ค่าเงินบาทวันนี้เปิดตลาด “แข็งค่า” ที่ระดับ 35.35 บาทต่อดอลลาร์

11 ส.ค. 2565 | 00:10 น.

เงินบาทอาจมีแนวโน้มผันผวนและแข็งค่าขึ้นได้บ้าง โซนแนวรับแถว 35.20 บาทต่อดอลลาร์ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดที่หนุนการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.35 บาทต่อดอลลาร์“แข็งค่าขึ้น”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.56 บาทต่อดอลลาร์

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์   นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจมีแนวโน้มผันผวนและแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดที่หนุนการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ นอกจากนี้ เงินบาทอาจพอได้แรงหนุนจากโฟลว์ซื้อหุ้นของนักลงทุนต่างชาติเช่นกัน

อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทอาจไม่ได้แข็งค่าไปมากหลุดโซนแนวรับแถว 35.20 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากระดับดังกล่าวเริ่มเห็นบรรดาผู้นำเข้าทยอยเข้ามาซื้อเงินดอลลาร์มากขึ้น ส่วนนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาเก็งกำไรเงินบาทแข็งค่าในช่วงก่อนหน้า ก็เริ่มที่จะเข้ามาขายทำกำไรสถานะเก็งกำไรดังกล่าว

 

นอกจากนี้ ควรระมัดระวังความผันผวนที่อาจเพิ่มสูงขึ้นในฝั่งสินทรัพย์ EM Asia และอาจเป็นแรงกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าได้ หลังจากที่ผู้เล่นในตลาดบางส่วนเริ่มกลับมากังวลปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในจีนที่เริ่มส่งผลให้มีการทยอยใช้มาตรการ Lockdown ในบางพื้นที่ ซึ่งภาพดังกล่าวได้กดดันให้ตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงปรับตัวลงหนักในวันก่อนหน้า ส่วนเงินหยวน (CNY) ของจีนก็ปรับตัวอ่อนค่าลงบ้างเช่นกัน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.20-35.45 บาท/ดอลลาร์

 

ผู้เล่นในตลาดกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น (Risk-On) หลังจากที่เงินเฟ้อทั่วไป CPI ของสหรัฐฯ รวมถึงเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย 0.75% อย่างต่อเนื่องเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อ (ล่าสุดจาก CME FedWatch Tool

 

ตลาดประเมินโอกาสเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ราว 43% ลดลงจาก 68% ในวันก่อนหน้า) ซึ่งมุมมองดังกล่าวของผู้เล่นในตลาดได้หนุนการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth นำโดย Amazon +3.5%, Apple +2.6%, Alphabet (Google) +2.6% ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้นกว่า +2.89% ส่วนดัชนี S&P500 ก็ปิดตลาดกว่า +2.13%

 

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX600 ก็พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นกว่า +0.89% นำโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth เช่นเดียวกับในฝั่งสหรัฐฯ อาทิ Adyen +3.7%, ASML +2.6%, Hermes +2.4% อย่างไรก็ดี การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นยุโรปถูกกดดันโดยความผันผวนของราคาน้ำมันที่ส่งผลให้ หุ้นกลุ่มพลังงานต่างปรับตัวลดลง Equinor -2.8%, TotalEnergies -0.6%

 

ทางด้านตลาดบอนด์ แม้ว่าผู้เล่นในตลาดจะปรับลดความคาดหวังการเร่งขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ของเฟดลดลง ทว่าอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงจะยังคงหนุนโอกาสเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอยู่ ซึ่งแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด รวมถึงภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ผันผวนและแกว่งตัวใกล้ระดับ 2.79%

 

ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า จุดสูงสุดของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ นั้นได้ผ่านไปแล้วที่ระดับราว 3.50% โดยเรามองว่าแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ (รวมถึงความกังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัว) และปัญหาการเมืองสหรัฐฯ ในช่วงปลายปีจากการเลือกตั้งกลางเทอมจะเป็นปัจจัยหนุนให้ผู้เล่นในตลาดทยอยเพิ่มสถานะการถือครองพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 2.70% ได้ในช่วงสิ้นปี

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้ปรับตัวลดลงกว่า -0.9% สู่ระดับ 105.2 จุด ตามมุมมองของตลาดที่ปรับลดโอกาสเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย 0.75% นอกจากนี้ผู้เล่นบางส่วนยังได้ลดการถือครองเงินดอลลาร์ลงบ้าง ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด

 

อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในช่วงแรก จะช่วยหนุนให้ราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นใกล้แนวต้านระดับ 1,820 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทว่า ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดกลับส่งผลให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรออกมา กดดันให้ ราคาทองคำย่อตัวลงและแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,807 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ โฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ ดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงการซื้อ ขาย เมื่อคืนที่ผ่านมา

 

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ต้องจับตา คือ รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) โดยตลาดประเมินว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนสิงหาคม อาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 52.5 จุด ตามภาระค่าใช้จ่ายที่ลดลง หลังราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวลดลง อย่างไรก็ดี แนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

 

โดยเฉพาะในส่วนของการจ้างงาน อาจกดดันความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตได้ พร้อมกันนี้ ตลาดจะรอลุ้น รายงานเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลาง (U of Michigan 5-yr Inflation Expectations) โดยหากเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานปลาง ทรงตัว หรือ ปรับตัวลดลงต่ำกว่าระดับ 2.9% ที่รายงานก่อนหน้า ก็จะทำให้ตลาดยิ่งมองว่า ความกังวลต่อปัญหาเงินเฟ้อของเฟดอาจลดลง และเฟดอาจไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย 0.75% อย่างต่อเนื่อง

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าเงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับ 35.32-35.34 บาทต่อดอลลาร์ฯ (9.00 น.) หลังแข็งค่าไปที่ 35.23 (ระดับแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 1 เดือนครึ่ง) ในช่วงเช้าวันนี้ เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 35.57 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นเช่นเดียวกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค

 

ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงเทขาย หลังจากข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด (+8.5% YoY เดือนก.ค. เทียบกับตลาดคาดที่ 8.7%) ซึ่งสนับสนุนมุมมองที่ว่า อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ อาจผ่านพ้นจุดสูงสุดแล้ว ซึ่งก็จะช่วยลดความจำเป็นที่เฟดจะต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้า 

 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 35.20-35.45 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ  และสถานการณ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีนในประเด็นไต้หวัน ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ประกอบด้วย จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนก.ค.