เงินบาทเปิดเช้าวันนี้ 25พ.ค. ที่ระดับ 34.67 บาทต่อดอลลาร์

25 พ.ค. 2566 | 00:47 น.

เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงต่อในวันนี้ แต่อาจไม่รุนแรงจนทะลุโซนแนวต้านสำคัญที่ 34.75 บาทต่อดอลลาร์ เหตุจากแรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติเริ่มลดลง

ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ 25พ.ค.2566 ที่ระดับ  34.67 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  34.55 บาทต่อดอลลาร์

 

นายพูน   พานิชพิบูลย์   นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทได้ปรับตัวอ่อนค่าลงต่อเนื่อง เข้าใกล้โซนแนวต้าน 34.70-34.75 บาทต่อดอลลาร์ อีกครั้ง ตามจังหวะการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว

 

เรามองว่า เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงต่อได้ในวันนี้ แต่การอ่อนค่าของเงินบาทอาจไม่ได้รุนแรงมากจนทะลุโซนแนวต้านสำคัญ หรืออาจไม่ได้อ่อนค่าจนทะลุระดับ 34.75 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากแรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาตินั้นเริ่มลดลง ดังจะเห็นได้จากการที่นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นสุทธิราว -540 ล้านบาท และ

ขายบอนด์สุทธิเกือบ -1 พันล้านบาท ในวันก่อนหน้า นอกจากนี้ เราประเมินว่า ผู้เล่นบางส่วนอาจรอจังหวะเงินบาทอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านในการขายทำกำไรสถานะ Short THB และผู้เล่นบางส่วนก็อาจเริ่มกลับมา Long THB บ้าง (แต่ยังคงไม่เยอะมาก)

 

นอกจากนี้ เนื่องจากเงินบาทยังขาดปัจจัยหนุนฝั่งแข็งค่า โดยเฉพาะหากนักลงทุนต่างชาติยังไม่กลับมาซื้อสินทรัพย์ไทยชัดเจน เราประเมินว่า แนวรับของเงินบาทก็อาจยังคงอยู่ในช่วง 34.30-34.40 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเราเห็นผู้เล่นบางส่วน อาทิ ผู้นำเข้าทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ในช่วงปลายเดือน

 

ทั้งนี้ เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองสหรัฐฯ (ประเด็นขยายเพดานหนี้) และการเมืองไทย ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.45-34.75 บาท/ดอลลาร์

 

การเจรจาขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ ที่ยังไม่มีสัญญาณความคืบหน้าที่ชัดเจน ยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันให้ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เดินหน้าลดความเสี่ยงพอร์ตอย่างต่อเนื่อง (Risk-Off) อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากรายงานการประชุมเฟดล่าสุด (FOMC Meeting Minutes) ที่ระบุว่า

เจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่ต่างมองว่า การเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่ออาจมีความจำเป็นน้อยลง ทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างมองว่า เฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25% ได้ในการประชุมเดือนมิถุนายน ซึ่งมุมมองดังกล่าวของผู้เล่นในตลาดได้หนุนให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ รีบาวด์ขึ้นได้บ้าง แต่โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.73%

 

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ดิ่งลงแรงกว่า -1.81% โดยมีลักษณะเป็นการเทขายหุ้นทุกกลุ่ม ท่ามกลางแรงกดดันจากรายงานดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (Ifo Business Climate) ที่ออกมาแย่กว่าคาด รวมถึง รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของอังกฤษ ที่ยังคงอยู่ในระดับสูงและ

 

เพิ่มโอกาสที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อ (ผู้เล่นในตลาดเริ่มมองว่า BOE อาจขึ้นดอกเบี้ยจนแตะระดับ 5.00% ในปีนี้) นอกจากนี้ การเจรจาขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ ที่ยังไม่มีความชัดเจนก็เป็นอีกปัจจัยที่กดดันบรรยากาศในตลาดหุ้นยุโรป

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 103.9 จุด โดยมีปัจจัยหนุนมาจากทั้งการอ่อนค่าลงของสกุลเงินฝั่งยุโรป (EUR, GBP) ตามแรงขายหุ้นยุโรป นอกจากนี้ ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดยังคงทำให้ผู้เล่นบางส่วนเลือกที่จะถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven)

 

อนึ่ง เราคงมองว่า การปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์ยังคงถูกจำกัดอยู่ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดยังคงมีความกังวลต่อแนวโน้มการเจรจาขยายเพดานหนี้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจเน้นขายทำกำไร ในจังหวะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น

 

ส่วนในฝั่งราคาทองคำ แม้ว่าตลาดการเงินโดยรวมจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง แต่การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และราคาทองคำก็เป็นปัจจัยที่กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) พลิกกลับมาย่อตัวลงสู่ระดับ 1,960ดอลลาร์ต่อออนซ์

 

ซึ่งเป็นโซนแนวรับของราคาทองคำในระยะสั้น ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจเข้ามาซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ทำให้โฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงคืนที่ผ่านมา

 

สำหรับวันนี้ ในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านประมาณการครั้งที่ 2 ของอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสแรก (GDP Q1/2023) และรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) รวมถึงยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานต่อเนื่อง (Continuing Jobless Claims)

 

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา ความคืบหน้าของการเจรจาขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด รวมถึงรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดเพื่อประเมินโอกาสที่เฟดจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อหรือยุติการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายน