แบงก์ชาติทั่วโลกแห่ปรับขึ้นดอกเบี้ยตามเฟด

23 ก.ย. 2565 | 00:25 น.

ธนาคารกลางทั่วโลกแห่ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายวานนี้ (22 ก.ย.) หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.75% ไปอยู่ที่ระดับ 3.00%-3.25% เมื่อวันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา พร้อมส่งสัญญาณว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยครั้งใหญ่อีกในปีนี้เพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อ

การปรับขึ้นดอกเบี้ย ของ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อวันพุธ (21 ก.ย.) นั้น เป็นการปรับขึ้น ดอกเบี้ยนโยบาย ในอัตรา 0.75% ตามคาด และเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 5 ในรอบปีนี้ หรือนับตั้งแต่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) เดือนมีนาคมเป็นต้นมา และ ธนาคารกลาง ทั่วโลกตั้งแต่อินโดนีเซียไปจนถึงนอร์เวย์ ต่างก็ปรับขึ้นดอกเบี้ยในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังเฟดประกาศขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าว

 

มีข้อยกเว้นกรณีของ ญี่ปุ่น ที่มีมาตรการและนโยบายการเงินที่แตกต่างไปจากกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมพัฒนาแล้วรายอื่น ๆ โดยญี่ปุ่นยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอัตราเดิมเมื่อวันพฤหัสบดี (22 ก.ย.) แม้จะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากค่าเงินเยนที่อ่อนค่าหนักเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ จนทำให้ญี่ปุ่นต้องตัดสินใจแทรกแซงค่าเงินเยนเป็นครั้งแรกในรอบ 24 ปี

 

นักวิเคราะห์ระบุว่า การที่ญี่ปุ่นยังคงดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในอัตราต่ำใกล้ศูนย์ในปัจจุบันนั้น เหตุผลเพียงเพื่อพยุงเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวอย่างเปราะบาง แต่ก็เชื่อว่า ญี่ปุ่นอาจต้านทานพลวัตนี้ไม่ได้นาน เนื่องจากกระแสการปรับขึ้นดอกเบี้ยในนานาประเทศทั่วโลกทำให้ต้นทุนการกู้ยืมปรับสูงขึ้นไปทั่วโลกด้วยเช่นกัน

 

สำรวจการขึ้นดอกเบี้ยของนานาประเทศ

จากการประมวลของสำนักข่าวรอยเตอร์พบว่า ธนาคารกลางทั่วโลกกำลังต่อสู้กับการภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูง ที่ระดับ 3.5% ในสวิตเซอร์แลนด์ ไปจนถึงเกือบ 10% ในอังกฤษ เนื่องจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่เรื้อรังมาจากวิกฤตการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ราคาพลังงาน และราคาสินค้าพุ่งสูง เนื่องจากการบุกยูเครนของรัสเซีย แต่มาตรการจัดการเงินเฟ้อของฝ่ายกำกับดูแลนโยบายการเงินมาพร้อมกับความเสี่ยงที่จะสกัดกั้นการเติบโตของเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน

 

  • แบงก์ชาติสหรัฐ (เฟด) หลัง FOMC มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% ในการประชุมครั้งล่าสุด นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด กล่าวว่า “ผมหวังว่าจะมีหนทางที่ไร้ความเจ็บปวดในการทำสิ่งนี้ (แก้ปัญหาเงินเฟ้อ) แต่มันก็ไม่มีทางเลย” เขาคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเติบโตในระดับที่ช้ามาก และอัตราว่างงานจะพุ่งถึงระดับที่เข้าข่ายเศรษฐกิจถดถอย ประธานเฟดประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐ จะขึ้นไปอยู่ที่ 4.40% ภายในปีนี้ และ 4.60% ในปีหน้า ขณะที่นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% สู่ระดับ 3.75-4.00% ในการประชุมวันที่ 1-2 พ.ย.นี้ และคาดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายของปีนี้อีก 0.50% สู่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมวันที่ 13-14 ธ.ค.

 

  • แบงก์ชาติอังกฤษ (BoE) ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% สู่ระดับ 2.25% ตามคาด ในการประชุมเมื่อวันพฤหัสฯ (22 ก.ย.) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2551 และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่ 7 นับตั้งแต่เดือนธ.ค.2564 เป็นต้นมา โดย BoE ระบุว่า “พร้อมจะใช้มาตรการแบบจัดหนักหากจำเป็น” ในการสกัดเงินเฟ้อ แม้ว่าสภาวะเศรษฐกิจของอังกฤษจะก้าวเข้าใกล้ภาวะถดถอย (recession) แล้วก็ตาม ขณะที่ตลาดคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ก็เตรียมขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในวันที่ 23 ต.ค.นี้เช่นกัน

 

  • แบงก์ชาติสวิตเซอร์แลนด์ ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% วานนี้ (22 ก.ย.) สู่ระดับ 0.5% จากระดับ -0.25% โดยมีเป้าหมายที่จะรับมือกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น 3.5%  เมื่อเดือนส.ค. ที่ผ่านมาและนับเป็นระดับสูงสุดในรอบ 30 ปี

 

  • แบงก์ชาติฟิลิปปินส์ ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% สู่ระดับ 4.25% โดยเป็นการปรับขึ้นครั้งที่ 5 ในปีนี้ เพื่อบรรเทาแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังคงสูงเหนือกรอบเป้าหมาย 2-4% ท่ามกลางปัญหาค่าเงินเปโซทรุดตัวสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และเป็นผลจากการที่เฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย การประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบงก์ชาติฟิลิปปินส์สอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ 19 จาก 25 รายในผลสำรวจที่จัดทำโดยสำนักข่าวบลูมเบิร์ก

 

  • แบงก์ชาติอินโดนีเซีย ประกาศขึ้นดอกเบี้ย 0.50% วานนี้ (22 ก.ย.) ซึ่งสูงกว่าที่คาด เป้าหมายเพื่อสกัดเงินเฟ้อและสร้างเสถียรภาพให้กับค่าเงินรูเปียห์ นอกจากนี้ ธนาคารกลางอินโดนีเซียยังมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรโดยมีสัญญาขายคืน (reverse repurchase rate) ระยะเวลา 7 วันในอัตรา 0.50% สู่ระดับ 4.25% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2561 ทั้งนี้ แม้ค่าเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซียค่อนข้างยืดหยุ่นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน แต่การอ่อนค่าลงของเงินรูเปียห์หลังเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ก็ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อจากการนำเข้าสินค้า ในช่วงที่ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอยู่แล้วจากการชะลอการจ่ายเงินอุดหนุนเชื้อเพลิงบางส่วนของภาครัฐ