ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ 23 ก.พ. “อ่อนค่า” ที่ระดับ 35.94 บาทต่อดอลลาร์

23 ก.พ. 2567 | 00:47 น.

ค่าเงินบาทอาจอ่อนค่าอย่างจำกัด เนื่องจากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินในช่วงนี้ หนุนให้นักลงทุนต่างชาติทยอยเข้าซื้อสินทรัพย์ในฝั่งเอเชียเพิ่มเติม และตลาดหุ้นไทยรับอานิสงส์

ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ 23 ก.พ. 2567 ที่ระดับ  35.94 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  35.85 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่า แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายังไม่เปลี่ยนมุมมองว่า โมเมนตัมการอ่อนค่านั้นแผ่วลง โดยเฉพาะหลังมุมมองการลดดอกเบี้ยของผู้เล่นในตลาดนั้น ได้สอดคล้องกับ Dot Plot ของเฟดล่าสุด ทำให้ การแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ก็อาจจำกัดลง (Limited Upsides for USD)

 ทว่าด้วยปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าที่ยังมีอยู่ โดยเฉพาะความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจไทยที่ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงประเมินว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยยังมีโอกาสลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ ขณะเดียวกัน ทิศทางของราคาทองคำ รวมถึงสกุลเงินเอเชียสำคัญ อย่าง เงินหยวนจีน (CNY) และเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ก็อาจส่งผลกระทบต่อเงินบาทได้พอสมควร หากทั้งราคาทองคำ เงินหยวนจีน และเงินเยน ย่อตัวลงบ้าง

อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินในช่วงนี้ อาจช่วยหนุนให้นักลงทุนต่างชาติทยอยเข้าซื้อสินทรัพย์ในฝั่งเอเชียเพิ่มเติม ซึ่งตลาดหุ้นไทยก็อาจได้รับอานิสงส์จากภาพดังกล่าวด้วยเช่นกัน ทำให้ การอ่อนค่าของเงินบาทนั้นจะเป็นไปอย่างจำกัด และเรายังคงประเมินว่า การเคลื่อนไหวของเงินบาทในช่วงนี้ อาจมีลักษณะ Sideways Down (แกว่งตัวในกรอบ แต่ก็มีโอกาสแข็งค่าขึ้นบ้าง)

 

ในเชิงเทคนิคัล เงินบาทได้ส่งสัญญาณทยอยแข็งค่าขึ้นได้ โดยเฉพาะหากเงินบาทสามารถแข็งค่าหลุดโซนแนวรับ 35.80 บาทต่อดอลลาร์ ได้อย่างชัดเจน ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องทดสอบโซน 35.50-35.60 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก ขณะที่โซนแนวต้านยังคงเป็นช่วง 36.00 บาทต่อดอลลาร์ ที่เป็นแนวต้านเชิงจิตวิทยาในช่วงนี้

เราขอเน้นย้ำว่า ในช่วงนี้ ความผันผวนของเงินบาทนั้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เราคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.75-36.05 บาท/ดอลลาร์

โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในช่วง 35.80-35.98 บาทต่อดอลลาร์) กดดันโดยจังหวะการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังรายงานข้อมูลยอดผู้ขอรับสวัสดิการ (Jobless Claims) ของสหรัฐฯ ยังคงออกมาดีกว่าคาด สะท้อนภาพตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่ง

นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้กดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลงสู่โซนแนวรับระยะสั้น กดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงตามโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำ อย่างไรก็ดี รายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของสหรัฐฯ ล่าสุดที่ออกมาผสมผสาน

กอปรกับภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้ช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ และทำให้เงินบาทยังคงไม่ได้อ่อนค่าทะลุแนวต้าน 36.00 บาทต่อดอลลาร์ 

