คำต่อคำ: แถลงการณ์ “พาวเวลล์” ส่งสัญญาณอะไรบ้าง

23 มี.ค. 2566 | 05:53 น.

แถลงการณ์ประชุมธนาคารกลางสหรัฐเดือนมี.ค. 2566 ชี้ชัดจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกเพื่อลดเงินเฟ้อให้กลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% โดยเฟดจะจับตาข้อมูลแนวโน้มเศรษฐกิจประกอบการดำเนินนโยบายการเงินอย่างใกล้ชิด

 

ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) ได้ออกแถลงการณ์ภายหลังการประชุม คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ซึ่งเสร็จสิ้นลงในวันพุธที่ 22 มี.ค.ตามเวลาสหรัฐ โดยระบุว่า เมื่อไม่นานมานี้มีสัญญาณบ่งชี้ว่าการใช้จ่ายและการผลิตขยายตัวขึ้นเล็กน้อย ขณะที่ตัวเลขการจ้างงานยังคงอยู่ในทิศทางที่แข็งแกร่ง และอัตราว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำ ส่วน อัตราเงินเฟ้อ ยังคงอยู่ในระดับสูง

ยอมรับสถานการณ์ธนาคารจะทำให้สินเชื่อตึงตัว

ระบบธนาคารสหรัฐมีความแข็งแกร่ง และมีความยืดหยุ่น โดยสิ่งที่เกิดขึ้นในระยะนี้มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดภาวะตึงตัวด้านสินเชื่อต่อภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน และส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และเงินเฟ้อ ซึ่งขอบเขตของผลกระทบเหล่านี้มีความไม่แน่นอน ขณะเดียวกันคณะกรรมการ FOMC ยังคงให้ความสนใจเรื่องความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อเป็นอย่างมาก

"ระบบธนาคารของเรายังคงแข็งแกร่งและมีความยืดหยุ่น โดยมีฐานเงินทุนและสภาพคล่องที่มากเพียงพอ เฟดยังคงติดตามสถานการณ์ในระบบธนาคารอย่างใกล้ชิด และเราพร้อมที่จะใช้เครื่องมือทั้งหมดที่มีอยู่เพื่อปกป้องระบบธนาคารให้มีความปลอดภัยและแข็งแกร่ง นอกจากนี้ เราพร้อมที่จะเรียนรู้บทเรียนที่เกิดขึ้นจากวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ และจะดำเนินการเพื่อป้องกันไม่ให้วิกฤตการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำอีกในอนาคต" 

เจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด

คณะกรรมการ FOMC พยายามหาแนวทางที่จะบรรลุเป้าหมายการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพ และบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ในระยะยาว ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว คณะกรรมการฯ ได้ตัดสินใจปรับเพิ่มกรอบเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นขึ้น 0.25% สู่ระดับ 4.75-5.00% โดยคณะกรรมการจะจับตาข้อมูลเงินเฟ้อในวันข้างหน้าอย่างใกล้ชิด และจะประเมินผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการใช้นโยบายการเงิน

แต่ยังต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อบรรลุเป้าเงินเฟ้อ 2%

คณะกรรมการ FOMC คาดว่า การปรับเพิ่มกรอบเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีกระดับหนึ่งในวันข้างหน้านั้นจะเป็นเรื่องที่เหมาะสม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการรักษาจุดยืนด้านนโยบาย ซึ่งก็คือการลดเงินเฟ้อให้กลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2%

ในการกำหนดขนาดของการปรับขึ้นกรอบเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยในอนาคตนั้น คณะกรรมการฯ จะพิจารณาถึงการคุมเข้มนโยบายการเงินที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาแล้วหลายครั้ง และพิจารณาถึงประเด็นที่ว่าการชะลอนโยบายการเงินจะมีผลกระทบอย่างไรต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมทั้งสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและการเงิน

นอกจากนี้ คณะกรรมการจะยังคงปรับลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) ตามที่ได้อธิบายไว้ในแผนการปรับลดขนาดงบดุลบัญชีของเฟด (Plans for Reducing the Size of the Federal Reserve's Balance Sheet) ซึ่งมีการประกาศในช่วงก่อนหน้านี้ โดยคณะกรรมการมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2%

