SPECIAL AUDIT คืออะไร? หลัง ก.ล.ต. สั่งใช้กับ STARK

17 พ.ค. 2566 | 22:35 น.

SPECIAL AUDIT คำนี้อาจไม่ได้เห็นบ่อยหากไม่มีปัญหาด้านบัญชี ซึ่งล่าสุดเองทาง ก.ล.ต. ได้สั่งบังคับใช้กับ บริษัท สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) “STARK” หลังไม่ส่งงบการเงิน เพื่อสอบข้อเท็จจริง

SPECIAL AUDIT หรือ การตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ

คือ การตรวจสอบเฉพาะเรื่องที่กำหนด เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ หรือวัตถุประสงค์ตามที่ต้องการ นั่นเอง

โดยกรณีล่าสุดมีเหตุจากการที่ บริษัท สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) "STARK" ไม่ส่งงบการเงินปี 2565 จนล่าสุดเมื่อวานที่ผ่านมา (17 พ.ค. 66) ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้สั่งการให้ทาง STARK ชี้แจงข้อเท็จจริง และความคืบหน้าในการดำเนินการ รวมทั้งจัดให้มีการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ หรือ SPECIAL AUDIT เกี่ยวกับการขาย ลูกหนี้ รายการบัญชีอื่นที่เกี่ยวข้อง และการรับโอนเงินของกลุ่มบริษัทพร้อมทั้งให้นำส่งคำชี้แจงภายใน 7 วัน รวมทั้งนำส่งผลการตรวจสอบเพิ่มเติมภายใน 30 วัน 

SPECIAL AUDIT ต่างจากการตรวจสอบปกติของผู้สอบบัญชีอย่างไร?

  • การตรวจสอบงบการเงินของบริษัทจดทะเบียนโดยผู้สอบบัญชี จะเป็นการตรวจสอบเพื่อให้ผู้สอบบัญชี สามารถแสดงความเห็นต่องบการเงินงวดที่ตรวจสอบ โดยผู้สอบบัญชีจะต้องปฏิบัติตามมาตรฐาน การสอบบัญชี ในขณะที่ SPECIAL AUDIT จะเป็นการตรวจสอบเฉพาะเรื่องหรือขอบเขตงานที่กำหนด เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ เช่น การตรวจสอบความมีอยู่จริงของลูกหนี้การค้า เป็นต้น 

SPECIAL AUDIT คืออะไร? หลัง ก.ล.ต. สั่งใช้กับ STARK

สาเหตุที่ต้องใช้ SPECIAL AUDIT

  • กรณีที่บริษัทจดทะเบียนต้องการตรวจสอบข้อมูลในเรื่องใด ๆ เชิงลึกมากน้อยแค่ไหน ก็สามารถว่าจ้างให้ผู้สอบบัญชีเข้าไปตรวจสอบตามขอบเขตที่กำหนด เพื่อรวบรวม ข้อเท็จจริงและเอกสารหลักฐานโดยเฉพาะเองได้ 
  • ส่วนการสั่ง SPECIAL AUDIT ของ ก.ล.ต. มักเกิดจากกรณีมีเหตุสงสัยเกี่ยวกับความถูกต้อง หรือความชัดเจนของข้อมูลในงบการเงินหรือเอกสารหรือรายงานของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งอาจกระทบสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหลักทรัพย์หรือการตัดสินใจลงทุน ทำให้มีความจำเป็น "ต้องค้นหาข้อเท็จจริง และเอกสารหลักฐานในเชิงลึก" ทั้งข้อมูลทางการเงินและข้อมูลอื่น (non-financial data) ซึ่งมากกว่าการตรวจสอบปกติของผู้สอบบัญชี เพื่อตรวจสอบว่า มีความผิดปกติของข้อมูลในงบการเงินหรือไม่ หรือมีการดำเนินงานที่ไม่เหมาะสมเกิดขึ้นหรือไม่ รวมทั้งเพื่อเป็นการรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องด้วย

อย่างไรก็ตามผู้ลงทุน "ควรให้ความสำคัญกับความเห็นผู้สอบบัญชี" และศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ในงบการเงิน ตลอดจนติดตามข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินการหรือการสั่งการของ ก.ล.ต. รวมถึงความคืบหน้า ที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน 

นอกจากนี้ในช่วงที่บริษัทจดทะเบียนต่าง ๆ จัดประชุมผู้ถือหุ้น  "ควรใช้สิทธิเข้าประชุมผู้ถือหุ้น" เพื่อซักถามกรรมการและผู้บริหารของบริษัทเกี่ยวกับ ข้อมูลต่าง ๆ ในงบการเงิน และข้อสงสัยที่ค้างคาใจ เพื่อส่งสัญญาณว่าผู้ลงทุนจับตามองการทำงาน ของบริษัทอยู่

ที่มา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)