ไมโคร ลิสซิ่ง ชี้เศรษฐกิจชะลอตัว ดันยอดคืนรถพุ่ง

26 ส.ค. 2565 | 04:41 น.

ไมโคร ลิสซิ่ง หรือ MICRO แท็กทีมรุกตลาด “เช่าซื้อขวัญใจสิบล้อ มอเตอร์ไซค์ จำนำเล่ม” พร้อมแตกไลน์ต่อยอดธุรกิจ ขยายฐานลูกค้าและผลิตภัณฑ์ใหม่ เผยสัญญาณเศรษฐกิจไม่ดี จากค่าครองชีพสูง เงินเฟ้อเพิ่ม ส่งผลลูกค้าคืนรถพุ่ง

หลังประกาศวิสัยทัศน์ผู้นำด้านสินเชื่อรถบรรทุกมือสองภายใต้คอนเซ็ป “ไมโครลิสซิ่ง ขวัญใจสิบล้อ” และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ภายใต้ชื่อบริษัท ไมโคร ลิสซิ่ง จำกัด(มหาชน)หรือ  “MICRO”  ไปเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2563 MICRO นับเป็น 1 ในหุ้นที่ร้อนแรงทีเดียว เพราะในเวลาไม่ถึงปี MICRO ถูกตลาดหลักทรัพย์กำกับซื้อขายด้วยบัญชี cash balance ถึง 2 ครั้ง

 

ขณะเดียวกัน MICRO ได้แตกไลน์ธุรกิจ โดยจัดตั้งบริษัท ไมโครพลัส ลิสซิ่ง จำกัด (M PLUS) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ จากนั้นพยายามสร้างระบบนิเวศต่อยอดธุรกิจ ขยายฐานลูกค้าและผลิตภัณฑ์ใหม่ ในเครือบริษัทด้วยบริการประกันวินาศภัยและประกันชีวิตผ่านบริษัท ไมโคร อินชัวร์โบรกเกอร์ (MIB) และยังอยู่ระหว่างยื่นขออนุญาตธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) เพื่อให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้บริษัท ไมโครฟิน

นายกานต์ดนัย ชลสุวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการด้านบัญชีและการเงินและเลขานุการบริษัท ไมโครลิซซิ่ง จำกัด มหาชน (MICRO)ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวทางและเป้าหมายของธุรกิจในกลุ่มนั้น ในส่วนของ MICRO ปีนี้ได้ปรับลดเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อ เหลือเพียง 2.6-2.8 พันล้านบาทจากเดิมที่ตั้งไว้ที่ 3-3.3 พันล้านบาท หลังจากครึ่งปีแรกได้ปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 1,300 ล้านบาท

 

นายกานต์ดนัย ชลสุวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการด้านบัญชีและการเงินและเลขานุการบริษัท ไมโครลิซซิ่ง จำกัด มหาชน (MICRO)

อย่างไรก็ตามคาดว่า ทั้งปีพอร์ตสินเชื่อคงค้างจะอยู่ที่ 4.9-5 พันล้านบาท เติบโต 30% จากปีที่แล้วอยู่ที่ 3.8 พันล้านบาท โดยบริษัทตั้งเป้าภายใน 3 ปีคือในปี 2568 จะเพิ่มพอร์ตคงค้างเป็นประมาณ 7-8 พันล้านบาท โดยจะขยายตลาดมากขึ้นในปีหน้า

 

“สัญญาณเศรษฐกิจไม่ค่อยดีตั้งแต่เดือนมีนาคม เพราะผลกระทบจากค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ส่งให้ลูกค้าคืนรถ 40 คันในเดือนมีนาคมและเพิ่มเป็น 70 คันในเดือนมิถุนายน เพราะเป็นช่วงโลว์ซีซันและเข้าสู่หน้าฝนด้วย เทียบกับปี 2562 ที่เศรษฐกิจดี มียอดคืนรถีเพียง 20 คัน แต่ข้อดีเรามีหลักประกันคุ้มและเป็นรถเชิงพาณิชย์ที่ฟ้องเรียกหนี้ส่วนขาดได้ แต่ส่วนใหญ่มักเจรจาตกลงกันได้” นายกานต์ดนัยกล่าว

 

สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ขณะนี้มีประมาณ 4.6% ของสินเชื่อรวม คิดเป็นมูลค่า 200 ล้านบาท โดยทั้งปีพยายามจะกดไม่ให้เกิน 5% ส่วนแนวทางทำธุรกิจจะเน้นทำตลาดผ่านดีลเลอร์/เต้นท์รถมือสองที่เป็นพันธมิตรหลัก 

