สบายแคป ยึดฐานลูกค้า SABUY รุกสินเชื่อ 5 พันล้านบาท

19 ต.ค. 2565 | 12:33 น.

“สบายแคปปิตอล พลัส” ปี 66 ตั้งเป้าสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท เจาะฐานลูกค้ากลุ่ม SABUY กว่า 9 ล้านรายก่อน เผยรายย่อยวงเงินกู้ 7-8 หมื่นบาท ดอกเบี้ยคิดไม่เกิน 15% เน้นสินเชื่อคุณภาพ ชี้สคบ.คุมเพดานดอกเบี้ยดาบสองคม ผู้บริโภคได้ดอกเบี้ยไม่สูง แต่ปิดโอกาสคนที่คุณภาพไม่ดี

สบาย แคปปิตอล พลัส” หนึ่งในระบบนิเวศน์ธุรกิจของบริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการต่อยอดธุรกิจให้กับกลุ่มลูกค้าในเครือสบายให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากยิ่งขึ้น จากปัจจุบันที่ SABUY มีฐานลูกค้ารายย่อยกว่า 9 ล้านรายและกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีกเกือบแสนราย รวมถึงพันธมิตรในระบบ Ecosystem อีกหลายรายที่มีข้อมูลในการปล่อยสินเชื่อ

 

นายจตุฤทธิ์ จันทรกานต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สบาย แคปปิตอล พลัส จำกัดเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัทอยู่ระหว่างปรับโครงสร้างองค์กร ปรับระบบการทำงาน และปรับระบบ Core System เพื่อจะรุกตลาดเต็มที่ในปี 2566 โดยตั้งเป้าขยายสินเชื่อจำนวน 5,000 ล้านบาท เน้นสินเชื่อคุณภาพไม่สร้างภาระประเทศชาติโดยรวม โดยแนวทางทำตลาดของสบายแคปฯ จะค่อยๆ เจาะฐานลูกค้าที่มีอยู่กว่า 9 ล้านราย ซึ่งเป็นลูกค้าที่ใช้บริการในกลุ่มสบายและลูกค้าที่เกี่ยวกับการจัดหาแรงงาน การ์ด เฮชอาร์

นายจตุฤทธิ์ จันทรกานต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สบาย แคปปิตอล พลัส จำกัด

ทั้งนี้บริษัท สบายแคปฯ ต้องการส่งเสริมให้ลูกค้ามีอาชีพรวมทั้งการลดภาระหนี้ แก้ปัญหาหนี้  โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่ประกอบธุรกิจในนามบุคคลธรรมดาหรือธุรกิจขนาดเล็ก เพราะธนาคารในระบบอาจมีวิธีพิจารณาสินเชื่ออย่างระมัดระวัง ทำให้ผู้บริโภคบางส่วนต้องออกไปกู้เงินนอกระบบ ในอัตราดอกเบี้ย 20%ต่อเดือน ซึ่งบริษัทกำลังพิจารณาว่า จะเข้าไปช่วยผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้อย่างไร

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันจะเน้นช่วยเหลือผู้ประกอบการในกลุ่มสบายก่อน เช่น ลูกค้าขยายฐานแฟรนด์ไชส์ ร้านซักอบรีด ร้านอาหาร ต่อ ยอดอุปกรณ์ หรือตู้กดน้ำ ไม่ว่าจะเป็นเช่าหรือรวมถึงด้านการเงิน และประกันภัยครบวงจร

 

“เรามีตลาดอยู่แล้ว จากฐานลูกค้าในกลุ่มสบาย ที่สามารถใช้ประโยชน์ในบริการของบริษัทที่ให้ความสำคัญเรื่อง การแบ่งเบาภาระ เช่น รีไฟแนนซฟ์หนี้ หรือขอสินเชื่อ 7-8 หมื่นบาทต่อราย สำหรับรายย่อย ส่วนรายใหญ่ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์” นายจตุฤทธิ์กล่าว

 

สำหรับปี 2565 นั้น บริษัทฯ ยังไม่รุกทำตลาด เพราะถือว่าเป็นช่วงกำลังเรียนรู้และศึกษาความเป็นไปได้ในการทำตลาด ส่วนหนึ่ง เพราะเป็นผลจากการระบาดของโควิด-19 และเศรษฐกิจเพิ่งฟื้นตัว ที่สำคัญ บริษัทฯมุ่งช่วยคนตัวเล็กที่ต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน สบายแคปฯ จะเป็นทางเลือกหนึ่งได้ ซึ่งได้ทำหลายโครงการ

