ง FIDF ที่กลับมาเป็นอัตราเดิม 0.46% และการขึ้นดอกเบี้ยตาม้กนง. ดังนั้นจะเห็นแรงกระเพื่อมต่อต้นทุนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและรายย่อย

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย

 

 “ที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ขึ้นดอกเบี้ย 0.40% ในส่วนของต้นทุนจากเงินนำส่ง FIDF แล้ว แต่ในส่วนของดอกเบี้ยนโยบาย ถ้ากนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% จะเห็นธนาคารพาณิชย์ปรับขึ้นดอกเบี้ยในตลาดประมาณ 0.15% โดยคาดว่า ช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ระดับ 2.0% จากปัจจุบัน 1.25% ดังนั้นยอมรับว่า 1-2 เดือนจะเห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก”ดร.อมรเทพกล่าว

 

ทั้งนี้หากประมาณการดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.0%ต่อปีในไตรมาส 2 ปีนี้ ถ้ากนง.ขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% มีโอกาสจะเห็นธนาคารพาณิชย์ขยับดอกเบี้ยเงินกู้ประมาณ 0.6 เท่าของ 0.75% หรือ 0.4-0.5% แต่ขึ้นกับความเสี่ยงของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกด้วย เพราะกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)ได้ส่งสัญญาณเตือนว่า ครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจโลกจะถดถอย ซึ่งต้องลุ้นว่าจะเป็นอย่างไร

 

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า แนวโน้มทิศทางดอกเบี้ยนโยบายปี 2566 ศูนย์วิจัยกรุงไทยมองไว้ที่ 2.0%ต่อปีคือ กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้อีก 0.75% จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.25% ต่อปี

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS

"อัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงสุดอาจจะยังไม่เห็นในสิ้นปีนี้ โดยอาจจะไปเห็นในปี 2567-2568 โดยขึ้นกับเศรษฐกิจโลกอาจจะพลิกฟื้นกลับจากปีนี้ที่ชะลอซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอาจจะปรับขึ้นไปใกล้ระดับ 3.0%"ดร.พชรพจน์กล่าว

 

ทั้งนี้หากสถานการณ์กลับสู่ปกติ โดยเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมาย อัตราดอกเบี้ยควรจะอยู่ในอัตรามากกว่า 2.0% หรือใกล้ระดับ 3.0% ซึ่งขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจหรือจีดีพีจะขยายตัวในระดับ 3% ได้ต่อเนื่องหรือไม่ หากการขยายตัวของจีดีพีไปไม่ถึงอัตรากว่า 3% คงจะยากที่จะเห็นทิศทางการดอกเบี้ยขาขึ้นไปในระดับใกล้ 3% แม้เงินเฟ้อจะทยอยปรับลดลงก็ตาม

 

หน้า 1  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,851 วันที่ 8 - 11 มกราคม พ.ศ. 2566