จับตาอนาคตหุ้น STAR เมื่อ ‘หมอวัลลภ’ แบ็กดอร์

15 ก.ค. 2559 | 03:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

สปอตไลท์ จับไปที่บริษัท สตาร์ ซานิทารีแวร์ จำกัด(มหาชน)(บมจ.) (STAR)ทันทีเมื่อปรากฏชื่อ “นพ. วัลลภ ยังตรง”อดีตนักการเมืองนำบริษัท ไทย ฟิวเจอร์ เอ็นเนอร์ยี โฮลดิ้ง จำกัด (TFEH) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทางอ้อม (แบ็กดอร์ ลิสติ้ง)

[caption id="attachment_71195" align="aligncenter" width="700"] ฐานะและผลการดำเนินงาน STAR ฐานะและผลการดำเนินงาน STAR[/caption]

STAR แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ว่า เตรียมออกหุ้นเพิ่มทุนใหม่ 1.75 พันล้านหุ้น เสนอขายหุ้นละ 1.30 บาท ให้กับกลุ่มผู้ถือหุ้นTFEH เพื่อใช้ชำระค่าหุ้นหรือแลกหุ้นที่บริษัทจะเข้าซื้อกิจการทั้ง 100% ใน TFEH ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ด้วยมูลค่า 2.28 พันล้านบาท

ทั้งนี้กลุ่มผู้ถือหุ้นTFEH ที่STAR จะขายหุ้นแบบPP มี 8 รายประกอบด้วย นพ.วัลลภ ยังตรง นางสาวปรมาภรณ์ ยังตรง นางสาวบุษยากร ยังตรง นางสาวสุทธิรัตน์ ตั้งยะฤทธิ์ นางสาวอุดมลักษณ์ ยังตรง นางสาวนงนุช จันทรา นายสุรเดช สุขประเสริฐ และนายบุญลือ ศรีสะอาด

สำหรับราคาเสนอขาย 1.30 บาท ต่อหุ้นซึ่งต่ำกว่าราคาตลาด STAR ชี้แจงว่า เป็นราคาที่เจรจาร่วมกับกลุ่มผู้ถือหุ้น TFEH โดยอ้างอิงถึงมูลค่ายุติธรรมของหุ้นสามัญของทั้ง 2 บริษัท ตามรายงานของที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัท ออพท์เอเชีย แคปิตอล จำกัด ซึ่งคณะกรรมการได้พิจารณาแล้ว ราคาดังกล่าวเป็นราคาที่เหมาะสม เพราะอยู่สูงกว่ามูลค่าทางบัญชีของบริษัท ณ วันที่ 31 มีนาคม 2559 ที่ 0.60 บาทต่อหุ้น และสูงกว่ามูลค่ายุติธรรมของหุ้นสามัญ โดยใช้วิธีปรับปรุงมูลค่าหุ้นตามบัญชี ตามความเห็นของที่ปรึกษาทางการเงินซึ่งมีมูลค่าเท่ากับ 1.24 บาทต่อหุ้น

ขณะที่ภายหลังการเพิ่มทุนครั้งนี้ส่งผลให้ผู้ถือหุ้นของ TFEH เข้ามาถือหุ้นในSTAR สัดส่วน 91.18% ซึ่งมีหน้าที่ต้องทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมด (เทนเดอร์ออฟเฟอร์) ต่อไป เบื้องต้นคาดว่ากระบวนการซื้อหุ้นของ TFEH จากผู้ถือหุ้นของ TFEH และการเพิ่มทุนจดทะเบียนจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในไตรมาส 4 ปี 2559นี้ ซึ่งจะทำให้ TFEH มีสถานะเป็นบริษัทย่อยของ STAR ต่อไป

STAR แจ้งว่า การที่คณะกรรมการบริษัทอนุมัติให้เข้าซื้อหุ้น TFEH เนื่องจากเห็นว่าจะเป็นการขยายธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจด้านพลังงานที่มีเสถียรภาพ และช่วยสร้างกระแสเงินสดรับให้แก่บริษัทในจำนวนที่แน่นอน เพราะบริษัทย่อยของ TFEH มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว นอกจากนี้ยังจะช่วยสร้างโอกาสให้บริษัทเข้าไปลงทุนเพิ่มในกิจการพลังงานได้โดยง่าย เพราะ TFEH เป็นผู้มีประสบการณ์ทางธุรกิจ และมีประวัติการดำเนินธุรกิจพลังงานมาต่อเนื่องหลายปี ในทางกลับกันการขยายลงทุนในธุรกิจพลังงาน จะช่วยลดความเสี่ยงจากการพึ่งพิงกิจการเดิม ซึ่งขาดทุนต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา (ดูตารางประกอบ)

รายงานข้อมูลแบบ 56-1 ปี2558 รายได้หลักของ STAR ประมาณ 50-70 % มาจากการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องสุขภัณฑ์ไปจำหน่ายยังต่างประเทศ โดยตลาดหลักในการส่งออกเครื่องสุขภัณฑ์ ประกอบด้วย ประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ทั้งยังส่งเครื่องสุขภัณฑ์ไปจำหน่ายในประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ เมียนมา และกัมพูชา เป็นต้น รวมทั้งประเทศอื่นๆด้วย

ปัจจุบัน TFEH มีการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 3 โครงการ (ซึ่งจำหน่ายกระแสไฟฟ้า หรือ COD แล้ว) ผ่านการลงทุนโดยบริษัทย่อย จำนวน 3 แห่ง ดังนี้

1. บริษัท ไทย ฟิวเจอร์ เอ็นเนอร์ยี จำกัด (TFE) ลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 30.20 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่ ตำบลหนองอิรุณ อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี

2. บริษัท พัฒนาพลังงานไฟฟ้า จำกัด (EPD1) ลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 8 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่ ตำบลหนองสวาย อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน

3. บริษัท พัฒนาพลังงานไฟฟ้า 2 จำกัด (EPD2) ลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 8 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่ ตำบลหนองจอก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี

ผลการดำเนินงานของ TFEH ปี 2558 มีกำไรสุทธิ 221.76 ล้านบาท และไตรมาส 1/59 มีกำไรสุทธิ 69.17 ล้านบาท

ราคาหุ้น STAR ที่วิ่งกระฉูดเปิดตลาดวันที่ 12 กรกฏาคม ที่ผ่านมาปรับตัวขึ้นชนซิลลิ่งที่ 7.05 บาท เพิ่มขึ้น 1.60 บาท หรือ 29.36% จะว่าเป็นการต้อนรับว่าที่ผู้ถือหุ้นรายใหม่กระเป๋าหนักก็ไม่ผิดนัก ที่สำคัญทำให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยเริ่มเห็นอนาคตตัวเองว่ามีโอกาสได้ลงจากดอย อีกทั้งธุรกิจใหม่ที่เข้ามาเสริม คือ ธุรกิจพลังงานทางเลือก ก็ถือเป็นธุรกิจที่ยังมาแรง ขายสตอรี่ ได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,174 วันที่ 14 - 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2559