สบายแคป ยึดฐานลูกค้า SABUY รุกสินเชื่อ 5 พันล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แม้ขณะนี้บริษัทฯ ยังไม่มีใบอนุญาต (ไลเซ่นต์)นาโนไฟแนนซ์โดยตรง แต่ในกลุ่มสบาย มีบริษัทอื่นๆ ที่ซื้อและร่วมลงทุนจึงมีใบอนาญาตในการดำเนินธุรกิจได้หลากหลาย ไม่ว่า ลีสซิ่ง นาโนไฟแนนซ์ ไมโครและกำลังพิจารณาว่า จะขอไลเซนต์เพิ่มต่างหากหรือจะไปด้วยกันทั้งกลุ่มอย่างมีศักยภาพอย่างไร ทั้งนี้ การให้บริการในกลุ่มจะคิดดอกเบี้ยตามกฎหมายไม่เกิน 15%ต่อปี

 

ดังนั้น ช่วง 8-9 เดือนปีนี้ สบายแคปฯอยู่ระหว่างเรียนรู้ตลาด (Learning By Doing) ไม่เน้นเชิงตัวเลข เพราะเศรษฐกิจไม่เอื้อต่อการจะรุกทำตลาด ซึ่งจะเป็นผลร้ายทั้งบริษัทและลูกค้า แม้จะสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์หลากหลาย ที่ไม่สร้างภาระกับลูกค้าตามเจตนารมณ์ของกลุ่มมุ่งช่วยคนตัวเล็ก อีกทั้งในกลุ่มสบาย มีหลายบริษัทจะแบ่งตลาดตามความชำนาญทำงานเป็นทีมเสิร์ฟคนตัวเล็ก โดยไม่แข่งกันเองในกลุ่มและ ไม่สร้างภาระให้ลูกค้า

 

ต่อข้อถามถึงประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่องให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญาพ.ศ.2565 นั้น นายจตุฤทธิ์กล่าวว่า ประกาศของสคบ.เป็นเหมือนดาบสองคม คือเป็นโอกาสที่ดีของลูกค้า ผู้บริโภคที่จะได้ดอกเบี้ยในอัตราไม่สูง แต่ในทางกลับกันจะเป็นการปิดตลาดหรือทำให้ตลาดเสียรูปบ้างจากการที่สถาบันการเงินจะเพิ่มเงื่อนไขในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ

 

นอกจากพิจารณาเงินดาวน์แล้ว ยังต้องพิจารณาลูกค้าที่ความเสี่ยงต่ำ รวมถึงการที่ต้องเลือกยี่ห้อรถตลาด เพราะถ้าดอกเบี้ยต่ำโอกาสที่ผู้ประกอบการจะเสี่ยงปล่อยสินเชื่อสำหรับลูกค้าที่ศักยภาพไม่ดีก็จะลดน้อย ฉะนั้นคนที่ลำบากอยู่แล้วก็จะลำบากเพิ่มเติมขึ้น และการเข้าถึงสินเชื่อรถยนต์หรือมอไซด์ ยานพาหนะต่างๆจะน้อยลงเช่นกัน

 

“จริงๆ เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว เคยมีการควบคุมอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคล ผมเคยพูดว่า จะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งในที่สุดผู้บริโภคก็ต้องหาสินเชื่อนอกตลาด จนถึงทุกวันนี้ก็ยังแก้ไขไม่ได้ แม้ภายหลังจะเปิดให้มีการทำธุรกิจนาโน ไฟแนนซ์หรือพิโกไฟแนนซ์ อัตราดอกเบี้ยก็สูงเช่นกัน แล้วก็กลับไปเหมือนเดิม” นายจตุฤทธิ์กล่าว

 

โดยเฉพาะสินเชื่อมอเตอร์ไซด์นั้น โอกาสที่ผู้ประกอบการจะเปิดรับจะลดน้อยลง เช่น ถ้าเป็นลูกค้าทั่วไปที่ใช้มอเตอร์ไซด์ในชีวิตประจำวัน ความเสี่ยงอาจจะไม่มาก แต่กลุ่มอื่นๆ ความเสี่ยงหนี้เสียค่อนข้างสูง ดังนั้น ในแง่ลูกค้าใหม่ที่จะเข้ามาในระบบก็ต้องมีศักยภาพ ส่วนรายที่คุณภาพไม่ดีก็ลำบาก เช่นกันกับกลุ่มลูกค้าเก่า ผู้ประกอบการจะรู้จักลูกค้าจากประวัติที่มีอยู่แล้ว หากรายใดประวัติดีอยู่แล้วก็สามารถจะเข้าถึงบริการได้

 

หน้า 13  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,828 วันที่ 20 - 22 ตุลาคม พ.ศ. 2565