ถอดรหัสแสนล้าน เจ้าสัวคิงเพาเวอร์

22 มิ.ย. 2559 | 03:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

การฮุบสายการบินไทยแอร์เอเชีย ของเจ้าสัว คิงเพาเวอร์ "วิชัย ศรีวัฒนประภา" เป็นความเคลื่อนไหวในเชิงธุรกิจก้าวสำคัญอีกครั้ง หลังก่อนหน้านั้นไม่นานทีมสโมสร เลสเตอร์ ซิตี้ ที่เขาเป็นเจ้าของได้คว้าแชมป์ พรีเมียร์ลีก เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 100 ปี เป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก สะท้อนวิสัยทัศน์ผู้บริหารที่นอกจากได้กล่องแล้ว ยังสร้างมูลค่าให้กับสโมสรเป็นหมื่นล้านในเวลา 5 ปีเศษ

[caption id="attachment_64019" align="aligncenter" width="700"] คาดการณ์รายได้กลุ่มคิงเพาวเวอร์และครอบครัว ศรีวัฒนประภา ปี 2560 คาดการณ์รายได้กลุ่มคิงเพาวเวอร์และครอบครัว ศรีวัฒนประภา ปี 2560[/caption]

ล่าสุด(14 มิ.ย.59) เจ้าสัววิชัย ใช้เม็ดเงินร่วม 2 หมื่นล้านบาทในการเข้าซื้อหุ้นของบริษัท เอเซีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน)หรือ AAV เจ้าของสายการบินไทยแอร์เอเชีย 39% คิดเป็นมูลค่า 7,945 ล้านบาท ล็อตแรกจาก ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ และครอบครัว เงินก้อนนี้ระบุว่าเป็นของครอบครัวและจะตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้นสามัญทั้งหมด (Mandatory Tender Offer) ที่เหลืออีก 60% ในราคา 4.2 บาทต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่า1.2 หมื่นล้านบาท โดยมีแบงก์ไทยพาณิชย์ให้การสนับสนุน

วางหมากกินรวบตลาดทัวร์จีน

การทุ่มเม็ดเงินจำนวนมหาศาลครั้งนี้ แน่นอนว่าต้องแลกมาด้วยผลตอบแทนที่คุ้มค่า และโดยส่วนตัวเจ้าสัววิชัย บอกว่าอยากทำธุรกิจสายการบินมานานแล้ว และคิงเพาเวอร์เคยถือหุ้น 5% ในสายการบินนกแอร์ แต่จำนวนหุ้นที่น้อยเกินไปทำให้ไม่สามารถมีสิทธิ์มีเสียงในการบริหารเขาจึงขายทิ้ง กระทั่งมาดีลกับไทยแอร์เอเชียสำเร็จ

โดยธุรกิจดั่งเดิมเมื่อ 27ปี ของครอบครัว"ศรีวัฒนประภา" หรือรักศรีอักษรเป็นเจ้าของสัมปทานดิวตี้ฟรี ที่กินรวบทั้งในเมืองและสนามบินหลัก ทั้งร้านค้าดิวตี้ฟรีและสายการบินเป็นธุรกิจที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวไทยโดยตรงและยังสามารถต่อยอดสร้างรายได้ปั้นแบรนด์ไทยสู่เวทีโลกได้ไม่ยากโดยใช้เลสเตอร์ ซิตี้เป็นหัวหอก ในเชิงของสปอร์ตมาร์เก็ตติ้ง

ดังนั้นเป้าหมายการเป็นเจ้าของสายการบิน "วิชัย" จึงมุ่งไปที่ตลาดทัวร์จีน 120 ล้านคนที่เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ ปีนี้คาดว่าตลาดทัวร์จีนจะมาเที่ยวประเทศไทยถึง 10 ล้านคน ในจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่มาเมืองไทย 6-7 ล้านคนเป็นลูกค้าของ คิงเพาเวอร์ ขณะที่ ไทยแอร์เอเชีย มีผู้โดยสาร 17 ล้านคน และ 20 % ของจำนวนผู้โดยสารก็คือตลาดทัวร์จีนเช่นกัน

"อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา" ทายาทคิงเพาเวอร์ สะท้อนมุมมองว่าธุรกิจดิวตี้ฟรีและสายการบิน เมื่อรวมกันจะทำให้เกิดกลยุทธการต่อยอดทางธุรกิจที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการขยายฐานนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งคิงเพาเวอร์และไทยแอร์เอเชีย มีฐานลูกค้าหลักกลุ่มนี้อยู่ในมือ ในอนาคตสามารถขยายช่องทางในการนำนักท่องเที่ยวจีนมาไทยและเพิ่มช่องทางในการขายสินค้าดิวตี้ฟรีได้เพิ่มขึ้นจากความร่วมมืออื่นๆ ที่จะตามมา

