ดอกเบี้ยกู้ ออมทรัพย์ จ่อขยับขึ้น ต.ค.นี้

18 ส.ค. 2565 | 11:14 น.

แบงก์แห่ขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ล็อกต้นทุนเงินฝากยาว ป้องกันความเสี่ยง ก่อนดอกเบี้ยนโยบายขึ้นต่อเนื่องอีก จับตาเดือนตุลาคม “เงินกู้-เงินฝากออมทรัพย์” อาจต้องขยับตาม

ความเคลื่อนไหวในตลาดการเงิน หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25%ทั้งสมาคมธนาคารไทย และ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ (สงธ.) ออกมาประสานเสียงประกาศตรึงดอกเบี้ยเงินกู้ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อสนองนโยบายรัฐประคับประคองลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ในทางกลับกันหลายแห่งประกาศขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากประจำแทน

 

สอดคล้องกับศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่คาดว่า จะเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำก่อน หรือปรับขึ้นหลังจากที่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไม่นาน โดยเฉพาะเงินฝากประจำในระบบธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจากข้อมูลเดือนมิถุนายนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า มีสัดส่วน 25% ของเงินฝากทั้งหมด โดยธนาคารจะทยอยรับรู้ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น หลังเงินฝากประจำล็อตเดิมครบกำหนด (คือ เงินฝากประจำ 3 เดือน 6 เดือนและ 12 เดือนข้างหน้า)

ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้หรือสัดส่วนสินเชื่อประมาณ 55-70% ของสินเชื่อรวมทั้งหมด จะอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยลอยตัว โดยขึ้นกับโครงสร้างของพอร์ตสินเชื่อแต่ละธนาคาร ซึ่งจะได้รับประโยชน์ทันทีในไตรมาสที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ แต่สภาพคล่องส่วนเกินในระบบธนาคารพาณิชย์เดือนมิถุนายน 2565 ที่มีถึง 2.14 ล้านล้านบาทและสินทรัพย์สภาพคล่องคงค้างอีก 4.68 ล้านล้านบาท ทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องแข่งระดมเงินฝากออมทรัพย์

ดอกเบี้ยกู้ ออมทรัพย์ จ่อขยับขึ้น ต.ค.นี้

อย่างไรก็ตาม ตลาดประเมินว่า แนวโน้มกนง.จะมีการปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 1.50% ต่อปี เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.00% ในปี 2566 โดยคาดว่า จะมีการปรับขึ้นในอัตรา 0.75% ในปีนี้ และจะปรับเพิ่มอีก 0.75% ในปีหน้า โดยที่ตลาดจับตาการประชุมกนง.ที่เหลืออีก 2 ครั้งในปีนี้คือ วันที่ 28 กันยายนและ 30 พฤศจิกายน หลังจากได้ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นครั้งแรกในรอบ 4 ปีที่อัตรา 0.25% เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยปรับขึ้นจาก 0.50% ต่อปีเป็น 0.75% ต่อปี

นายนริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์ธนาคาร ทหารไทยธนชาต (ttb Analytics)เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สถานการณ์ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากประจำของระบบปัจจุบันนั้น เป็นการล็อคต้นทุนเงินฝากระยะยาว เพื่อป้องกันความเสี่ยงและตอบโจทย์รายย่อยที่แสวงหาผลตอบแทนในส่วนของเงินฝากออมทรัพย์ เนื่องจาก ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี ปรับลดลงตามพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ แต่เครดิตสเปรดหุ้นกู้ AAA ปรับขึ้นประมาณ 0.30%

นายนริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์ธนาคาร ทหารไทยธนชาต

อย่างไรก็ตาม การขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากประจำขณะนี้ เป็นการปรับโครงสร้างงบดุลของเงินฝากเท่านั้น ไม่ใช่การแข่งขันระดมเงินฝาก เพราะตลาดมีสภาพคล่องอยู่ในระดับสูงและปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเห็นได้จากอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากลดลงจากเดิมที่ 97-98% มาอยู่ที่ 93% ขณะที่สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 2.4 ล้านล้านบาท

 

ส่วนแนวโน้มการส่งผ่านการปรับขึ้นดอกเบี้ยจากดอกเบี้ยนโยบาย ฟากธนาคารจะค่อยๆ ทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปโดยอัตราการปรับไม่ใช่สัดส่วน 1 ต่อ 1 แต่ปลายปี หากดอกเบี้ยนโยบายปรับเป็น 1.25% อาจจะเห็นธนาคารปรับขึ้นดอกเบี้ยในระบบบ้าง

 

นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทยกล่าวว่า ภาพรวมธนาคารพาณิชย์เผชิญภาวะต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นแล้วจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของกนง. ทำให้ธนาคารบางแห่งเริ่มขยับขึ้นดอกเบี้ยบัญชีเงินฝากประจำบ้างแล้ว แต่ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ มีต้นทุนเงินฝากอยู่ในระดับต่ำ เพราะสัดส่วน CASA มากกว่า 50% จึงยังไม่จำเป็นต้องแข่งขันขึ้นดอกเบี้ยฝากประจำ แต่แนวโน้มดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์และดอกเบี้ยเงินกู้ตระกูล M ทั้ง MLR, MOR, MRR จะมีต้นทุนตามดอกเบี้ยนโยบาย

นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย

“ทั้งปีนี้ตลาดคาดว่า กนง.จะปรับดอกเบี้ยนโยบายเป็น 1.25% ต่อปีจากเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 0.75% ต่อปี โดยการประชุม 28 กันยายนจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก ซึ่งจะเห็นธนาคารเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้และออมทรัพย์ในเดือนตุลาคมบ้าง โดยที่กนง.ยังคงขึ้นดอกเบี้ยในเดือนพฤศจิกายน” นายเอกสิทธิ์กล่าว

 

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส.ยังมีสภาพคล่องส่วนเกินอยู่และเร็วๆ นี้จะได้รับเงินงบประมาณคืนมาบางส่วน ซึ่งกำลังดูจำนวนตัวเลขสภาพคล่องโดยรวม ควบคู่กับติดตามสถานการณ์ 5 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่และสถาบันการเงินของรัฐจะปรับขึ้นดอกเบี้ยออมทรัพย์หรือเงินกู้หรือไม่ อย่างไร

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

“เราจะประเมินผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากประจำในระบบช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน จะทำให้เงินฝากไหลออกหรือไม่ แต่ธ.ก.ส.ยังคงมีแผนเดิมที่จะเปิดจองสลากออมทรัพย์ ธ.ก.ส.ชุดเกษตรมั่งคั่ง 7 วงเงิน 2.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งมาจากลูกค้างวดก่อนที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 22 กันยายน 65” นายธนารัตน์กล่าว

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,810 วันที่ 18 - 20 สิงหาคม พ.ศ. 2565