ค่าเงินบาทวันนี้เปิดตลาด “แข็งค่า” ที่ระดับ 36.72 บาทต่อดอลลาร์

05 กันยายน 2565

เงินบาทอาจผันผวนในฝั่งอ่อนค่าได้บ้าง ตามภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด อาจส่งสัญญาณกลับตัว แข็งค่าขึ้นได้จากสัญญาณเชิงเทคนิคัล

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  36.72 บาทต่อดอลลาร์“แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย”จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 36.74 บาทต่อดอลลาร์-ศูนย์วิจัยกสิกรไทยแนะติดตามทิศทางเงินหยวน หลังเมื่อวานนี้ธนาคารกลางจีนประกาศลดสัดส่วนการกันสำรองสกุลเงินตราต่างประเทศที่สถาบันการเงินต้องดำรงไว้ลง เพื่อชะลอการอ่อนค่าของเงินเหยวน

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์   นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ความกังวลเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย มาตรการ Lockdown ในจีน และวิกฤตพลังงานในฝั่งยุโรป กดดันให้ผู้เล่นในตลาดยังคงปิดรับความเสี่ยง

 

ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ตลาดจะรอลุ้นผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) รวมถึง ถ้อยแถลงของประธานเฟดและบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลัก

 

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

 

ฝั่งสหรัฐฯ – ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของประธานเฟดและบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสหรัฐฯ เพื่อประเมินแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งล่าสุด ข้อมูลจาก CME FedWatch Tool ชี้ว่า ตลาดมองเฟดมีโอกาส 57% ที่จะเร่งขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในเดือนกันยายน

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจนั้น ตลาดประเมินว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) ในเดือนสิงหาคม อาจปรับตัวลงสู่ระดับ 55.4 จุด (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว) สะท้อนว่า ภาคการบริการสหรัฐฯ ขยายตัวในอัตราชะลอลง โดยส่วนหนึ่งอาจมาจากพฤติกรรมของชาวอเมริกันที่เริ่มระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น รวมถึงแนวโน้มการชะลอตัวลงของตลาดบ้านสหรัฐฯ ที่เผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของอัตราดอกเบี้ยบ้าน ตามการเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟด

 

ฝั่งยุโรป – ไฮไลท์สำคัญในสัปดาห์นี้ จะอยู่ที่ผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งตลาดคาดว่า อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นและอยู่ในระดับสูงจะหนุนให้ ECB ตัดสินใจเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (Deposit Facility Rate) +0.75% สู่ระดับ 0.75%

 

ทั้งนี้ ตลาดจะรอจับตาการปรับคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อใหม่ของ ECB ท่ามกลางความกังวลว่า เศรษฐกิจยุโรปอาจชะลอตัวลงหนักและเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ หากเผชิญกับวิกฤตพลังงานในช่วงฤดูหนาว

 

ทั้งนี้ ตลาดจะรอติดตามประเด็นการเมืองของอังกฤษ หลังพรรคอนุรักษ์นิยม (Conservative Party) จะประกาศผลการเลือกผู้นำพรรคคนใหม่ ซึ่งจะขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนนาย Boris Johnson โดยมีความเป็นไปได้ว่า นายกฯ อังกฤษคนใหม่อาจเป็น นาย Rishi Sunak อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานในตลาดการเงินทั้ง Investment Bank และ Hedge Fund

 

ฝั่งเอเชีย – ตลาดมองว่า แนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกอาจสะท้อนผ่านยอดการส่งออกของจีน (Exports) ในเดือนสิงหาคม ที่จะโตราว +12%y/y ลดลงจาก +18% ในเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ ยอดการนำเข้า (Imports) อาจขยายตัวเล็กน้อย +1.1%y/y สะท้อนภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนเช่นกัน ทำให้ธนาคารกลางจีน (PBOC) อาจจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเพื่อช่วยประคองเศรษฐกิจ

 

