ดาวโจนส์ปิดพุ่ง 254 จุด รับแรงซื้อหุ้นเทคโน คาดเฟดชะลอขึ้นดอกเบี้ย

23 ม.ค. 2566 | 23:34 น.

ดาวโจนส์ปิดพุ่งขึ้นในวันจันทร์ (23 ม.ค.) ขณะที่ดัชนี S&P500 และ Nasdaq ปรับตัวขึ้นแข็งแกร่ง จากการพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี รวมทั้งคาดการณ์เฟด จะขึ้นดบ.เพียง 0.25%

 

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,629.56 จุด พุ่งขึ้น 254.07 จุด หรือ +0.76%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,019.81 จุด เพิ่มขึ้น 47.20 จุด หรือ +1.19% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,364.41 จุด พุ่งขึ้น 223.98 จุด หรือ +2.01%
         

ตลาดได้รับปัจจัยบวกจากการคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากความเห็นของนายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ ผู้ว่าการเฟดซึ่งกล่าวว่า เฟดอาจใกล้ถึงจุดที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการชะลอเงินเฟ้อ
         

ทั้งนี้ นักลงทุนให้น้ำหนักเกือบ 100% ในการคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% ในการประชุมวันที่ 31 ม.ค. - 1 ก.พ. หลังดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อของสหรัฐได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว
 

หุ้น 10 ใน 11 กลุ่มที่คำนวณในดัชนี S&P500 ปิดในแดนบวก นำโดยดัชนีหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีพุ่งขึ้นแข็งแกร่งถึง 2.3% โดยหุ้นไมโครซอฟท์ ดีดขึ้น 0.98% หุ้นแอปเปิ้ล พุ่งขึ้น 2.35% หุ้นอัลฟาเบท เพิ่มขึ้น 1.81% หุ้นเมตา แพลตฟอร์ม พุ่งขึ้น 2.8%
         

หุ้นกลุ่มผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์พุ่งขึ้นเช่นกัน โดยหุ้นอินเทล ทะยานขึ้น 3.59% หุ้นอินวิเดีย พุ่งขึ้น 7.59% หุ้นไมครอน เทคโนโลยี พุ่งขึ้น 5.75% หุ้นควอลคอม พุ่งขึ้น 6.62%
         

นักลงทุนจับตารายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนรายใหญ่ในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงไมโครซอฟท์, เทสลา, โบอิ้ง, 3M, ยูเนียน แปซิฟิก คอร์ป และนอร์ธรอป กรัมแมน
         

ข้อมูลจากรีฟินิทิฟ (Refinitiv) ระบุว่า บริษัท 57 แห่งที่จดทะเบียนในดัชนี S&P500 ได้รายงานผลประกอบการประจำไตรมาส 4/2565 แล้ว โดยในจำนวนนี้มี 63% ที่รายงานผลประกอบการที่ดีเกินคาด
 

นักลงทุนรอดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงการเปิดเผยตัวเลขประมาณการเบื้องต้นของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 4/2565 ในวันพฤหัสบดีนี้ และการเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในวันศุกร์ โดยดัชนี PCE เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค อีกทั้งมีความครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)