จับตาข้อมูลแนวโน้มเศรษฐกิจประกอบการพิจารณา

ส่วนในการประเมินแนวทางที่เหมาะสมของนโยบายการเงินนั้น คณะกรรมการจะยังคงจับตาข้อมูลแนวโน้มเศรษฐกิจที่จะได้รับในวันข้างหน้า ขณะเดียวกันคณะกรรมการฯ จะเตรียมความพร้อมเพื่อปรับแนวทางนโยบายการเงินตามความเหมาะสม หากพบว่ามีความเสี่ยงที่จะทำให้เฟดไม่สามารถบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ของคณะกรรมการฯ โดยคณะกรรมการฯ จะประเมินข้อมูลในวงกว้าง ซึ่งรวมถึงข้อมูลด้านสาธารณสุข ภาวะตลาดแรงงาน แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และการคาดการณ์เงินเฟ้อ รวมถึงการพิจารณาสถานการณ์ทางการเงิน และสถานการณ์ในต่างประเทศ

สำหรับกรรมการเฟดผู้ที่ออกเสียงสนับสนุนการดำเนินนโยบายการเงินของ FOMC ในการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ เจอโรม เอช พาวเวลล์ ประธานเฟด, จอห์น ซี วิลเลียมส์ รองประธานเฟด, ไมเคิล เอส บาร์, มิเชล ดับเบิลยู โบว์แมน, ลิซา ดี คุก, ออสแทน ดี กูลส์บี, แพทริก ฮาร์เกอร์, ฟิลิป เอ็น เจฟเฟอร์สัน, นีล แคชคารี, โลรี เค โลแกน และคริสโตเฟอร์ เจ วอลเลอร์

สำหรับ กำหนดการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของเฟดประจำปี 2566 ครั้งต่อไป มีดังนี้  

  • วันที่ 2-3 พ.ค.
  • วันที่ 13-14 มิ.ย.
  • วันที่ 25-26 ก.ค.
  • วันที่ 19-20 ก.ย.
  • วันที่ 31 ต.ค.-1 พ.ย.
  • วันที่ 12-13 ธ.ค.

นอกจากการออกแถลงการณ์ของ FOMC แล้ว นายพาวเวลล์ ประธานเฟด ยังแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนหลังเสร็จสิ้นการประชุม ซึ่งเขาได้กล่าวยืนยันว่า เงินฝากในภาคธนาคารยังคงมีเสถียรภาพในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากเกิดวิกฤตการณ์แห่ถอนเงินจากธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) จนเป็นเหตุให้ธนาคารแห่งนี้ล้มละลาย และทำให้หน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินของสหรัฐต้องใช้มาตรการฉุกเฉินเพื่อฟื้นฟูระบบธนาคารในทันที

"เราได้ออกมาตรการที่แข็งแกร่งร่วมกับกระทรวงการคลังสหรัฐ และบรรษัทค้ำประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC) เพื่อแสดงให้เห็นว่าเงินฝากของประชาชนมีความปลอดภัย" เขากล่าว และยังได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับธนาคาร SVB ว่า ธนาคารแห่งนี้มีระบบการบริหารจัดการที่ "ย่ำแย่" อย่างไรก็ดี เขาเชื่อว่าวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นจากการล้มละลายของ SVB จะ "ไม่ลุกลาม" จนสร้างความเสียหายต่อระบบธนาคารของสหรัฐ

"เรายังไม่พบว่าวิกฤตการณ์ของ SVB ทำให้ระบบการเงินของสหรัฐอ่อนแอลง"

ประธานเฟดยังกล่าวในช่วงท้ายของการแถลงข่าวว่า เขาสนับสนุนให้บุคคลภายนอกเข้ามาตรวจสอบระบบธนาคาร หลังจากการล้มละลายของธนาคาร SVB โดยมองว่า การตรวจสอบเรื่องนี้ควรมีความเป็นอิสระแบบ 100% เพื่อพิสูจน์ว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่กับ SVB และเฟดยินดีสนับสนุนการตรวจสอบในครั้งนี้ แต่ในขณะเดียวกันเฟดก็มีกระบวนการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวในแบบของเฟดเองอยู่แล้วเช่นกัน