“กรุงไทย”ยัน ยังไม่มีนโยบายปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้

16 ส.ค. 2565 | 12:47 น.

“กรุงไทย” ประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อชะลอผลกระทบกลุ่มเปราะบางและเอสเอ็มอี พร้อมเดินหน้าดูแลช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่ม ผ่านมาตรการช่วยเหลือพิเศษ รับมือความท้าทายรอบด้าน ทั้งเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวไม่ทั่วถึง และค่าครองชีพที่สูงขึ้น

นายเอกชัย เตชะวิริยะกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความเสี่ยง ธนาคาร กรุงไทย จำกัด(มหาชน) หรือ KTB  เปิดเผยว่า  ธนาคารกรุงไทยตระหนักถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวแบบไม่ทั่วถึงในรูปแบบ The New K-Shaped Economy  รวมทั้งผลกระทบจากค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น จากราคาน้ำมันแพงและทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น จึงพร้อมเดินหน้าดูแลช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง

นายเอกชัย เตชะวิริยะกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความเสี่ยง ธนาคาร กรุงไทย จำกัด(มหาชน)

ตามแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมธนาคารไทย ที่ให้แนวทางการปรับนโยบายการเงินของไทยเข้าสู่ภาวะปกติในรูปแบบ Smooth Takeoff  จึงให้ความสำคัญกับการปรับอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป  เพื่อชะลอผลกระทบต่อลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง  กลุ่มที่รายได้ยังกลับมาไม่เต็มที่ และผู้ประกอบการรายย่อยหรือ SME ที่อยู่ระหว่างการฟื้นตัว ให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด  สามารถประคองตัวในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ไปได้  

ธนาคารพร้อมที่จะสนับสนุนการแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน และยังไม่มีนโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ พร้อมคงมาตรการช่วยเหลือพิเศษ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้า ผ่านมาตรการช่วยเหลือลูกค้าของธนาคาร ครอบคลุมทั้งการลดอัตราดอกเบี้ย ลดค่างวดการชำระหนี้แบบขั้นบันได พักชำระเงินต้นและชำระเฉพาะดอกเบี้ย

 

นอกจากนั้นยังเปลี่ยนประเภทหนี้จากวงเงินกู้หมุนเวียน เป็นวงเงินกู้แบบมีกำหนดระยะเวลา เพื่อให้ผ่อนสบายขึ้นหรือ มาตรการอื่นๆ เช่น การขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยการโอนทรัพย์ชำระหนี้ การแปลงหนี้เป็นทุน การเพิ่มสภาพคล่อง หรือ การขยายระยะเวลาผ่อนชำระ เป็นต้น ทั้งนี้  ธนาคารจะพิจารณาและเสนอแนวทาง การช่วยเหลือการปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้และความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละราย  เพื่อให้สามารถช่วยเหลือได้อย่างตรงจุด

“ธนาคารยืนหยัดดูแลช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ครอบคลุมทั้งมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วน  มาตรการช่วยเหลือเฉพาะและมาตรการแก้หนี้อย่างยั่งยืน  นอกจากนี้ ยังมีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมสำหรับลูกค้าธุรกิจ SME ทั้งโครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ลูกค้าธุรกิจที่มีเจ้าหนี้รายราย (Multi-Creditors) มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ เพื่อให้ความช่วยเหลือที่ตรงตามวัตถุประสงค์ของลูกค้า เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัว และติดปีกชีวิตคนไทย สู่ความยั่งยืนต่อไป”นายเอกชัยกล่าว