AAVถึงจุดสูงสุดต้องมีคอนเนกชันใหม่

สอดคล้องกับ"วิชัย ศรีวัฒนประภา" ประธานกรรมการกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ฯ ให้เหตุผลว่า ที่ตัดสินใจลงทุน เนื่องจากมองว่าจะเป็นการผนึกกำลังความเชี่ยวชาญ ของทั้ง 2 ธุรกิจที่มีพื้นฐานการเติบโตปีละ 20-25% ต่อยอดธุรกิจได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย จากการผนึกความเชี่ยวชาญในการทำงานร่วมกันหรือการซินเนอร์ยีธุรกิจที่จะเกิดขึ้น

"ที่ผ่านมาทัวร์จีนเคยขอให้เราเพิ่มไฟลต์บินจากหลายมณฑล เข้าอู่ตะเภา ภูเก็ต ซึ่งในอนาคต ไทยแอร์เอเชียรับมอบเครื่องบินมากขึ้นจากปีนี้มีอยู่ 51 ลำ มีแผนรับมอบอีก 5 ลำก็จะเอื้อให้ในการเปิดเส้นทางบินใหม่ คิงเพาเวอร์ก็จะขายสินค้าได้เพิ่มขึ้น"

ขณะเดียวกันคิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ยังมีแผนลงทุนอีก 5,000 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงใหญ่สาขาซอยรางน้ำ แบ่งพื้นที่ออกเป็นสัดส่วน รองรับตลาด คนไทย ญี่ปุ่น อาเซียน และเอฟไอที ขณะที่ลูกค้ากลุ่มทัวร์อย่างตลาดจีนจะแยกไปลงที่ สาขาซอยศรีวารี ซึ่งมีแผนลงทุนเฟส 2 ขยายพื้นที่เพิ่มอีก 1 หมื่นตารางเมตร จากเดิมที่รองรับนักท่องเที่ยวเฉลี่ยวันละหมื่นคน

ด้าน ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย ก็ยอมรับธุรกิจการบินแข่งขันสูง และวันนี้เขามาถึงจุดสูงสุดแล้ว ทั้งส่วนเส้นทางบินในประเทศ และต่างประเทศที่ครอบคลุมจุดบินในอาเซียนและจีน ที่ผ่านมาใช้คอนเนกชันต่างๆ ขยายฐานลูกค้าจนหมด เพื่อรักษาอัตราการเติบโตให้ได้ปีละ 20 % ต่อปี ต้องมองเรื่องการต่อยอดเพื่อให้ได้คอนเนกชันใหม่ ๆ

อย่างไรก็ดี ความเคลื่อนไหวของกลุ่มคิงเพาเวอร์น่าจับตา นับตั้งแต่การซื้อทีมสโมสร เลสเตอร์ ซิตี้เมื่อปี 2553 ด้วยลงทุนราว 100 ล้านปอนด์หรือราว 5,300 พันล้านบาท ขณะนี้มูลค่าเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาทและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นซึ่งขึ้นอยู่กับว่าจะติดแชมป์พรีเมียร์ลีกนานแค่ไหน ทั้งยังมีแผนการขยายที่นั่งชมจาก 3.2 หมื่นที่นั่งเป็น 4.2หมื่นที่นั่งและสร้างโรงแรมห้าดาวรองรับแฟนบอล

ประเมินรายได้ทั้ง 3 ธุรกิจหลักของกลุ่มคิงเพาเวอร์และครอบครัวเจ้าสัววิชัยน่าจะอยู่ที่ 1.45 แสนล้านบาท ในปี 2560 โดยมาจากธุรกิจดิวตี้ฟรี ปีนี้ตั้งไว้ที่ 8.5 หมื่นล้านบาท ปีหน้าตั้งเป้า 1 แสนล้านบาท รายได้จากเลสเตอร์ ซิตี้ จะอยู่ราว 1 หมื่นล้านบาทในปีนี้ และปีหน้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 หมื่นล้านบาท จากส่วนแบ่งรายได้ค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดและการขายสินค้าของที่ระลึก และรายได้ของ AAV ซึ่งอยู่ราว 3 หมื่นล้านบาท

แม้ดีลครั้งนี้จะดีงาม แต่หลายคนก็อดคิดไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งน่าเป็นแผนสำรองกรณีเพลี่ยงพล้ำเพราะอีก 4 ปีก็จะหมดสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรีก็เป็นได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,167 วันที่ 19 - 22 มิถุนายน พ.ศ. 2559