รู้หรือไม่ว่า...หุ้น IPO จัดสรรอย่างไร?

29 ธ.ค. 2565 | 20:03 น.

"การจัดสรรหุ้น IPO ให้แก่ผู้ลงทุน" บทความโดย : ฝ่ายจดทะเบียนหลักทรัพย์ 1 และ 2 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

 

หุ้นที่ออกใหม่และเสนอขายต่อประชาชน (IPO) ยังเป็นที่สนใจของผู้ลงทุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการออกหุ้น IPO ถือเป็นกลไกหนึ่งในการระดมทุนของภาคธุรกิจจากประชาชนเพื่อนำไปใช้จ่ายเป็นเงินทุนหมุนเวียนหรือขยายกิจการ ขณะที่ประชาชนก็มีโอกาสลงทุนในหุ้นก่อนที่หุ้นนั้นจะมีการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ การจัดสรรหุ้นเพื่อให้การระดมทุนสัมฤทธิ์ผลจึงเป็นขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญ 

 

รู้หรือไม่ว่า...หุ้น IPO จัดสรรอย่างไร?

 

บริษัทมหาชนจำกัดที่มีการออกและเสนอขายหุ้น IPO (issuer) จะร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่รับจองและจัดสรรหุ้น ที่เรียกว่า “ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์” หรือ underwriter ในการกำหนดสัดส่วนการเสนอขายหุ้น IPO ให้กับผู้ลงทุนในกลุ่มต่าง ๆ โดยพิจารณาถึงความเหมาะสมทั้งด้านปัจจัยพื้นฐานและความเสี่ยงของบริษัทที่เสนอขาย เพื่อให้บริษัทระดมทุนได้ครบถ้วนบรรลุเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ และสามารถนำเงินไปใช้ตามแผนงานของบริษัทต่อไปตามที่ได้เปิดเผยไว้ในหนังสือชี้ชวน   
 

 

การจัดสรรหุ้น IPO แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ดังนี้ 
     

 

(1) กลุ่มที่บริษัท issuer เป็นผู้จัดสรร เช่น การจัดสรรให้กรรมการพนักงาน บุคคลที่มีความสัมพันธ์ (Related Persons: RP) หรือผู้มีอุปการคุณที่สร้างประโยชน์อย่างชัดเจนให้แก่บริษัท เป็นต้น เนื่องจากผู้ลงทุนกลุ่มนี้เป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดและมีความคุ้นเคยกับ issuer ก.ล.ต. จึงกำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรหุ้น IPO สำหรับการจัดสรรให้กับผู้มีอุปการคุณ โดยมีสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 15 ของจำนวนหุ้นที่เสนอขาย และเมื่อรวมกับกรรมการพนักงานและ RP จะต้องไม่เกินร้อยละ 25 ของจำนวนหุ้นที่เสนอขาย เพื่อให้มีการกระจายหุ้น IPO ให้กับผู้ลงทุนทั่วไปอย่างเพียงพอ ไม่กระจุกตัวกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่ง สอดคล้องกับแนวทางการจัดสรรหุ้น IPO ของต่างประเทศ
     

(2) กลุ่มที่ underwriter เป็นผู้จัดสรร กลุ่มนี้ถือเป็นสัดส่วนหลักของการจัดสรรหุ้น IPO โดยมี underwriter ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างบริษัทที่เสนอขายกับผู้ลงทุนทั่วไป และจะเป็นผู้พิจารณาจัดสรรหุ้นและให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการลงทุนแก่ผู้จองซื้อหุ้น ที่ผ่านมาการจัดสรรหุ้นของ underwriter จะเป็นการจัดสรรให้แก่ลูกค้าของ underwriter เป็นหลัก เช่น ลูกค้าที่ซื้อขายหลักทรัพย์ เป็นต้น โดยการจัดสรรจะเป็นไปตามปัจจัยหรือเงื่อนไข (criteria) ที่ underwriter กำหนด เช่น สัดส่วนรายได้จากค่าธรรมเนียมที่ได้รับจากลูกค้าในการซื้อขายหลักทรัพย์ เป็นต้น จึงมักพบว่าผู้ลงทุนรายใหญ่ของบริษัทหลักทรัพย์จะได้รับการจัดสรรหุ้น IPO 

 

 

ส่วนกรณีที่การระดมทุนของ issuer อยู่ในความสนใจของผู้ลงทุนสถาบัน (institutional investor) ทั้ง issuer และ underwriter ก็อาจจัดสรรหุ้น IPO ให้แก่ผู้ลงทุนสถาบันดังกล่าวเพิ่มเติมด้วย ทั้งนี้ ในการจัดสรรหุ้น underwriter ต้องทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระและไม่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ โดยอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ที่ ก.ล.ต.ประกาศกำหนด เช่น ห้ามจัดสรรหุ้นให้บริษัทย่อยของ issuer หรือกรรมการ ผู้บริหาร หรือผู้ถือหุ้นใหญ่ของ underwriter รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับ underwriter ด้วย อย่างไรก็ดี  underwriter อาจต้องรับซื้อหุ้นส่วนที่เหลือเข้าพอร์ตโฟลิโอของบริษัทเองด้วยหากไม่สามารถจัดสรรได้ตามจำนวนที่สัญญากำหนด 

 

ทั้งนี้ บริษัทที่เสนอขายหุ้น IPO และ underwriter จะต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการจัดสรรหุ้น IPO ไม่ว่าจะเป็นหลักเกณฑ์การจัดสรร ชื่อกลุ่มบุคคลที่จะได้รับจัดสรร และสัดส่วนหรือจำนวนหุ้น IPO ที่จะได้รับจัดสรรไว้ในหนังสือชี้ชวนอย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้ลงทุนรับทราบข้อมูลและนำไปประกอบการตัดสินใจลงทุน