ธปท.จับตา “ภาคท่องเที่ยว”ชี้ทิศทางเศรษฐกิจไทยปี2565

25 ส.ค. 2565 | 01:48 น.

แบงก์ชาติ เผยอยู่ระหว่างทบทวนตัวเลขประมาณการจีดีพีปี65 จับตาปัจจัยหนุนและปัจจัยเสี่ยงหนึ่งเดียว “ภาคท่องเที่ยว” ย้ำไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ยแรงห่วงหนี้ครัวเรือน เพิ่มขึ้น 30%ในช่วง 10 ปี

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.อยู่ระหว่างการทบทวนประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ของปี 2565 จากเดิมประเมินจีดีพีไว้ที่ 3.3%ในปีนี้และ 4.3%ในปี2566

 

มองว่า ภาคการท่องเที่ยวมีโอกาสจะอัพไซซ์ได้ โดยคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาเกิน 8ล้านคนจากเดิมคาดไว้ที่ 6ล้านคน ซึ่ง 7เดือนที่ผ่านมามีเข้ามาแล้ว 3.2ล้านคน  เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีสัดส่วนรายได้ประมาณ 12%ของจีดีพี  และคิดเป็น 20% ของการจ้างงาน ในระยะข้างหน้าภาคท่องเที่ยวจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย

ทั้งนี้เนื่องจากตัวเลขของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.หรือสภาพัฒนฯ) ไตรมาสที่ 2/65 จีดีพีเติบโตได้ที่ 2.5% ซึ่งต่ำกว่าคาด   แต่หากดูไส้การบริโภคยังขยายตัวค่อนข้างดีโดยเติบโตถึง 6.9% สะท้อนการฟื้นตัวจากภายในประเทศ โดยรายได้ภาคประชาขนขยายตัวดีเป็นตัวเลข 2หลัก ทั้งภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร

 

“ปัจจัยบวกและปัจจัยเสี่ยงอยู่ที่ภาคท่องเที่ยวตัวเดียว แต่ยังมองว่า ยังมีโอกาสจะอัพไซซ์ในภาคท่องเที่ยวได้เกิน 8ล้านคนจากเดิมอง 6ล้านคนโดยครึ่งปีมีนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้ว 3.2ล้านคนจึงมองตัวเลขจีดีพีปีนี้จะอยู่ประมาณ 3%และปีหน้าประมาณ 4.3% ส่วนความเสี่ยงจากการท่องเที่ยวขึ้นอยู่กับปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และโอกาสจะกลายพันธุ์ของโควิด”   

ต่อข้อถามหนี้ภาคครัวเรือนนั้น  ผู้ว่าการธปท. ยอมรับว่าเป็นประเด็นที่เป็นห่วงและมีการพูดถึงมาตลอด  เพราะช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หนี้ครัวเรือนมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 30% ของจีดีพี และเฉพาะช่วงโควิด-19 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น 10%  ดังนั้นการแก้ปัญหาของหนี้ครัวเรือน จึงต้องใช้เวลา ไม่สามารถทำได้เร็ว เพราะการจะแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะต้องทำให้รายได้ของคนเพิ่มขึ้น โดยทำให้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้อย่างราบรื่น และดูแลเงินเฟ้อ เพื่อไม่ให้กระต่อค่าครองชีพของครัวเรือน

          โดยเฉพาะในบริบทของกลุ่มเปราะบางที่ฟื้นตัวช้า รายได้ต่ำ กลุ่มที่ไม่มีหลักประกัน เช่น สินเชื่อบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิต ยังคงได้รับผลกระทบและการดูแล ซึ่งสะท้อนในมุมของลูกหนี้ที่ยังลำบาก แต่ไม่ได้กระทบต่องบดุล ของธนาคาร  ปัจจุบัน ธปท.จึงมีมาตรการต่างๆ มารองรับลูกหนี้ สิ่งสำคัญอยู่ที่จะต้องทำให้เกิดผลในทางปฎิบัติ รวมทั้งกำหนดจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ในวันที่ 26ก.ย.2565

          ต่อประเด็นค่าเงินบาทนั้น ยอมรับว่าตอนนี้มีความผันผวนค่อนข้างสูงจริง แต่เชื่อว่าหลังจากเฟดส่งสัญญาณชัดเจนความผันผวนจะเริ่มลดลง และหากดูการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทและสกุลเงินในภูมิภาคจะเปลี่ยนแปลงไป ขณะที่สัญญาณการเก็งกำไร หากดูกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) นับตั้งแต่ต้นปจนถึงปัจจุบันพบว่าเป็นการไหลเข้าสุทธิราว 4.8 หมื่นล้านบาท  

 

“ ความผันผวนของเงินบาทนั้น เป็นสิ่งที่ธปท.ไม่อยากเห็น  แต่เงินบาทที่กลับมาอ่อนค่านั้น ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากดอลลาร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่คุมไม่ได้ คงต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของตลาด ส่วนผลต่อภาคส่งออกอาจถูกกระทบจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า”

 

ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ดอกเบี้ยนโยบายของไทยตอนนี้ถือว่ากำลังกลับสู่ภาวะปกติ แต่ด้วยบริบทเศรษฐกิจที่เพิ่งฟื้น และยังไม่กลับไปสู่ระดับก่อนโควิด-19 อีกทั้งการฟื้นตัวยังไม่เท่าเทียม บวกกับครัวเรือนยังมีรายได้ต่ำ เอสเอ็มอียังไม่ฟื้นตัว เหล่านี้จึงทำให้การส่งผ่านดอกเบี้ยสู่ระบบเศรษฐกิจต้องใช้เวลาและไม่แรง  ดังนั้นการปรับดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป

 

อย่างไรก็ตาม การทำนโยบายการเงินจึงต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป โจทย์ของธปท.ต้องการให้เป็น Smooth Takeoff  เพื่อให้กลไกของระบบการเงินทำงานใกล้เคียงปกติและกลไกการปล่อยสินเชื่อเกิดความต่อเนื่อง  หากดูการเติบโตสินเชื่อที่ผ่านมายังอยู่ในระดับสูง ทั้งเทียบกับระดับก่อนโควิด-19 และเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน  แต่สินเชื่อยังไม่ไปในจุดที่ต้องการจะเห็น   ทั้งนี้หากจำเป็นก็สามารถต่ออายุสินเชื่อฟื้นฟู ที่จะหมดเม.ย. 2566