ไมโคร ลิสซิ่ง ชี้เศรษฐกิจชะลอตัว ดันยอดคืนรถพุ่ง

ปัจจุบันดีลเลอร์ที่มียอดส่งลูกค้าสม่ำเสมอ (Active) ประมาณ 200 รายจาก 300 รายและสาขา 25 แห่ง ซึ่งปีนี้เปิดไปแล้ว 6 สาขาจาก ตั้งเป้าที่จะเปิดเพิ่ม 6-8 แห่ง โดยแต่ละสาขาต้องใช้เวลา 1-2 ปีกว่าจะถึงจุดคุ้มทุน

 

ขณะที่กลุ่มลูค้าบริษัท จะเน้นไปที่ 3 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มขนส่งทั่วไปสัดส่วน 50%, กลุ่มก่อสร้าง 30% และกลุ่มเกษตร 15% โดยกลุ่มก่อสร้างและกลุ่มเกษตรนั้น ผลตอบแทนอยู่ในระดับสูง ที่สำคัญจะเน้นบุคคลค้ำประกัน 100%

ด้านแหล่งทุนนั้น ขณะนี้้มีหุ้นกู้วงเงิน 1,800 ล้านบาท ต้นทุนเฉลี่ย 5.5-5.7% ส่วนเงินกู้ธนาคารคิดดอกเบี้ยประมาณ 4% แต่จะมีต้นทุนแฝงจากที่ธนาคารเรียกหลักทรัพย์ค้ำประกันเช่น บัญชีเงินฝาก ต้นทุนจึงใกล้เคียงกับการออกหุ้นกู้ โดยมีวงเงินกู้ 2,000 ล้านบาทกับธนาคาร แบ่งเป็นตั๋วสัญาใช้เงิน(P/N) 700 ล้านบาทและสินเชื่อระยะยาวอีก 1,300 ล้านบาท

 

นอกจากนั้นบริษัทยังมีแผนระดมทุนในเดือนตุลาคมอีก 500 ล้านบาทพร้อม Greenshoe Optionอีก 500 ล้านบาท เพื่อลดอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้าคาดว่า จะอยู่ที่ประมาณ 5-7% ต่อปี

 

สำหรับบริษัทย่อย M PLUS นั้นนายกานต์ดนัยกล่าวว่า ไตรมาส2 ปีนี้เป็นปีแรกที่ M PLUS เริ่มปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ โดยใช้พื้นที่เดิมที่ทับซ้อนกับ MICRO 8 สาขาก่อน เพราะตามเป้าหมายเงินทุนแค่ 400 ล้านบาท วงเงินเฉลี่ย 6.7 หมื่นบาทต่อคัน ซึ่ง 2 เดือน(มิถุนายน-กรกฎาคม) ปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 70-80 ล้านบาท คาดว่าเดือนสิงหาคมจะปล่อยได้ 90 ล้านบาท

 

โดยช่วงแรกเน้นคุณภาพลูกค้าและทำตลาดผ่านดีลเลอร์หลัก โดยจากที่ปล่อยไป 80 ล้านบาทมียอดปฎิเสธหรือรีเจ็ค 30% ซึ่งสูงกว่าระบบอยู่ที่ 10% ส่วนอัตราดอกเบี้ยคิดที่ 24-25%ต่อปี ขณะที่อื่นจะคิดเต็มเพดานอัตรา 36% ต่อปี

 

“เรากำลังหาแหล่งเงินกู้และหาผู้ลงทุน ซึ่งกำลังคุยกับแบงก์และอาจจะขายหุ้นออกบางส่วน โดยต้องการเงินทุนอีก 800 ล้านบาท ซึ่งรวมเงินทุนประมาณ 1,200 ล้านบาทจะใช้ได้ไม่เกินเดือนกันยายน 2566 และเรามองเป้าหมายไว้สูงภายใน 3ปีคือ ปี 2568 พอร์ตคงค้างน่าจะแตะกว่า 2,000 ล้านบาท ก็จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์” นายกานต์ดนัย กล่าว

 

สำหรับ M FINN คาดว่า จะได้รับการอนุมัติใบอนุญาตจากธปท.ในไตรมาส 4 ปีนี้ หากนับจาก 60 วันทำการ โดยบริษัทได้ยื่นคำขอไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งหากธปท.อนุญาต บริษัทจะเริ่มทำตลาดจำนำเล่มก่อน

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,812 วันที่ 25 - 27 สิงหาคม พ.ศ. 2565