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นร้อนแรง หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นเทคฯ ขนาดใหญ่ นำโดย Nvidia +16.4%, Amazon +3.6% หลัง Nvidia รายงานผลกำไรและคาดการณ์ผลกำไรที่ดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังมีความหวังต่อแนวโน้มการเติบโตของหุ้นในธีม AI โดยการปรับตัวขึ้นแรงของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ดังกล่าว ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้นแรง +2.96% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +2.11%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.82% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นแรงของบรรดาหุ้นเทคฯ โดยเฉพาะหุ้นในธีม AI อาทิ ASML +5.1% หลัง Nvidia รายงานผลประกอบการที่ดีกว่าคาด นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากรายงานดัชนี PMI ภาคการบริการที่ออกมาดีกว่าคาดและพลิกกลับมาอยู่ในระดับ 50 จุด

ในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่า บรรยากาศในตลาดการเงินจะกลับมาเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ตามการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นในธีม AI ทว่า รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด ก็ทำให้ ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ย 3 ครั้ง (ลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายน กันยายน และธันวาคม)

ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของเฟดใน Dot Plot ล่าสุด ทำให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ไม่ได้มีปัจจัยหนุนให้ปรับตัวขึ้นต่อมากนัก และยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 4.30% ทั้งนี้ เราประเมินว่า การปรับตัวขึ้นต่อของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ นั้น อาจเป็นไปอย่างจำกัด หลังมุมมองของผู้เล่นในตลาดนั้นเหมือนกับสิ่งที่เฟดประเมินไว้ใน Dot Plot

ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 4.50% ได้นั้น อาจต้องอาศัยมุมมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่า 3 ครั้ง หรือ ไม่ลดดอกเบี้ยลงเลย ซึ่งเราประเมินว่า โอกาสเกิดภาพดังกล่าวมีน้อยมากในปัจจุบัน ดังนั้น Risk-Reward ของการเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวก็ยังคุ้มค่าอยู่ ทำให้เราคงมองว่า นักลงทุนสามารถทยอยเพิ่มสถานะการลงทุนได้ หรือนักลงทุนอาจรอจังหวะ Buy on Dip ก็ได้เช่นกัน

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์มีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามรายงานข้อมูลยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ที่ออกมาดีกว่าคาด ทว่าภาวะเปิดรับความเสี่ยงในตลาดหุ้นสหรัฐฯ รวมถึงรายงานดัชนี PMI ล่าสุดที่ออกมาผสมผสาน

ทำให้ เงินดอลลาร์ก็ยังไม่สามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้และเผชิญการลดสถานะ Long USD ของผู้เล่นในตลาดเพิ่มเติม ส่งผลให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 103.9 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103.6-104.1 จุด)

ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี  รวมถึงภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) ย่อตัวลงสู่โซน 2,030 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง ซึ่งในช่วงโซนราคาดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็ยังคงทยอยเข้าซื้อทองคำอยู่บ้างและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงคืนที่ผ่านมา

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งยูโรโซน อาทิ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนีและยูโรโซน โดย IFO (Business Climate Survey) ในเดือนกุมภาพันธ์

พร้อมกันนั้น ผู้เล่นในตลาดก็จะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ ECB ว่าจะเกิดขึ้นได้เร็วกว่าเฟด (เดือนมิถุนายน) ได้หรือไม่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทิศทางเงินยูโร (EUR) ได้ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าเงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 35.93-35.95 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (9.40 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 35.84 บาทต่อดอลลาร์ฯ

โดยเงินบาทขยับอ่อนค่าลงสอดคล้องกับเงินหยวนและสกุลเงินเอเชียในภาพรวม อย่างไรก็ดี กรอบการอ่อนค่าของเงินบาทยังจำกัด เนื่องจากเงินดอลลาร์ฯ ยังรอปัจจัยใหม่ๆ มากระตุ้น อาทิ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดในคืนนี้ และตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก PCE/Core PCE Price Indices ที่จะประกาศในช่วงสัปดาห์หน้า 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ ระดับ 35.80-36.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินลงทุนต่างชาติ ตัวเลขการส่งออกเดือนม.ค. ของไทย และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด