ส่องวิกฤตราคาน้ำมันแพงและเงินเฟ้อขาขึ้น จากบทเรียนของประวัติศาสตร์

16 ก.ค. 2565 | 13:16 น.

ส่องวิกฤตราคาน้ำมันแพงและเงินเฟ้อขาขึ้น จากบทเรียนของประวัติศาสตร์และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก :คอลัมน์ ยังอีโคโนมิสต์ โดย พิมฉัตร เอกฉันท์ ผู้เชี่ยวชาญ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี

หากย้อนกลับไปในช่วงปลายของศตวรรษที่ 19  โลกเราเผชิญกับความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Conflict) อยู่บ่อยครั้ง และมีหลาย ๆ ครั้งที่นำไปสู่ชนวนเหตุให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด  ที่เห็นได้ชัดเป็นวิกฤตแรกคือ วิกฤตการณ์ Oil Crisis ปี1970 ซึ่งมีต้นตอจากการที่สหรัฐอเมริกา ยกเลิกระบบจัดการเงินแบบ Bretton Woods หรือ การยกเลิกการผูกเงินดอลลาร์สหรัฐไว้กับทองคำ และหันมาลอยตัวค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ในปี 1971

 

ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ที่ถือครองดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะจากผู้ที่ต้องค้าขายกับสหรัฐฯ โดยตรงอย่างกลุ่มประเทศสมาชิกองค์กรของประเทศผู้ส่งออกน้ำมันอาหรับ (OAPEC) ซึ่งสหรัฐฯ นำเข้าน้ำมันดิบเกือบ 60% ของปริมาณการนำเข้าทั้งหมด

อีกทั้งยังมีประเด็นที่สหรัฐฯให้การสนับสนุนทางการเงินแก่อิสราเอล ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งกับฝ่ายอาหรับ (รวมถึงชาติสมาชิก OAPEC) ในสงคราม Yom Kippur ปี 1973 ส่งผลให้ OAPEC ไม่พอใจสหรัฐฯเป็นอย่างมากและตอบโต้ด้วยการระงับการส่งออกน้ำมันดิบ (Oil Embargo) และทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งขึ้นถึง 4 เท่าภายในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งปี ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากชาติสมาชิก OAPEC บางส่วน จนกลายเป็นความตึงเครียดที่ยืดเยื้อกว่าทศวรรษ และเรียกได้ว่าหมดยุคของน้ำมันราคาถูกไปโดยปริยาย

 

วิกฤตครั้งต่อมาเกิดขึ้นในช่วงปี 2010 จากความต้องการน้ำมันดิบที่ยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่หลังเพิ่งผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลกไปเมื่อปี 2007-2008 อีกทั้งยังเห็นการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างครั้งใหญ่ของตลาดผู้ผลิตที่มาจากนอกกลุ่ม OPEC (Non-OPEC) ซึ่งก็หมายรวมถึงการดึงเอาน้ำมันดิบจากหินน้ำมัน (Shale oil) มาใช้ในเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ 

เรียกได้ว่าเขย่าบทบาทของ OPEC ในฐานะผู้ควบคุมกลไกตลาดน้ำมันดิบโลกอยู่ไม่น้อย ส่งผลให้ OPEC พร้อมใจกันลดกำลังการผลิต (OPEC Production Cut) จนกลายเป็น สงครามราคา (Price War) ระหว่าง OPEC และ Non-OPEC ซึ่งก็ทำให้ราคาน้ำมันดิบผันผวนอย่างหนักและพุ่งสูงเกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลอยู่ช่วงหนึ่ง

 

ล่าสุดความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนปี 2022 ที่มีชนวนเหตุจากการแย่งชิงอำนาจเชิงยุทธศาสตร์ รวมถึงข้อพิพาทเรื่องพรมแดนที่มีมาอย่างยาวนาน โดยท่าทีของผู้นำยูเครนที่แสดงเจตนารมณ์ขอเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ซึ่งมีสหรัฐฯ เป็นแกนนำ จนทำให้รัสเซียไม่พอใจและเข้าบุกรุกเมืองสำคัญของยูเครน เพื่อกดดันไม่ให้ยูเครนทำตามข้อเรียกร้องดังกล่าว

 

ทว่าความขัดแย้งกลับบานปลายเมื่อชาติตะวันตกหันมายกระดับมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อาทิ การปิดน่านฟ้ายุโรปห้ามสายการบินรัสเซียบินผ่าน การปิดกั้นการเข้าถึงระบบ SWIFT โดยเฉพาะการลด/สั่งห้ามนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย ซึ่งรัสเซียถือเป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบเป็นอันดับ 2 และ 3 ของโลก ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับ 130 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เช่นเดียวกับราคาก๊าซธรรมชาติ (Dutch TTF) ที่ทำสถิติสูงสุดตลอดกาล 

 

แม้นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักเคยประเมินว่า ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนจะสามารถยุติได้โดยเร็ว และส่งผลกระทบต่อโลกในวงจำกัด แต่กระนั้น วิกฤตครั้งนี้รุนแรงและยืดเยื้อมากขึ้น จนมีแนวโน้มเกิดเป็นวิกฤตเศรษฐกิจโลกระลอกใหม่ได้ จากราคาพลังงานที่ยังคงเป็นขาขึ้นอย่างต่อเนื่องและยาวนานกว่าที่ประเมินไว้

 

ทำให้การส่งผ่านต้นทุน (Cost Pass- through) แทรกซึมและกระจายไปยังสินค้าและบริการประเภทอื่น ๆ มากขึ้น ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และกดดันให้ธนาคารกลางทั่วโลกต้องหันมาขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจนทำให้ปีนี้ที่เคยคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้ดีหลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มควบคุมได้ ตอนนี้กลับคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอลง และหลายประเทศยังเสี่ยงที่จะเผชิญเศรษฐกิจถดถอยอีกด้วย

ส่องวิกฤตราคาน้ำมันแพงและเงินเฟ้อขาขึ้น จากบทเรียนของประวัติศาสตร์

หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมปัญหาภูมิรัฐศาสตร์รอบนี้ถึงมีโอกาสเป็นวิกฤตเศรษฐกิจโลกรอบใหม่?

  • ประการแรก เศรษฐกิจโลกมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น (Global Economic Linkage) แน่นอนว่า รัสเซียและยูเครนเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งนี้โดยตรง ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปก็โดนหางเลขไปด้วยจากการขาดแคลนพลังงานครั้งใหญ่ตามมาตรการคว่ำบาตรนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย

 

เนื่องจากยุโรปพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียค่อนข้างสูง  เช่น ก๊าซธรรมชาติ 41.1% และถ่านหินเพิ่มขึ้น 46.7% ส่งผลให้ต้นทุนราคาก๊าซหุงต้มเพิ่มขึ้นอย่างมาก และส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป และอาจลุกลามไปยังคู่ค้าหลักทั่วโลก เช่นเดียวกับการปรับขึ้นของราคาพลังงานเป็นระยะเวลานาน ก็เริ่มส่งผลให้ต้นทุนสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้นมากและกระจายเป็นวงกว้าง จนเรียกได้ว่าเป็นยุคของเงินเฟ้อขาขึ้นไปแล้วทั่วโลก

 

  • ประการที่สอง วิกฤตพลังงานซ้อนวิกฤตขาดแคลนอาหาร (Twin Crisis) นอกจากวิกฤตด้านพลังงานแล้ว การขนส่งสินค้าทางทะเลที่ยากลำบากจากผลพวงของมาตรการคว่ำบาตร ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อห่วงโซ่อุปทานสินค้าขั้นต้นและขั้นกลางที่สำคัญ  เช่น เคมีภัณฑ์ ปุ๋ย สินค้าโภคภัณฑ์ สินค้าเกษตร

 

อีกทั้งรัสเซียและยูเครนระงับการส่งออกสินค้าเกษตรที่ทั้งสองประเทศเป็นผู้ส่งออกหลักของโลก  ได้แก่ น้ำมันเมล็ดดอกทานตะวันที่มีสัดส่วนรวมกันสูงถึง 74% ของการค้าโลก ข้าวสาลี 34% และข้าวโพด 17% เป็นต้น เช่นเดียวกับหลายประเทศที่จำกัดการส่งออกสินค้าเกษตรอื่นๆ เพื่อรักษาความมั่นคงด้านอาหาร (Food Security) ภายในประเทศ เช่น ข้าว แป้ง ผักและผลไม้ ปาล์มน้ำมัน และเนื้อสัตว์

 

ส่งผลให้ราคาอาหารปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับดัชนีราคาอาหาร (Food Price Index) ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2022 ที่เร่งขึ้นถึง 23% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ปี 1990

 

  • ประการสุดท้าย มาตรการสกัดกั้นเงินเฟ้อแบบกว้าง แต่เศรษฐกิจกลับยังฟื้นตัวจำกัด โดยการเร่งขึ้นของเงินเฟ้อในครั้งนี้มาจากภาคอุปทานเป็นหลัก (Cost-push) ขณะที่มาตรการทางการเงินที่นำมาใช้ควบคุมเสถียรภาพด้านราคา ได้แก่ “การขึ้นดอกเบี้ย” กลับเป็นมาตรการทางการเงินแบบกว้าง (Broad-based) ที่หวังผลชะลอการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อที่มาจากภาคอุปสงค์ (Demand-pull)

 

ประกอบกับข้อจำกัดของมาตรการทางการคลังของแต่ละประเทศที่เริ่มหมดไป ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและกำลังซื้อในภาพรวม โดยเฉพาะภาคส่วนที่ยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ (Uneven Recovery) และหลงเหลือบาดแผลทางเศรษฐกิจจากวิกฤตครั้งก่อน

 

โดยสรุปแล้ว ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์แต่ละครั้งสร้างบทเรียนแก่ทั่วโลกไว้มากมาย โดยเฉพาะการตระหนักถึงความมั่นคงด้านพลังงานและอาหารอย่างยั่งยืน และถึงแม้ว่าประเด็นระหว่างรัสเซียและยูเครน ท้ายสุดแล้วจะค่อย ๆ คลี่คลายไปดังเช่นทุกครั้ง

 

 แต่ในระยะสั้นถึงปานกลาง เราอาจยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านจากการใช้พลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด ซึ่งจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมต้องรับมือกับต้นทุนที่เพิ่มสูงยาวนานขึ้น และจะยิ่งสั่นสะเทือนเงินในกระเป๋าของประชาชน ซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นโจทย์ท้าทายให้กับผู้กำหนดนโยบาย (Policy Maker) ทั่วโลกที่จะต้องเร่งแก้ไขท่ามกลางบริบททางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป