“อาคม” กำชับ 17 รัฐวิสาหกิจเร่งแก้ปัญหาขาดทุนสะสม

22 ส.ค. 2565 | 04:44 น.

“อาคม” มอบนโยบาย 52 ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ กำชับเร่งเบิกจ่ายงบลงทุน หนุนจีดีพีปี 65 โต 3% - 3.5% พร้อมสั่ง 17 รัฐวิสาหกิจ เร่งแก้ปัญหาขาดทุนสะสม

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานสัมมนาผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ โดยได้ย้ำให้รัฐวิสาหกิจเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะงบลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่ง ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 65 ในภาพรวมพบว่ารัฐวิสาหกิจทั้ง 52 แห่ง มีการเบิกจ่ายงบลงทุนแล้วประมาณ 60% ของงบลงทุนรวม 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งตามเป้าหมายในเอกสารงบประมาณ กำหนดไว้ที่ 95%

ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจทั้ง 52 แห่ง มีสินทรัพย์รวมประมาณ 14.7 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่ามีขนาดใหญ่ เมื่อเทียบกับขนาดของ GDP ในปัจจุบันที่มีมูลค่าประมาณ 17.6 ล้านล้านบาท ดังนั้น รัฐวิสาหกิจถือว่ามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

 

จึงจำเป็นต้องเร่งเบิกจ่ายงบลงทุน โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญกับประเทศ  รวมทั้งขอให้รัฐวิสาหกิจที่ยังมีผลขาดทุนจำนวน 17 แห่งเร่งแก้ไขปัญหาการขาดทุนด้วย โดยเฉพาะในหน่วยงานที่ขาดทุนต่อเนื่องมาหลายปี

“สำหรับแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจระหว่างปี 66-70 นั้น เป็นแผนฯ ในภาพรวม แต่มีความชัดเจนในแง่ของเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้เศรษฐกิจไทยอยู่ระหว่างฟื้นตัว แม้จะฟื้นตัวแบบช้าๆ แต่ต้องการความต่อเนื่อง โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ จะขยายตัวได้ 3% - 3.5% ดังนั้น จึงฝากไปยังรัฐวิสาหกิจการลงทุน โดยเฉพาะโครงการลงทุนที่สำคัญของประเทศ” นายอาคม กล่าว

 

นายอาคม ยังกล่าวถึงทิศทาง ของรัฐวิสาหกิจ ใน 4 ประเด็น คือ 1.ให้รัฐวิสาหกิจปรับตัวด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ 2.การดูแลสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ปตท. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าฝ่ายผลิต และการไฟฟ้านครหลวง ในการดูแลราคาพลังงาน เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน และสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า

 

3.การส่งเสริมด้านสุขภาพ ความเป็นอยู่โดยเฉพาะในสังคมผู้สูงอายุ และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และ 4.ความมั่นคงทางอาหาร โดยรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแล พัฒนาและหาโอกาสใหม่ๆ

 

สำหรับความคาดหวังต่อรัฐวิสาหกิจนั้น ได้ฝากไว้ 5 เรื่อง ได้แก่ 1.เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อลดค่าใช้จ่าย 2.ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ โดยนำการวิจัยและพัฒนาเข้ามาช่วย

 

3.เพิ่มคุณภาพมาตรการการให้บริการแก่ประชาชน 4.สร้างความเท่าเทียมในการให้บริการแก่ประชาชน และ 5.บริหารความเสี่ยงด้านการเงิน โดยเฉพาะในองค์กรที่มีเงินกู้ ขอให้เร่งปรับโครงสร้างเพื่อลดหนี้ขององค์กร