ธุรกิจรายใหญ่แห่แก้สัญญาล็อกดอกเบี้ยตํ่า

12 ก.ค. 2559 | 14:30 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

กรุงศรีส่งสัญญาณภาคธุรกิจรายใหญ่ล็อกต้นทุน หลังประเมิน 2 ปีข้างหน้าทิศทางดอกเบี้ยตํ่า เผยธุรกิจรายใหญ่ทยอยเปลี่ยนสัญญาเงินกู้ลอยตัวเป็นคงที่ยกเคส “โปรเจ็กต์ไฟแนนซ์” ทุกรายขอเปลี่ยนสัญญาเฉียด 4 หมื่นล้าน

[caption id="attachment_70206" align="aligncenter" width="335"] ตรรก บุนนาค  ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านบริหารการเงิน  ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (บมจ.) ตรรก บุนนาค
ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านบริหารการเงิน
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (บมจ.)[/caption]

นายตรรก บุนนาค ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านบริหารการเงิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (บมจ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันลูกค้ารายใหญ่ของธนาคารซึ่งมียอดขายเกิน 500 ล้านบาท ได้มีการขอเปลี่ยนแปลงสัญญาเงินกู้จากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัว เป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่มากขึ้น ทั้งนี้ การสว็อปจากดอกเบี้ยลอยตัว เป็นดอกเบี้ยคงที่ หรือฟิกซ์เรตดังกล่าว เนื่องจากภาคธุรกิจมองว่า อนาคตอัตราดอกเบี้ยตลาดโลกมีแนวโน้มจะปรับเพิ่มขึ้นในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า แม้ปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งการเปลี่ยนสัญญาดอกเบี้ยคงที่จะทำให้ภาคธุรกิจไม่ต้องแบกรับต้นทุนดอกเบี้ยที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตจึงเป็นการควบคุมต้นทุนดอกเบี้ยต่ำตลอดอายุสัญญา

ทั้งนี้ กลุ่มที่เปลี่ยนสัญญามาเป็นดอกเบี้ยคงที่นั้น ส่วนใหญ่ ยังจำกัดอยู่ในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีสัญญาเงินกู้แบบระยะยาวเกิน 5 ปี โดยเฉพาะ สินเชื่อโครงการ ที่เป็น โปรเจ็กต์ไฟแนนซ์ โดยภาคธุรกิจ หันมาเปลี่ยนเป็นดอกเบี้ยคงที่แล้ว 100% จากโปรเจ็กต์ไฟแนนซ์ที่เป็นลูกค้าธนาคารทั้งหมด ซึ่งการขอเปลี่ยนสัญญาดังกล่าว ลูกค้าจะต้อง ยอมจ่ายค่าพรีเมียมจากการ เปลี่ยนสัญญา โดยแบงก์จะคิดค่าเปลี่ยนสัญญา โดยคำนวณตามแนวโน้มของผลตอบแทนในอนาคต หรือถ้าเส้น Yield Curve ชันขึ้น ค่าพรีเมียมต่างๆก็จะสูงขึ้นตาม แต่โดยปกติแล้ว การคิดค่าพรีเมียมจะขยับจากดอกเบี้ยลอยตัวไม่เกิน 1% เช่น ดอกเบี้ยเงินกู้ MLRปัจจุบันอยู่ที่ 7% หากเปลี่ยนสัญญามาเป็นดอกเบี้ยคงที่ บวกค่าพรีเมียมต่างๆ แล้ว ดอกเบี้ยเงินกู้จะขึ้นมาอยู่ที่ราว 7.10-7.50% ตลอดอายุสัญญา ซึ่งหากดอกเบี้ยในอนาคตปรับตัวเพิ่มขึ้น ภาคธุรกิจที่หันมาเปลี่ยนเป็นดอกเบี้ยคงที่ ก็จะไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงจากต้นทุนดอกเบี้ยที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

หากพิจารณาสินเชื่อของภาคธุรกิจรายใหญ่ ของธนาคารกรุงศรีฯ ปัจจุบัน มียอดสินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นปี 2558 อยู่ที่ 5.3 แสนล้านบาท แยกเป็นโปรเจ็กต์ไฟแนนซ์ พบว่า มีสัดส่วนอยู่ที่ 6-7% หรือราว 3.7 หมื่นล้านบาทของมูลค่าสินเชื่อคงค้างทั้งหมด

“การทำสัญญานั้นเริ่มเห็นความสนใจ มาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว มาถึงตอนนี้ลูกค้าเข้ามาทำมากขึ้น เพราะเริ่มมองว่า ดอกเบี้ยมีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งการตัดสินใจเปลี่ยนสัญญาขึ้นอยู่กับลูกค้าว่า มองตรงนี้อย่างไร หากมองว่าคุ้มก็เปลี่ยนมาเป็นฟิกซ์เรต สำหรับธุรกิจที่กู้สั้นๆตอนนี้ต้นถูกแล้ว เขาก็ไม่เปลี่ยน แต่หากจะกู้ระยะยาว ล็อกแพงขึ้น แต่ล็อกได้ 5-10ปี เขาก็ยอม ส่วนใหญ่โปรเจ็กต์ไฟแนนซ์ที่มีพันธมิตรหรือการลงทุนต่างๆที่เกี่ยวเนื่องกับนักลงทุนญี่ปุ่น ก็จะหันมาเปลี่ยนสัญญาเป็นฟิกซ์เรตเพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ป้องกันความเสี่ยงอยู่แล้ว”

ด้านนายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ บมจ.ธนาคารกสิกรไทยและในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาธนาคารเริ่มเห็นลูกค้าเข้ามาขอเปลี่ยนสัญญาล็อกต้นทุนดอกเบี้ยเงินกู้ โดยเปลี่ยนเป็นดอกเบี้ยคงที่เช่นเดียวกัน เนื่องจากมองว่า ในระยะยาว การมีดอกเบี้ยคงที่นั้นเป็นต้นทุนที่ถูกกว่า การทำสัญญากู้แบบลอยตัว จึงมีการเข้ามาขอเปลี่ยนสัญญากับธนาคาร ซึ่งส่วนใหญ่ ยังจำกัดอยู่ในธุรกิจขนาดใหญ่ ที่สัญญาการกู้ระยะยาวเกิน 5 ปี

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนสัญญาเงินกู้ดังกล่าวนั้น เป็นเรื่องปกติ ซึ่งธนาคารก็ได้ประโยชน์จากค่าพรีเมียม ขณะที่บางธุรกิจมองว่า ดอกเบี้ยลอยตัวก็เหมาะสมในภาวะดอกเบี้ยต่ำ ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับลูกค้าที่จะคำนวณความคุ้มค่าต่อการเปลี่ยนสัญญาหรือไม่ ซึ่งในส่วนของลูกค้าที่ทำสัญญาเงินกู้ระยะสั้นอาจยังไม่เปลี่ยนสัญญาแต่อย่างใด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,173 วันที่ 10 - 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2559