ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 37.80 บาทต่อดอลลาร์

04 ต.ค. 2565 | 00:58 น.

เงินบาทอาจชะลอการอ่อนค่าลงบ้างจากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดโซนแนวรับอยู่ที่ 37.50-37.70 บาทต่อดอลลาร์ เป็นระดับที่ผู้นำเข้าต่างรอเข้าซื้อเงินดอลลาร์

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 37.80 บาทต่อดอลลาร์“แข็งค่าขึ้น”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 38.08 บาทต่อดอลลาร์

 

นายพูน   พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดอาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทลงได้บ้าง

 

อย่างไรก็ดี ต้องจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติว่าจะกลับมาซื้อสุทธิสินทรัพย์ไทย อย่างต่อเนื่องได้หรือไม่ นอกจากนี้ หากราคาทองคำสามารถปรับตัวทะลุโซนแนวต้านแถว 1,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้อย่างต่อเนื่อง เรามองว่า โฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรราคาทองคำก็อาจจะช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทได้บ้าง (หรือชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท) ในระยะสั้นนี้

ในส่วนภาพเทคนิคัลนั้น จะเห็นได้ว่า กราฟเงินบาท Daily และ Weekly อาจเริ่มเห็นสัญญาณ Bearish Divergence กำลังก่อตัวขึ้น ซึ่งอาจสะท้อนว่า เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้บ้างหรือแกว่งตัว sideways ในระยะสั้นนี้

 

อย่างไรก็ดี เรามองว่า สภาพคล่องในตลาดที่เบาบางในช่วงนี้ ยังคงมีส่วนที่ทำให้ เงินบาทยังคงมีโอกาสผันผวนและแกว่งตัวในกรอบที่กว้าง โดยโซนแนวรับของเงินบาทอาจอยู่ในโซน 37.50-37.70 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ผู้นำเข้าต่างรอเข้าซื้อเงินดอลลาร์

 

ขณะที่บรรดาผู้ส่งออกอาจรอจังหวะทยอยขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทอ่อนค่าใกล้ระดับ 38.20-38.30 บาทต่อดอลลาร์

 

ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนของหลายปัจจัย เราคงแนะนำให้ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ Options ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงได้ดีในช่วงที่ตลาดผันผวนหนัก

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 37.70-38.00 บาท/ดอลลาร์

 

“Bad news is Good news for the market” โดยผู้เล่นในตลาดการเงินสหรัฐฯ พลิกกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ท่ามกลางความหวังว่า เฟดอาจไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงต่อเนื่อง หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ

 

ล่าสุด อาทิ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม  (ISM Manufacturing PMI) เดือนกันยายน ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 50.9 จุด (ดัชนีสู่กว่า 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว) แย่กว่าที่ตลาดคาดและเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี จากผลกระทบของคำสั่งซื้อใหม่ที่หดตัวต่อเนื่อง

 

นอกจากนี้ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่าเฟดอาจไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง ยังได้ช่วยหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงราว 20bps สู่ระดับ 3.62% หนุนให้ หุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น

 

นำโดย Microsoft +3.4%, Apple +3.1% ทำให้ดัชนี S&P500 รีบาวด์ขึ้นแรงกว่า +2.59% ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน (Chevron +5.6%, Exxon Mobil +5.3%) ตามราคาน้ำมันดิบ WTI ที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 83 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากความหวังกลุ่ม OPEC+ อาจมีมติลดกำลังการผลิตลงไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวันและการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ 

 

ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป รีบาวด์ขึ้นกว่า +0.77% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงานตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น นำโดย Equinor +3.4%, TotalEnergies +3.1%

 

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการีบาวด์ขึ้นของหุ้นเทคฯ อาทิ ASML +1.8% ตามการทยอยปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ระยะยาวในฝั่งยุโรป อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นยุโรปยังคงถูกกดดันด้วยความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลงหนัก จากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางและความเสี่ยงวิกฤตพลังงานในยุโรป

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน บรรยากาศในตลาดการเงินที่พลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ได้ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดทยอยลดสถานะถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยยอดฮิต อย่าง เงินดอลลาร์ ส่งผลให้ เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก

 

โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) พลิกกลับมาปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 111.6 จุด นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) สู่ระดับ 1.13 ดอลลาร์ต่อปอนด์ หลังรัฐบาลอังกฤษเตรียมปรับแผนงบประมาณใหม่ โดยอาจไม่มีการลดภาษีเงินได้สำหรับผู้มีรายได้สูง ทำให้ตลาดเริ่มคลายกังวลปัญหาการคลังของรัฐบาลอังกฤษ

 

ทั้งนี้ การปรับตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทะลุโซนแนวต้าน สู่ระดับ 1,709 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้เริ่มมีแรงขายทำกำไรการรีบาวด์ออกมาบ้าง ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรดังกล่าวก็มีส่วนที่ช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทได้

 

สำหรับวันนี้ ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดจะรอติดตามรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ อย่าง ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) โดยตลาดคาดว่า Job Openings อาจสูงกว่า 11 ล้านตำแหน่ง หรือเกือบ 2 เท่าของจำนวนผู้ว่างงาน สะท้อนภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังคงอยู่ในภาวะตึงตัวและอาจยังทำให้เฟดสามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องได้ และ

 

นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดเพื่อประเมินมุมมองของเฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย หลังในสัปดาห์ที่ผ่านมา บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างออกมามาสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ยจนกว่าจะคุมปัญหาเงินเฟ้อได้

 

อย่างไรก็ดี เราเริ่มเห็นเจ้าหน้าเฟดบางส่วนแสดงความกังวลผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ทำให้มีโอกาสที่เฟดอาจไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยไปมากกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด หากแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอลงชัดเจนมากขึ้น พร้อมกับการปรับตัวลดลงของเงินเฟ้อ

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับ 37.90-37.92 บาทต่อดอลลาร์ฯ (9.20 น.) แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 38.13 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับทิศทางสกุลเงินในภูมิภาค

 

ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงตามการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ หลังข้อมูลภาคการผลิตของสหรัฐฯ ออกมาอ่อนแอกว่าคาด (ดัชนี ISM ภาคการผลิตลดลงไปอยู่ที่ 50.9 ในเดือนก.ย. ต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี ต่ำกว่าที่ตลาดคาดที่ 52.3 และต่ำกว่า 52.8 ในเดือนส.ค.)

 

นอกจากนี้เงินดอลลาร์ฯ ยังเผชิญแรงขาย โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเงินปอนด์ ซึ่งได้รับแรงหนุนจากการที่รัฐบาลอังกฤษยกเลิกแผนการปรับลดภาษีเงินได้ในกลุ่มผู้มีรายได้สูง ทั้งนี้แม้เงินบาทจะขยับแข็งค่าขึ้นในช่วงเช้า แต่ยังคงต้องระมัดระวังกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่อาจจะยังผันผวนในระหว่างวัน 

 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้คาดไว้ที่ 37.70-38.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามจะอยู่ที่กระแสเงินทุนต่างชาติและสถานการณ์ค่าเงินในภูมิภาค ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ตลอดจนตัวเลขยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนส.ค. และ

 

ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงานเดือนส.ค. ของสหรัฐฯ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมธนาคารกลางออสเตรเลีย (อาจปรับขึ้นดอกเบี้ย 50 bps.) และตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนส.ค. ของยูโรโซนด้วยเช่นกัน