อย่างไรก็ดี ตลาดมองว่า ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) รวมถึง ธนาคารกลางมาเลเซีย (BNM) อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อสู่ระดับ 2.35% (ขึ้น 0.50%) และ 2.25% (ขึ้น 0.25%) ตามลำดับ หลังเงินเฟ้อในทั้งสองประเทศอยู่ในระดับสูง อีกทั้งเศรษฐกิจได้ฟื้นตัวดีขึ้น รับมือกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้

 

ฝั่งไทย – เราคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ในเดือนสิงหาคมอาจเร่งขึ้นเล็กน้อย +0.1% จากเดือนก่อนหน้า สู่ระดับ 7.92% โดยปัจจัยหนุนยังคงเป็นภาพการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจที่หนุนให้ราคาสินค้าและบริการโดยรวม ยกเว้นราคาสินค้าพลังงานปรับตัวขึ้นต่อได้

 

ส่วนการปรับตัวลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจะเป็นปัจจัยที่กดดันอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ทั้งนี้ เราคงมองว่า อัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง (แต่ไม่สูงเกินคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยไปมาก) และการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จะหนุนให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมวันที่ 28 กันยายนได้

 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจผันผวนในฝั่งอ่อนค่าได้บ้าง ตามภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด อนึ่ง เงินบาทอาจส่งสัญญาณกลับตัว แข็งค่าขึ้นได้จากสัญญาณเชิงเทคนิคัล “Bearish Divergence” ของ RSI ที่เริ่มก่อตัวขึ้น ทั้งนี้ควรติดตามทิศทางฟันด์โฟลว์จากนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงทิศทางราคาทองคำ (ล่าสุด ราคาทองคำเคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงินบาทราว 62%)

 

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เงินดอลลาร์อาจผันผวน “Sideways”โดยปัจจัยหนุนยังคงเป็นความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนของเงินดอลลาร์ในช่วงตลาดรับรู้ผลการประชุม ECB โดยหาก ECB เร่งขึ้นดอกเบี้ยและส่งสัญญาณเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง อาจช่วยพยุงค่าเงินยูโรและกดดันเงินดอลลาร์

 

เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

 

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 36.35-36.95 บาท/ดอลลาร์

 

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.65-36.85 บาท/ดอลลาร์

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับประมาณ 36.75-36.78 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ อ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดปลายสัปดาห์ก่อนที่ 36.71 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงตามทิศทางสกุลเงินเอเชีย และเงินหยวน ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีปัจจัยบวกจากข้อมูลตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งของสหรัฐฯ ซึ่งสนับสนุนแนวโน้มการคุมเข้มนโยบายการเงินของเฟด

 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 36.60-36.85 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ กระแสเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ค่าเงินหยวน อัตราเงินเฟ้อเดือนส.ค. ของไทย และ PMI ภาคบริการเดือนส.ค. ของจีน ยูโรโซน และอังกฤษ
 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับ 36.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 36.55 บาทต่อดอลลาร์ฯ เงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับการฟื้นตัวกลับมาบางส่วนของสกุลเงินเอเชีย ขณะที่กรอบการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ฯ เริ่มจำกัดลงตามแรงขายทำกำไร เนื่องจากนักลงทุนรอปัจจัยใหม่ๆ มากระตุ้น หลังจากตลาดการเงินสหรัฐฯ หยุดทำการเมื่อวานนี้เนื่องในวันแรงงาน

 

อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามทิศทางเงินหยวน หลังแรงกดดันด้านอ่อนค่าของเงินหยวนอาจคลายตัวลง หลังเมื่อวานนี้ธนาคารกลางจีนประกาศลดสัดส่วนการกันสำรองสกุลเงินตราต่างประเทศที่สถาบันการเงินต้องดำรงไว้ลง เพื่อชะลอการอ่อนค่าของเงินเหยวน

 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 36.35-36.55 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ กระแสเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ค่าเงินหยวน ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางออสเตรเลีย และดัชนี PMI/ISM ภาคบริการเดือนส.ค. ของสหรัฐฯ