เงินบาทเปิดเช้าวันนี้ ที่ระดับ 32.73 บาทต่อดอลลาร์

24 ม.ค. 2566 | 01:22 น.

เงินบาทไม่ได้แข็งค่ามากจากการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำช่วยลดแรงกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ มองกรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.60-32.85 บาท/ดอลลาร์

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (24ม.ค.2566)ที่ระดับ 32.73 บาทต่อดอลลาร์ "แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 32.76 บาทต่อดอลลาร์

 
นายพูน   พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุนธนาคารกรุงไทยระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า การรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำช่วยลดแรงกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ทำให้ในช่วงเมื่อคืนที่ผ่านมา เงินบาทไม่ได้อ่อนค่าไปมากนัก

อย่างไรก็ดี ในวันนี้ เราประเมินว่า แรงกดดันเงินบาทในฝั่งอ่อนค่ายังคงมีอยู่บ้าง ตามการปรับตัวแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ซึ่งต้องรอลุ้นรายงานดัชนี PMI ทั้งในฝั่งสหรัฐฯ และยุโรป โดยหากดัชนี PMI ในฝั่งยุโรปออกมาดีกว่าคาด 


สวนทางกับรายงานดัชนี PMI ฝั่งสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาด ในกรณีดังกล่าว เงินดอลลาร์ก็อาจพลิกกลับมาอ่อนค่าลงได้บ้าง ทั้งนี้ หากเงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้น

เรายังคงมองแนวรับสำคัญในช่วง 32.50-32.60 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากผู้เล่นบางส่วนต่างก็รอทยอยซื้อเงินดอลลาร์และทยอยขายทำกำไร Short USDTHB

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.60-32.85 บาท/ดอลลาร์

ความหวังของผู้เล่นในตลาดว่า เฟดจะชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยยังคงเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนให้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ที่ต่างปรับตัวขึ้นแรง (Tesla +7.7%, Nvidia +7.6%, Apple +2.4%) ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้น +2.01% ส่วน ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.19%

 

ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ อย่าง Microsoft, Tesla, ASML ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีโอกาสพลิกกลับมาย่อตัวลงได้ หากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ออกมาแย่กว่าคาด

ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องกว่า +0.52% หนุนโดยความหวังว่าเศรษฐกิจยุโรปอาจไม่ได้เผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่รุนแรงอย่างที่ตลาดเคยกังวลก่อนหน้า

หลังจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งยุโรปในช่วงที่ผ่านมาส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ ภาพเศรษฐกิจยุโรปยังได้แรงหนุนจากการเปิดประเทศของจีน ซึ่งในขณะเดียวกันก็เป็นปัจจัยช่วยให้หุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมต่างปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ปัจจัยกดดันตลาดหุ้นยุโรปยังคงเป็นแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) หลังประธาน ECB รวมถึงเจ้าหน้าที่ ECB ท่านอื่นๆ ต่างก็ออกมาสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย จนกว่า ECB จะสามารถคุมปัญหาเงินเฟ้อได้สำเร็จ

ในส่วนของตลาดบอนด์นั้น แม้ว่าผู้เล่นในตลาดจะมั่นใจว่า เฟดอาจชะลอการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลงใกล้ระดับ 3.30%

แต่ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม ก็ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนเริ่มขายทำกำไรการถือครองบอนด์ระยะยาวออกมาบ้าง ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 3.51% อีกครั้ง

ทั้งนี้ เราคงมองว่า บอนด์ยีลด์ระยะยาวมีแนวโน้มปรับตัวลงชัดเจน ตามการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักที่จะลดความเข้มงวดลง แต่นักลงทุนก็ควรรอจังหวะให้บอนด์ยีลด์ระยะยาวปรับตัวสูงขึ้น เพื่อทยอยเพิ่มสถานะการลงทุน (Buy on Dip) มากกว่าที่จะไล่ซื้อในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวลดลง

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นกลับสู่ระดับ 102 จุด อีกครั้ง หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ
.

ซึ่งกดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่าลงสู่ระดับ 130 เยนต่อดอลลาร์ ส่วนค่าเงินยูโร (EUR) แม้ว่าจะปรับตัวแข็งค่าขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือนที่ 1.091 ดอลลาร์ต่อยูโร ตามแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของ ECB แต่ทว่าผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็เริ่มทยอยขายทำกำไรสถานะ Long EUR

ทำให้เงินยูโรย่อตัวลงมาสู่ระดับ 1.087 ดอลลาร์ต่อยูโร อย่างไรก็ดี แม้ว่า เงินดอลลาร์ รวมถึงบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวสูงขึ้น ทว่า ความเชื่อมั่นของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่าเฟดจะชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยอย่างแน่นอน ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ.) สามารถรีบาวด์ขึ้นจากโซนแนวรับ สู่ระดับ 1,930 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้อีกครั้ง

ซึ่งเรามองว่า การปรับตัวขึ้นใกล้โซนแนวต้านดังกล่าวของราคาทองคำ อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยให้เงินบาทไม่ได้อ่อนค่าไปมาก ตามการรีบาวด์ของเงินดอลลาร์


สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจหลักผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (S&P Global Manufacturing & Services PMIs) โดยในฝั่งสหรัฐฯ ตลาดประเมินว่า ภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งและตึงตัวจะช่วยหนุนการใช้จ่ายในภาคการบริการ ซึ่งจะสะท้อนผ่านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (S&P Global Services PMI) ในเดือนมกราคมที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 45 จุด

ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดมองว่า ดัชนี PMI ภาคการบริการของยูโรโซน ในเดือนมกราคม อาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 50.2 จุด อย่างไรก็ดี ภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงอาจกระทบต่อภาคการผลิตอุตสาหกรรมของยูโรโซนทำให้ ดัชนี PMI ในภาคการผลิตอาจอยู่ที่ระดับ 48 จุด สะท้อนภาวะหดตัวต่อเนื่องในภาคการผลิตอุตสาหกรรม

นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงิน ECB รวมถึงรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ทั้งในฝั่งสหรัฐฯ และยุโรป อาทิ Microsoft, 3M เป็นต้น

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าเงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 32.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (9.00 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 32.74 บาทต่อดอลลาร์ฯ

 

โดยเงินบาทเคลื่อนไหวใกล้เคียงระดับปิดตลาดวันก่อนหน้า แต่อาจมีแรงหนุนในระหว่างวันจากการคาดการณ์ว่าเฟดมีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 25 bps. ในการประชุม FOMC รอบแรกของปีนี้ในสัปดาห์หน้า (31 ม.ค.-1 ก.พ.) นอกจากนี้ตลาดยังกำลังประเมินความเป็นไปได้ของการชะลอการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมรอบถัดๆ ไป ด้วยเช่นกัน 

 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 32.60-32.85 บาทต่อดอลลาร์ฯ

 

ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขการส่งออกของไทยเดือนธ.ค. ทิศทางเงินทุนต่างชาติ การเคลื่อนไหวของสกุลเงินเอเชีย และตัวเลขดัชนี PMI ขั้นต้นเดือนม.ค. ของสหรัฐฯ ยูโรโซนและอังกฤษ

 

นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามจุดสนใจเพิ่มเติมของปัจจัยในประเทศจากการประชุม กนง. ในวันพรุ่งนี้